การ์ตูนที่รัก /นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ /สูญสิ้นความเป็นคน ตอนที่ 3

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สูญสิ้นความเป็นคน ตอนที่ 3

สึเนโกะเป็นสาวบาร์ ชีวิตของเธอแสดงออกให้เห็นด้วยรูปกายภายนอกของเธอ เป็นชีวิตที่หดหู่ไม่มีความหมายอะไรมากมายทั้งปัจจุบันและอนาคต

สึเนโกะมาพบโอบะ โยโซ ในวันที่เขาตกต่ำ ไม่มีเงิน ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน ทั้งที่ยังเรียนอยู่ สองคนพูดคุยกันถูกคอแล้วนอนด้วยกัน หลังจากนั้นก็มิได้พบกันอีก

จุนจิ อิโต เริ่มเขียนเรื่องไม่ตรงกับที่ปรากฏในหนังสือมากขึ้น เขาเล่าเรื่องสาวคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาติดพันโยโซคนหนึ่ง คงจะตั้งใจใช้ภาษาภาพเพื่อตอกย้ำให้นักอ่านเห็นว่าชีวิตของเขามิเพียงยุ่งเหยิง แต่ยังแวดล้อมด้วยอิสตรีและกามมากเพียงใด หากอ่านหนังสือต้นฉบับก็รู้สึกได้ว่าตอนกลางเรื่องนี้ โอซามุ ดะไซ เขียนยืดยาวจับใจความได้ยากด้วยส่วนใหญ่เป็นบทรำพึงและบทสนทนาที่เข้าใจยาก

“คุณพี่อายุ 21 เหรอ? ถ้างั้นฉันก็อายุมากกว่าสองปีสินะ” สึเนโกะพูดในหนังสือการ์ตูน

ดะไซเขียนคำบรรยายในตอนที่หนุ่มสาวทั้งสองพบกันครั้งแรกว่า “บนร่างของเธอมีกระแสความเดียวดายที่ไร้เสียงกว้างราวหนึ่งนิ้วหลั่งไหลอย่างเชี่ยวกราก พอร่างผมเข้าใกล้เธอ ก็ถูกกระแสนั้นโอบไว้แน่น บรรจบกับกระแสที่หมองเศร้าของผมเองได้อย่างกลมกลืนพอดี เป็นเสมือนใบไม้แห้งร่วงบนก้อนหินใต้น้ำ ทำให้ผมหนีได้จากความกลัวและไม่สบายใจ”

แล้วอิโตก็วาดภาพร่างของคนทั้งสองหลอมละลายเป็นของเหลวก้อนใหญ่บนเสื่อนั้นเอง

 

โยโซมักได้พบสตรีที่อายุมากกว่า และคลอเคลียสตรีนั้นเพื่อดับความเหงาและเศร้าสร้อยในใจตน

ความรู้สึกของโยโซมีแต่คนที่ผ่านประสบการณ์วัยเด็กขมขื่นจึงเข้าใจ

มีแต่ดะไซกระมังที่เขียนถึงความรู้สึกที่ว่าให้กลายเป็นรูปธรรมตามความเข้าใจของเขา

นั่นคือ “กระแสแห่งความเดียวดายที่ไร้เสียงกว้างราวหนึ่งนิ้วหลั่งไหลอย่างเชี่ยวกราก”

แม้ว่าคำพรรณนานี้จะใช้กับสึเนโกะ แต่ก็เป็นความรู้สึกที่โยโซได้โยนกลอง (projection) ให้สึเนโกะก่อนหน้านั้นแล้ว

นี่จึงอาจจะเป็นครั้งแรกที่โยโซสุขสมและปลอดภัยได้อย่างแท้จริง

เพราะอะไรต้องหนึ่งนิ้ว หนึ่งนิ้วนั้นน้อยนิด คือความรักที่เขาเคยได้รับจากมารดา

 

“หมดเงินก็หมดรัก” เป็นวลีที่การ์ตูนใช้

“พอเงินหมด สายใยก็ขาด” เป็นสำนวนแปลในหนังสือ

อ้างอิงจากคำอธิบายของคานาซาวาว่าหมายถึง “พอไม่มีเงิน ผู้ชายเองจะห่อเหี่ยวท้อแท้ทำตัวบัดซบ”

จากนั้นจะอารมณ์ไม่ดี หาเรื่องผู้หญิง แล้วละทิ้งผู้หญิงไปเอง

มิใช่ผู้หญิงหรอกที่เป็นฝ่ายหมดเงินก็หมดรัก เป็นบุรุษสิ้นไร้ไม้ตอกนั่นแหละที่โยนความผิด (projection) ให้แก่สตรี

อิโตวาดภาพผีปีศาจรายลอบโยโซเป็นระยะ แล้ววันหนึ่งโยโซกับสึเนโกะก็ชวนกันไปฆ่าตัวตาย

หนังสือบรรยายฉากนี้เพียงว่า “ผมเองก็ถอดเสื้อคลุมวางบนหินก้อนเดียวกัน แล้วกระโดดลงน้ำพร้อมกัน เธอตาย แต่ผมรอด”

