E-DUANG : แนวโน้ม “คสช.” จะถอยในเรื่อง “ร่างพรบ.สื่อฯ”

มีความเป็นไปได้ว่า “คสช.” จะยังไม่รีบผลักดัน “ร่างพรบ.สื่อฯ”ในอัตรา “เร่ง”

แนวโน้ม “ชะลอ” จะมีค่อนข้างสูง

ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะต้องการรักษาน้ำใจกับการเดินหน้ากระดานเรียงหนึ่งของ “องค์กรสื่อ”

ผนึกกำลังกันได้ถึง 30 องค์กร

แต่ปฏิกิริยาและความไม่พอใจจาก “องค์กรสื่อ”มิได้ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นปัจจัยชี้ขาด

หากแต่ส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมาจาก “ต่างประเทศ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คะแนนด้าน”ภาพลักษณ์”จาก “องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ”

ที่เน้นย้ำในเรื่อง “ความโปร่งใส” จาก “ประชามติ”

“คสช.”จึงมีความจำเป็นต้อง “ชะลอ” หรือทอดระยะการผลักดัน “ร่างพรบ.สื่อฯ”ออกไป

กระนั้น ก็เป็นการชะลอ”ระยะหนึ่ง”เท่านั้น

สภาพจากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คือ รากฐานสำคัญให้กับ “คสช.”

“คสช.”สัมผัสได้ในความเป็นจริงของความขัดแย้ง แตกแยกว่าดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในสังคมไทย

มิได้มีแต่ระหว่าง “นักการเมือง”

อันเห็นได้จากการสัประยุทธ์หน้าดำคร่ำเครียดระหว่างพรรค ประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

หากแต่ภายใน “สื่อ” ความขัดแย้ง แตกแยกก็ซึมลึก

การจุดประกายก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็มาจากสื่อใหญ่ระดับที่เรียกว่า “ไทคูน”

ยิ่งก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งเป่า”นกหวีด”

หลังรัฐประหารทุกครั้งบรรดา”ผู้นำสื่อ”ก็ตบเท้าเข้ารับตำแหน่ง “ลากตั้ง”กันครบครัน

รับ”ผลประโยชน์”กันถ้วนหน้า

ในแวดวง “สื่อ” จึงมิได้ถูกกระแสของ”เทคโนโลยี”ในยุคดิจิตัลโหดซัดอย่างรุนแรง

หากแต่”ภายใน”ของคนทำงาน”สื่อ”ก็ทำลายตัวเอง

ที่มีการเอ่ยนามของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ประสานกับนามของ อิศรา อมันตกุล

ก็เสมอเป็นเพียง “น้ำยาบ้วนปาก”

สภาพความเป็นจริงหากเป็นที่รับรู้กันอย่างดีภายในแวดวงคนทำสื่อด้วยกัน

แล้วเหตุใด “คสช.”จะไม่รู้

ในเมื่อการบ่อนทำลายความแข็งแกร่งของ”สื่อ”มีมาตั้งแต่ยุค “คมช.”กระทั่งต่อเนื่องมายังยุค”คสช.”

การถอย”ร่างพรบ.สื่อฯ”จึงเสมอเป็นเพียง”ยุทธวิธี”

ในเมื่อยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงก็คือ การเข้าไปควบคุม กำกับและบงการอันเป็นไปตามแนว”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”