สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูย้ำทำด้วยใจ นักธุรกิจอาสาช่วย (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ก่อนเวทีแนะนำตัวและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต แนวคิด การปฏิบัติตนและปฏิบัติงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 3 คนของกัมพูชาจะเริ่มขึ้น ณ ห้องประชุมสถานเอกอัคราชทูตไทย ทั้งสามคนก้าวเข้ามาสวัสดีทักทาย ทุกคนในห้องยกมือไหว้ตอบ

ครูโตช บันโดล ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ปี 2558 ครูดี โสพร ปี 2560 และครูลอย วิรัก มูลนิธิเพิ่งประกาศผลเป็นครูรางวัลคนล่าสุด ปี 2562

ครูโตชมาจากโรงเรียนวัดบ่อ จ.เสียมเรียบ โรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนถึง 6,444 คน เฉพาะห้องที่ครูรับผิดชอบมีนักเรียน 70 คน

หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล 4 ปีที่ผ่านมาพยายามพัฒนางานเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับครูในโรงเรียน ครูในเสียมเรียบ และจังหวัดอื่นๆ

ได้รับกำลังใจจากกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา ปี 2017 เป็นครูนิเทศตัวอย่างของประเทศ ช่วยเหลือเด็กยากจน ขาดแคลนเรื่อยๆ

และยังคงศึกษาเรียนรู้พัฒนาตนเองต่อไป

 

ครูดี โสพร จากโรงเรียนประถมจังหวัดกัมปงชนัง มีนักเรียน 709 คน หลังได้รับคัดเลือกเป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้รับเชิญไปออกรายการทีวี รายการ English Time ได้รับรางวัลจากกระทรวง ร่วม Work Shop แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครู จังหวัดกัมปอต จังหวัดกัมปงชนัง เพื่อช่วยสร้างครู
“วันหนึ่งพวกคุณจะเป็นอย่างฉัน จะได้รางวัล” เธอเน้นเสียงสูง ถึงคำพูดที่คอยให้กำลังเพื่อนครูบ่อยๆ

“แม้โรงเรียนอยู่ห่างไกล การพัฒนาการสอน สามารถใช้เทคโนโลยี เรียนผ่านแอพพลิเคชั่น ไลน์ อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ได้รับเงินรางวัลมาดิฉันใช้ไปเพื่อโรงเรียน ช่วยเพื่อนครู นักเรียน และดูแลคนอาวุโส”

“ครูได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง ไม่เฉพาะแต่ด้านความรู้ แต่รวมถึงด้านคุณธรรม ต้องทำด้วยใจ ให้การศึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ขอบคุณ PMCA ให้โอกาสดิฉัน”

 

ถึงคิวของครูคนล่าสุด นายลอย วิรัก เล่าว่า การทำงานนอกจากการสอนเด็กตามปกติแล้ว ช่วยสอนนอกเวลาทุกวันและวันอาทิตย์ ให้กับเด็กที่เรียนอ่อน และเด็กยากจน โดยไม่ต้องจ่ายเงิน”

“ผมเกิดในครอบครัวคนจนมาก่อน จึงยินดีที่จะช่วยพวกเขา เด็กที่เรียนช้าต้องพยายามดูแล สอนเด็กทำด้วยใจ ช่วยให้เด็กผ่านการสอบได้ไปเรียนเมืองไทย เวียดนาม จีน”

ครูลอยสอนวิชาฟิสิกส์ ผลิตสื่อการสอนเองจากวัสดุที่มี โดยไม่ต้องใช้เงินมาก ให้หนังสือ ปากกา อุปกรณ์การเรียน เป็นรางวัลกับเด็กๆ เพื่อจูงใจ จะได้ไม่หยุดเรียน ออกกลางคัน และจะโน้มน้าวให้เรียนต่อ

 

ครูทั้งสามแนะนำตัวเองจบ คุณหญิงสุมณฑา รองประธานมูลนิธิยิ้มตอบ “ดีใจ แต่ละคนพยายามทำเพื่อนักเรียน อยากทราบว่าครูอยากทำอะไรอีกที่มีปัญหายังทำไม่ได้”

ยังไม่ทันได้คำตอบ ระหว่างนั้น นักธุรกิจ ผู้บริหารบริษัทเอกชนไทยในกัมพูชา ปูนซิเมนต์ไทย ปูนซีเมนต์นครหลวง และสยามแม็คโคร เข้ามาร่วมเวทีพูดคุยด้วย

