วงค์ ตาวัน | เมื่ออาชญากรทิ้งร่องรอยเอาไว้

วงค์ ตาวัน

เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แถลงยืนยันว่าได้ตรวจพบชิ้นส่วนกระดูกของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ ซึ่งกรรมวิธีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ยืนยันตัวบุคคล รวมทั้งยังพบถังน้ำมัน 200 ลิตร ซึ่งเจาะรูสำหรับเสียบเหล็กเส้น โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ได้ผ่านการเผาในอุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส

เท่ากับเป็นพยานหลักฐานที่บอกได้ว่าบิลลี่ได้ถูกฆ่าแล้ว พร้อมกับถูกเผาเพื่อทำลายศพภายในถังน้ำมัน 200 ลิตร ตามสูตรสำเร็จของขบวนการฆ่าแล้วเผาป่นทำลายหลักฐาน จากนั้นนำไปโยนทิ้งน้ำบริเวณสะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

แต่สุดท้าย แม้จะผ่านไปแล้ว 5 ปี ลงเอยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอก็สามารถค้นหาจนเจอได้

ทำให้มีแนวโน้มสูงที่คดีบิลลี่หายตัวจะกลายเป็นคดีฆาตกรรม นำไปสู่การดำเนินคดีกับทีมฆ่าแล้วเผาอันโหดเหี้ยม!

กรณีนี้จึงเป็นอีกครั้งของการยืนยันทฤษฎีที่ว่า อาชญากรย่อมทิ้งร่อยรองไว้เสมอ อยู่ที่ว่าผู้สืบสวนสอบสวนจะค้นหาร่องรอยหลักฐานนั้นพบหรือไม่ ?

5 ปีผ่านไป ก็ค้นหาจนเจอจนได้

ร่องรอยของอาชญากรในคดีนี้ ในที่สุดก็โดนค้นพบโดยทีมดีเอสไอ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดของคดี ด้วยกฎหมายของไทยเรานั้น หากไม่สามารถค้นหาศพได้ จะไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหา ฐานก่อการฆาตกรรมได้

แม้บางครั้งจะได้พยานหลักฐานยืนยันว่า ใครคือผู้นำตัวเหยื่อไป คนสุดท้ายที่อยู่กับเหยื่อคือใคร แต่ถ้าไม่มีหลักฐานสำคัญคือศพ หรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์ได้ว่าเหยื่อได้เป็นศพไปแล้ว จะเอาผิดกับผู้ตองหาได้เพียงแค่คดีการลักพาตัวเท่านั้น

*การทำลายศพของกระบวนการผู้กระทำผิดในบ้านเราจึงเกิดขึ้นเสมอ เพราะเป็นจุดสำคัญทางคดี ทำให้หลุดพ้นข้อหาฆาตกรรม*

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรอบรู้การต่อสู้คดีทางกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด จำเป็นต้องฆ่าปิดปากเหยื่อเพื่อปกปิดความผิด มักนิยมใช้วิธีการเผาทำลายศพ เพื่อจัดการหลักฐานสำคัญคือศพไม่ให้เหลือหลอ

จะใช้วิธีนำร่างเหยื่อที่สังหารแล้ว มาเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตร เพราะเมื่อเผาจนมอดไหม้เหลือแค่กระดูกแล้ว ชิ้นส่วนทั้งหมดจะยังอยู่ภายในถัง ไม่ตกหล่นไปไหน จากนั้นจะทำการป่นให้เป็นแค่ผงหรือเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วนำไปเททิ้งในสายน้ำ ให้พัดพาไปจนไม่เป็นหลักฐานทางคดีได้อีก

กระบวนการเผาทำลายศพในถังน้ำมันดังกล่าว จะต้องมีสถานที่ปกปิด ไม่ให้บุคคลอื่นได้รู้เห็น แล้วต้องใช้ทีมงานคอยเฝ้าซึ่งต้องเผากันเกือบทั้งคืนกว่าร่างจะมอดไหม้หมด ก่อนจะป่นแล้วไปทิ้งน้ำ

**วิธีนี้ถือว่าเป็นการทำลายหลักฐานศพที่แน่นอนที่สุด เป็นอาชญากรรมที่แทบจะไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้เลย**

ยกเว้นว่า หลังเผาจนเสร็จแล้ว ขั้นตอนป่นเถ้ากระดูกไม่ละเอียดเพียงพอ อาจทำให้หลงเหลือชิ้นส่วนกระดูกชิ้นใหญ่ พอจะนำมาตรวจพิสูจน์สกัดดีเอ็นเอได้ในภายหลัง ยิ่งถ้าทิ้งกระดูกและถังน้ำมันที่ใช้เผาเอาไว้ใกล้เคียงกัน จะกลายเป็นหลักฐานที่ครบองค์ประกอบ

จึงเป็นอาชญากรรมที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้ค้นพบได้!!