แต่อิโตเขียนภาพหลายภาพให้นักอ่านได้เห็นสภาพการตายของสึเนโกะอย่างทรมานและอุจาด ดิ้นรนกระเสือกกระสนเพราะพิษยาที่กินจนตาเหลือกถลน เส้นเลือดปูดโปน ลิ้นจุกปาก เท่านี้ยังไม่พอ โยโซยังมีประสาทหลอนเห็นสตรีทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายนางมาชี้นิ้วสั่งให้เขาถีบสึเนโกะลงน้ำอีกด้วย

คำบรรยายในหนังสือมิได้พูดเรื่องการกินยาและมิได้พูดเรื่องการใช้เท้าถีบสึเนโกะลงน้ำ มากไปกว่านี้การ์ตูนมิได้วาดภาพโยโซกระโดดลงน้ำด้วยซ้ำไป เขาเพียงหมดสติไปเพราะฤทธิ์ยาพิษที่กินแล้วไปตื่นที่โรงพยาบาลที่ซึ่งมีพยาบาลสาวๆ หัวเราะคิกคักอยู่รอบตัว

ดูเหมือนกรรมที่เขาก่อยังไม่หมดสิ้น

 

ตามประวัติโอซามุ ดะไซ ฆ่าตัวตายหลายครั้ง

โอซามุ ดะไซ เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างร่ำรวย บิดาเป็นนักการเมืองที่ไม่มีเวลาให้ใครมากนัก

มารดาของเขาป่วยกระเสาะกระแสะจากการมีลูก 11 คน จึงมิได้ใกล้ชิดกับเขา เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1927 และฆ่าตัวตายครั้งแรกเมื่อปี 1929

เขาทำตัวเหลวแหลกจึงถูกตัดออกจากตระกูล ยากไร้ ไร้เงิน อาศัยอยู่กับสาวบาร์คนหนึ่งซึ่งทั้งสองชวนกันกระโดดน้ำตายในปี 1930 หญิงสาวตายแต่เขารอด

ข่าวนี้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ดังที่เห็นในการ์ตูนและปรากฏในตัวนวนิยาย ตำรวจเข้ามาสืบสวนคดีมีรายละเอียดน่าอ่านทั้งในหนังสือการ์ตูนและในหนังสือด้วย

ตระกูลของโยโซเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง แม้กระทั่งเสนอความช่วยเหลือที่จะให้เขาเรียนต่อ

แต่เขาไม่รับความช่วยเหลือนี้

 

หลังคดี ชายวัยกลางคนคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่รู้จักของครอบครัวได้รับโยโซไปอยู่ด้วย ชายคนนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าฮิราเมะ เพราะเขาตาโปนเหมือนปลาฮิราเมะ เขากำชับนักหนาให้โยโซอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปให้คนเห็น และขังเขาเอาไว้เช่นนั้นด้วยกลัวว่าเขาจะฆ่าตัวตายซ้ำอีก

จนกระทั่งวันหนึ่งฮิราเมะจึงได้พูดคุยกับเขาถึงเรื่องอนาคต ว่าเขาอยากจะทำอะไรต่อ แต่ลักษณะการพูดจานั้นวกวน อ้อมค้อม รอให้โยโซเป็นฝ่ายเอ่ยปาก ร้องขอ มากกว่าที่จะบอกออกไปอย่างตรงไปตรงมาว่าตระกูลของเขาแจ้งมาว่ายินดีส่งเสียเขาเรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง

บทสนทนาตอนนี้ดีมาก สำนวนของวิภาดา กิตติโกวิท ในหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน สำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ พ.ศ.2561 ลงไว้อย่างละเอียด

“ถ้าเธอไม่จริงใจที่จะขอความเห็นฉัน ฉันก็ช่วยอะไรไม่ได้”

“ความเห็นอะไร?” ผมงงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้เขาจะบอกอะไร

“เกี่ยวกับเรื่องที่เธอคิดอยู่”

“เช่น?”

“เช่น ต่อจากนี้เธอคิดจะทำอะไร?

“หางานทำใช่ไหม?”

“ไม่ ฉันถามว่าเธอคิดอย่างไร?”

“แต่ถึงผมจะอยากเข้าเรียนก็…”

“ต้องมีเงิน แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงิน อยู่ที่ความคิดเธอ”

นี่คือบทสนทนาคลาสสิคที่คนส่วนใหญ่มักกระทำต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กล่าวคือ ถืออำนาจตนเองเอาไว้เหนือกว่า สำคัญผิดว่าตนเองเป็นผู้ลิขิตชีวิต มิได้เข้าใจผู้ป่วยตามที่เป็นจริง และคาดหวังอย่างไร้เหตุผลว่าพวกเขาจะลุกขึ้นได้เองโดยปราศจากความช่วยเหลือ ในขณะที่โยโซเล่าว่า

“ก็ทำไมเขาไม่พูดชัดๆ ว่า ทางบ้านจะส่งเงินมาให้เล่า? พูดแค่นั้นผมก็ตัดสินใจได้ แต่ทีนี้เหมือนทำผมหลงไปในกลางหมอก”

จริงหรือถ้าปลาตาโปนฮิราเมะอันน่ารังเกียจ ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อ-แม่ พูดว่าจะให้เงินตรงๆ แล้วโยโซจะกลับตัวกลับใจได้?

จบเล่ม 1