“จิตอาสาทั้งนั้น ขอบคุณท่านทูตที่เชิญตัวแทนบริษัทไทยในกัมพูชามารับฟัง อยากให้ทำซีเอสอาร์ช่วยครูเหล่านี้” ประธานที่ประชุมกล่าวต้อนรับ

ก่อนให้ทุกคนได้ชมวิดีโอผลการดำเนินงานของมูลนิธิ ครูคุณภาพผู้สร้างคนคุณภาพ รางวัลแห่งการส่งเสริมวิชาชีพครูในฐานะวิชาชีพชั้นสูง รางวัลแห่งเกียรติยศของความเป็นครู ปลดปล่อยศักยภาพเด็กหลังห้องให้สำเร็จ

ความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคการพัฒนาโรงเรียน ครูผู้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่เด็ก เปิดพรมแดนการเรียนรู้ของศิษย์ การให้โอกาสคนคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ครูคือความภูมิใจ

“ครูแต่ละประเทศที่ได้รับรางวัลนำไปทำประโยชน์ต่อเด็ก เพื่อนครู โรงเรียน และชุมชน ขยายเครือข่ายครูในแต่ละประเทศ และต่อยอดงานในต่างประเทศไปด้วย”

ครูโตชเสนอว่า ขอให้ไปช่วยเด็กๆ มากกว่า อยากพัฒนาเทคโนโลยี จอคอมพิวเตอร์มาสอนนักเรียน ครูดี โสพร อยากให้ครูไทยมาที่โรงเรียน ครูกัมพูชาไปแลกเปลี่ยนกัน ส่วนครูลอยบอกว่า โรงเรียนอยู่ชนบท มีนักเรียน 1,300 คน คอมพิวเตอร์ไม่พอ ขอให้ทุนนักเรียนไปเรียนในไทย แลกเปลี่ยนกับครูไทยให้มากขึ้น

ผู้แทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเล่าว่า เอสซีจีมาลงทุนในกัมพูชาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือดูแลโรงเรียนรอบโรงงาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ผู้แทนบริษัทสยามแม็คโครบอกว่า มอบทุนให้นักเรียนเรื่อยมาเช่นกัน

ขณะที่วงสนทนาขอให้บริษัทธุรกิจทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาครูบ้าง สำหรับเด็กให้ไปดูงาน เรียนรู้เทคโนโลยีของแต่ละบริษัท หรือความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก ผู้แทนทุกบริษัทต่างตอบรับยินดี ขอให้แจ้งผ่านทูตพาณิชย์มา

“ครูถึงแม้จะแก่ ครูไม่มีวันเกษียณ ทำอย่างไรให้เขาเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพสร้างคนกัมพูชารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นบุญกุศล ในไทยก็เช่นเดียวกัน หลายบริษัทช่วยก็ขอบคุณมาก เมื่อครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จติมอร์ ครูดีเด่น 3 คนมาเฝ้าฯ แต่ละคนล้วนเป็นครูที่เสียสละสุดใจขาดดิ้น อยากช่วยให้เขาไปช่วยอีกหลายชีวิต”

“ถ้าเราช่วยกัน คิดคนละนิด คนละหน่อย คนละทิศทาง แต่เมื่อมารวมกันก็เห็นผล” คุณหญิงสุมณฑากล่าวตอบขอบคุณ และว่า “พระบารมีปกเกล้าฯ ทำให้เรามีกำลังใจ โครงการเป็นรูปธรรม ทางมูลนิธิจะได้รวบรวมบันทึกไว้”

คุณพิชิต อัครราชทูตรับอาสาว่าจะช่วยสานต่อภารกิจ สถานทูตจะเป็นตัวกลางประสานความสนับสนุนกับภาคเอกชนและครูให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืนต่อไป รวมถึงการต่อยอดให้ครูมีโอกาสได้ดูงานของบริษัทธุรกิจต่างๆ และรับทุนไปเรียนเมืองไทย

บทสนาทนาจบลง ผู้แทนบริษัทธุรกิจไทยขอตัวกลับ สื่อมวลชนกัมพูชา ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สำนักข่าว แบกกล้องทยอยกันเข้าสู่ห้องประชุม เตรียมตั้งคำถามครูดีเด่นระดับประเทศของกัมพูชา และระดับนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งสองปีถึงจะมีการคัดเลือกครั้งหนึ่ง