คนมองหนัง : ‘Operation Mekong’ ความใฝ่ฝันของ “พญามังกร” และ “ปริศนาลี้ลับ” ที่ถูกทิ้งค้างไว้

“Operation Mekong” เป็นภาพยนตร์แอ๊กชั่นผลงานการกำกับฯ ของ “ดังเต้ แลม” คนทำหนังชาวฮ่องกง ที่สร้างผลงานมาอย่างต่อเนื่องแทบจะปีชนปี นับแต่ ค.ศ.1997 จนถึงปัจจุบัน

พิจารณาจากแง่ของ “รูปแบบ” ภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมถูกจัดอยู่ในประเภท “บู๊/แอ๊กชั่น”

ซึ่งหนังก็ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดีและครบเครื่อง

หนังมีฉากแอ๊กชั่นเด็ดๆ ตามเหลี่ยมมุมของอาคาร “อินดอร์” บนรถไฟ ในรถยนต์บนท้องถนน บนเรือลัดเลาะแม่น้ำโขง เรื่อยไปจนถึงบนเฮลิคอปเตอร์ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากนี้ “Operation Mekong” ยังเดินตามสูตรหนังแอ๊กชั่นสไตล์ “ฮ่องกง” ที่ขับเน้นความทรงจำบาดแผล ซึ่งเป็นปมภายในจิตใจตัวละครนำ, คุณธรรมน้ำมิตรระหว่างเพื่อนตำรวจ ตลอดจนความสูญเสีย/เสียสละตามรายทาง

ว่ากันเฉพาะองค์ประกอบข้างต้น หนังเรื่องนี้อาจไม่มีอะไร “ใหม่” มากนัก ทว่า ก็สามารถมอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชมได้อย่างไม่มีอะไรตกหล่น

จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจะสามารถโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดเมืองจีน เมื่อปีก่อน

สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ของ “Operation Mekong” นั้นอยู่ที่เนื้อหามากกว่า

ผู้ที่ได้อ่านเรื่องย่อคงพอจะรับทราบอยู่บ้างว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมลูกเรือชาวจีน 13 ราย ขณะโดยสารอยู่บนเรือสินค้าที่ล่องมาตามแม่น้ำโขง

อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ พ.ศ.2554 (ค.ศ.2011)

คดีดังกล่าวเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด, “พื้นที่พิเศษ” อย่างสามเหลี่ยมทองคำ, ชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน รวมถึงความพยายามจะเข้ามาร่วมจัดการแก้ไข-สะสางปัญหาและจับกุมผู้กระทำผิดของทางการจีน

หนังเริ่มต้นด้วยภาพการแถลงข่าวผลงานการจับกุมยาเสพติดที่ตรวจค้นได้จากเรือสินค้าจีน โดยหน่วยงานความมั่นคงไทย

แต่หลังจากนั้นไม่นาน กลับพบศพลูกเรือจีนลอยอืดขึ้นมาบริเวณริมแม่น้ำโขง

คดียาเสพติดจึงกลายสภาพเป็นคดีฆาตกรรม ซึ่งมีปัจจัยลึกลับซับซ้อนซ่อนแฝงอยู่

แล้วหนังก็ตัดเหตุการณ์เข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน ที่กระหน่ำคนดูด้วยคิวบู๊นานาชนิด เคียงคู่กับการหักเหลี่ยมเฉือนคมทางความคิดและการวางแผน

“Operation Mekong” พยายามฉายภาพบทบาทนำของ “จีน” ในฐานะ “ตำรวจภูมิภาค” เหนือเจ้าหน้าที่ของไทย, พม่า และลาว (ดังที่หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้)

เข้าทำนองแม้จะมี “กองกำลังร่วม” ระหว่างสี่ชาติ แต่จีนต้องเข้าถึงข้อมูลและตัวคนร้ายให้ได้ก่อนใคร