การเผาทำลายศพอีกวิธีที่บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้กัน โดยไม่ต้องทำเองให้เหน็ดเหนื่อยยุ่งยาก คือการนำไปฝากสัปเหร่อที่เผาศพตามวัด ให้มั่วเอาเข้าเตาเผาเพิ่มไปอีกศพ แต่จะต้องอาศัยสัปเหร่อที่ใกล้ชิดสนิทสนม เก็บความลับได้ รวมทั้งต้องมีจังหวะวันเวลาที่วัดดังกล่าวนั้นมีการเผาศพพอดีด้วย

*นับเป็นอีกวิธีที่ได้ผลเหมือนกัน นั่นคือ หลักฐานศพได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย*

ส่วนอาชญากรที่เป็นผู้มีอิทธิพล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ บางครั้งฆ่าคนตายฆ่าคู่อริ มักจะทำลายหลักฐานศพด้วยวิธีเผานั่งยาง คือเอายางรถยนต์มาสุมแล้วจุดไฟเผาทิ้ง จัดการกันตามป่าเขา หรือบริเวณรกร้างของที่ดินอันเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่

วิธีนี้จะไม่สามารถทำลายครอบคลุมกระดูกได้ทั้งหมด รวมทั้งไม่สามารถเก็บชิ้นส่วนกระดูกจากการเผาไปทิ้งที่อื่นได้ คดีเผานั่งยางหลายคดี เมื่อตำรวจตามไปเจอจุดเผา ก็สามารถพิสูจน์ได้ไม่ยากนัก

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอำพรางศพของอาชญากรอื่นๆ ในรูปแบบการหั่นศพแล้วไปกระจายทิ้งตามจุดต่างๆ ตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อให้ตรวจพิสูจน์ได้ยาก

**ในสารพัดวิธีทำลายศพนั้น ต้องนับว่ากระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐนอกแถว ในการเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตรแล้วป่นกระดูก เป็นวิธีที่ทิ้งร่องรอยไว้น้อยที่สุด**

ทำให้มีหลายต่อหลายคดีที่มีพยานหลักฐานชี้ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มเหยื่อรายนี้ไปแน่นอน แต่เมื่อไม่สามารถค้นหาหลักฐานศพได้ ก็จะเป็นคดีที่มีข้อหาเบาบาง

ไม่สามารถตั้งเป็นคดีฆ่าได้

*นี่คือจุดอ่อนของกระบวนกฎหมาย ทำให้เหยื่อสังหารหลายรายไม่ได้รับความยุติธรรม!!*

จึงมีความพยายามผลักดันให้มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นความผิดอาญา จะมีเพียงประมวลกฎหมายความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

ซึ่งจะเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล ถ้ามีกฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นช่องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำมิชอบด้วยกฎหมายได้อย่างดี

น่าเสียดายที่มีการจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา สนช.ยุคที่ผ่านมาได้

เหตุการณ์ที่ดีเอสไอสามารถค้นหาจนได้หลักฐานศพของบิลลี่ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้มีโอกาสดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำต่อบิลลี่ในข้อหาฆาตกรรมได้แล้ว ยังกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายต้องผลักดันกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางมิชอบในการบังคับบุคคลให้สูญหายได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป
ผลที่ตามมีอีกประการก็คือ ต้นเรื่องที่ทำให้บิลลี่ต้องเป็นเหยื่อฆ่าเผาครั้งนี้ น่าจะเชื่อมโยงมาจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บุกขับไล่ด้วยการเผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เมื่อต้นปี 2554 ซึ่งบิลลี่เป็นเด็กหนุ่มของชุมชนที่รอบรู้ รวบรวมภาพถ่ายคลิป พยานหลักฐานเอาไว้ สำหรับการต่อสู้คดีฟ้องร้องอุทยานฯ

*ถ้าหากเรื่องราวเชื่อมโยงถึงการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงในการถูกบุกเผาทำลายบ้าน กรณีของบิลลี่ถือเป็นรายที่ 2*

รายแรกก็คืออาจารย์ป๊อด หรือนายทัศน์กมล โอบอ้อม นักการเมืองพรรคเพื่อไทย เพชรบุรี ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำกะเหรี่ยงฟ้องร้องอุทยานฯ ในเหตุการณ์เผาบ้าน

ค่ำวันที่ 10 กันยายน 2554 อาจารย์ป๊อดถูกยิงตาย ขณะขับรถบนถนนเพชรเกษม เขต อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ชุดหนึ่ง โดยพบว่าชนวนเหตุมาจากการร่วมนำชาวกะเหรี่ยงต่อสู้กับอุทยานฯ นั่นเอง แต่คดีนี้จำเลยได้รับการยกฟ้องทั้งหมด

**อาจารย์ป๊อดและบิลลี่คือผู้ที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในคดีถูกเผาบ้าน**
ลงเอยกลายเป็นเหยื่อถูกสังหารโหดต่อเนื่องกัน

ผลสะเทือนจากความตายของคนทั้งสอง จะนำไปสู่การต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอีกด้วย!