เช่นเดียวกับพื้นที่ปัญหาอย่าง “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งถูกวาดภาพให้เป็น “พื้นที่พิเศษ/ยกเว้น/ไร้ขื่อแป” ที่เต็มไปด้วย “เจ้าพ่อนานาชาติ” ทั้งชนกลุ่มน้อย, แขก หรือคนดำ เพราะถูกปล่อยปละละเลยโดยอำนาจรัฐของไทย พม่า และลาว (หรือไม่ “เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” ก็อาจรู้กันกับบรรดา “เสือซุ่มมังกรซ่อน” ผู้อยู่นอกเหนือกฎหมายเหล่านั้น)

ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนจึงจำเป็นจะต้องบุกเข้ามาเคลียร์/ชำระล้างพื้นที่ดังกล่าว ราวกับเป็นการเข้ามาช่วยจัดระเบียบ “อนารยชนคนป่าเถื่อน” โดยผู้มีอำนาจที่ “ศิวิไลซ์” กว่า

ภาพลักษณ์ของการเข้ามาแก้ปัญหาอย่าง “ศิวิไลซ์” ถูกแสดงออกผ่านบทบาท “นักรบสันติวิธี” ของกลุ่มตัวละครตำรวจจีนใน “Operation Mekong”

ตำรวจจีนซึ่งสะสางคดีอย่างเฉียบคมเด็ดขาด ทว่า จะเลือกใช้ “ความรุนแรง” เท่าที่จำเป็น

หนังวาดภาพให้กองกำลังค้ายาที่เป็นชนกลุ่มน้อย ใช้สอย “ทหารเด็ก” เป็นอาวุธลับอันทรงพลานุภาพ (ฉากการเล่นเกม “รัสเซียนรูเล็ต” ระหว่างนักรบเด็กชนกลุ่มน้อยสองคนในหนังเรื่องนี้อาจ “ไม่ใหม่” แต่ก็ติดตามากๆ ทีเดียว)

เมื่อ “ทหารเด็ก” เหล่านั้นเผชิญหน้ากับตำรวจจีน แม้ฝ่ายแรกจะซัดปืนกลใส่ฝ่ายหลังจนต้องพิการไปตลอดชีวิต หรือบอมบ์ใส่ฐานปฏิบัติการของฝ่ายหลัง จนมีคนเจ็บ-ตายเป็นจำนวนมาก

แต่ตำรวจจีนกลับไม่พยายามเข่นฆ่าล้างแค้น “ทหารเด็ก” แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และมีท่าทีห่วงใยในสวัสดิภาพของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

ปฏิบัติการระดับเข้มข้นที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนในหนังลงมือกับ “ทหารเด็ก” ก็คือ “การยิงใส่ (ไม่เอาถึงตาย) เพื่อให้หยุดลงมือสังหารคน”

ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการล่าคนผิดของทางการจีน ก็มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ “การจับเป็น” แล้วส่งคนร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในระบบ มากกว่า “จับตาย”

(แม้อาจจะพลั้งเผลอลงมือเกินเลยไปบ้าง เพราะความแค้นส่วนบุคคล ไม่ใช่ในนามองค์กรหรือประเทศชาติ)

แน่นอนว่านี่คือหนังที่มี “ตำรวจจีน” เป็นพระเอก และเป็นภาพแทน ซึ่งสื่อแสดง “ความคาดหวัง/ความใฝ่ฝัน” ของ “พญามังกร” ในการขยายอำนาจมายังภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

อย่างไรก็ตาม ถ้า “Operation Mekong” มีสถานะเป็น “ภาพร่างความฝัน” ที่ก่อกำเนิดขึ้นในวิธีคิดของรัฐบาล/ชนชั้นนำจีน

ดูเหมือนฝ่ายจีนเองจะตระหนักอยู่ไม่น้อยว่าการพยายามแผ่อิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้ มิใช่ “ปฏิบัติการ” ที่สามารถลงมือทำและหวังผลลัพธ์ได้อย่างง่ายดายสบายมือ

ดังที่หนึ่งในตัวละครนำของหนัง ซึ่งเป็นสายลับชาวจีน พูดเอาไว้ว่า ต่อให้ “หน่อคำ” ราชายาเสพติดที่อยู่เบื้องหลังคดีฆาตกรรม 13 ศพ ถูกโค่นล้มลง แต่อีกสักพัก ก็จะมี “เจ้าพ่อ” รายใหม่ ผงาดขึ้นมาแทนที่

สอดคล้องกับบทสรุปของหนัง ที่ตำรวจจีนสามารถจับกุมตัว “หน่อคำ” และพรรคพวก กลับไปลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสามารถเด็ดหัวผู้ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ระหว่าง “หน่อคำ” กับ “บอส” ได้สำเร็จ

ทว่า เงื่อนปมที่หนังทิ้งค้างเอาไว้อย่างชาญฉลาด ก็คือ การไม่ยอมเปิดเผยว่า “บอส” ผู้อยู่เบื้องหลังเครือข่ายค้ายาเสพติด-คดีฆาตกรรมครั้งนี้เป็นใคร?

ด้านหนึ่ง นี่อาจบ่งชี้ให้เห็นว่า “ปฏิบัติการแม่น้ำโขง” มิได้มีจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง หากเป็นเพียง “จุดหนึ่ง” ของแผนปฏิบัติการ “ต่อเนื่อง” ระยะยาว ที่จะเปิดโอกาสให้ “พญามังกร” ค่อยๆ รุกคืบเข้ามาควบคุมจัดการพื้นที่แถบสามเหลี่ยมทองคำและตามลำน้ำโขง

อีกด้านหนึ่ง การอำพรางตัว “บอส” เอาไว้ ก็มิได้หมายความว่าคนทำหนัง/ทางการจีน ไม่รู้ว่า “บอสตัวจริง” นั้นคือใคร

แต่เมื่อการแผ่ขยายอำนาจจำเป็นต้องอาศัยภาพลักษณ์ของการเป็น “นักประสานประโยชน์” ผู้พร้อมจะประนีประนอมหรือเจรจาต่อรองกับ “เจ้าพ่อของเจ้าพ่อท้องถิ่น” พอๆ กับภาพลักษณ์ “นักบู๊ผู้พิทักษ์ความสงบในระดับภูมิภาค”

การรู้อะไรบางอย่าง จึงต้องถูกแสดงออกมาผ่านลักษณะ “แสร้งทำเป็นไม่รู้”

คําถามต่อเนื่องมีอยู่ว่าคนดูจะสามารถ “รู้” อย่างที่คนทำหนังหรือประเทศผู้ผลิตหนัง “รู้” ได้หรือไม่?

และคนดูจะสามารถไขปริศนาลึกลับข้อนี้ได้อย่างไร? ในเมื่อ “บอส” ที่ถูกเอ่ยถึงโดยสม่ำเสมอ ไม่เคยปรากฏตัวตนหรือส่งเสียงออกมา

กุญแจดอกแรกที่อาจช่วยไขปริศนาทิ้งท้ายของ “Operation Mekong” น่าจะอยู่ตรงขุมกำลังของ “ตัวกลาง” ผู้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง “บอส” กับ “หน่อคำ”

หนังวาดภาพให้ “ตัวกลาง” รายนี้ มีอำนาจควบคุมสั่งการกองกำลังนิรนามชุดดำจำนวนหลายสิบคน กองกำลังดังกล่าวถูกจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ มีสรรพาวุธและยานพาหนะทันสมัยในครอบครอง

ความยิ่งใหญ่เช่นนั้นย่อมฉายให้เห็นถึงเงาร่างอันไม่ธรรมดาของ “บอส”

กุญแจอีกดอกที่ไม่ควรละเลย ก็คือ ช่วงต้นๆ เรื่อง หนังเอ่ยถึง “ตัวละครกลุ่มหนึ่ง” อย่างเป็นทางการอยู่ประมาณสองหน ก่อนจะไม่กล่าวถึงตัวละครกลุ่มนี้อีกเลยตลอดทั้งเรื่อง

จึงน่าสงสัยมิใช่น้อยว่า “บอส” กับ “ตัวละครกลุ่มนี้” มีความข้องเกี่ยวกันหรือไม่? อย่างไร?