ในประเทศ / “…ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า จะสามารถไปจบ เรื่องอื่นได้หรือไม่…”

ในประเทศ

 

“…ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า

จะสามารถไปจบ

เรื่องอื่นได้หรือไม่…”

 

ไม่มีความเห็นต่างใดๆ กับความซาบซึ้งใจ

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี มีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นความซาบซึ้งใจที่ พล.อ.ประยุทธ์เล่าว่า

ได้ทำเรื่องขอพระบรมราชานุญาต นำพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน มาเป็นที่เคารพบูชาและนำไปสู่การปฏิบัติ

ซึ่งก็โปรดเกล้าฯ ลงมาเป็นลายลักษณ์อักษร

โดยจะนำพระราชดำรัสไปใส่กรอบประดับไว้ที่ที่ทำงาน หรือที่บ้านก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นที่อันสมควร

“ของผมก็เช่นกัน จะเก็บไว้ที่ทำเนียบรัฐบาลของผม ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในเรื่องของการถวายสัตย์” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

แต่กระนั้น กลับบอกว่า “ส่วนเรื่องอื่นก็ให้เป็นเรื่องอื่นต่อไป ไปว่ากันมา”

ซึ่งนั่นก็บ่งบอกว่า นั่นไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องความซาบซึ้งใจ

หากแต่มีเรื่อง “อื่น” ด้วย

 

โดยเป็นที่ทราบกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ถูก 7 พรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า กระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันเข้าถวายสัตย์

เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้นำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำปฏิญาณอย่างครบถ้วน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จึงถูกฝ่ายค้านชี้ว่า การถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ และยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องนี้ แบบไม่ลงมติ

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์โต้ว่า “ก็เป็นเรื่องเขา แล้วแต่เขา ใครมีสิทธิอะไรตรงไหนก็ทำไป”

และยืนยันว่า พร้อมจะชี้แจงด้วยตัวเอง

“เรื่องใดที่ผมตอบได้ ก็จะไปตอบ แต่เรื่องใดที่ไม่ควรจะตอบ ก็ไม่ตอบ หรือไม่ก็มอบหมายคนอื่นไปตอบแทน จะทำเหมือนกับนายกฯ คนอื่นทำมา”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ตอบหรือชี้แจงกรณีนี้

แม้ฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้สดอย่างน้อยสองครั้ง เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ไป อ้างว่าติดราชการสำคัญ ได้เพียงแต่พูดว่าจะขอรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว

ซึ่งก็ไม่ชัดเจนนัก ว่าหมายถึงอะไร

ทำให้ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อ “มัด” ให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาชี้แจงในสภา

ขณะที่มีกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้นำกรณีดังกล่าวไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามนิ่งมาตลอด

จนกระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์วันที่ 27 สิงหาคม ที่มีพิธีรับพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อคณะรัฐมนตรี ในวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์

 

มีการตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถามว่า การที่ “บิ๊กตู่” นำคณะรัฐมนตรีรับพระราชดำรัสถวายสัตย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมนั้น

จะโยงถึง “ปัญหาการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนหรือไม่”

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้กล่าวชัดๆ

เพียงแต่บอกว่า จะน้อมนำพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจสืบไปเท่านั้น

โดยพระราชดำรัสที่พระราชทานลงมา ความว่า

“ขอถือโอกาสนี้ ให้พรให้ท่านมีกำลังใจ ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน งานใดๆ ก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆ ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแก้ปัญหา และเข้าหางาน เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุด และมีความเข้มแข็งอดทน ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ด้วยความถูกต้องต่อไป” ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า

“ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า จะสามารถไปจบเรื่องอื่นได้หรือไม่”

 

ซึ่งก็น่าจะไม่จบอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ว่า

เมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ผู้ซึ่งจุดประเด็นนี้ขึ้นมา

แถลงในวันเดียวกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.รับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อน้อมรับเป็นสิริมงคล

โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอยืนยันตามความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งใหม่

การถวายสัตย์ปฏิญาณมีไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในฐานะแฟนคลับหนังสือของนายวิษณุ ในหนังสือหลังม่านการเมือง นายวิษณุได้อธิบายเรื่องราวเหล่านี้ไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำ ครม.เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ เมื่อถวายสัตย์เสร็จแล้ว โดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัสเพื่ออำนวยพรหรือให้กำลังใจแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารต่อไป

ในอดีตที่ผ่านมา ครม.ก็ได้มีการนำพระราชดำรัสเหล่านี้มาเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารประเทศ

โดยนายวิษณุได้เขียนไว้ว่า ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตนำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรเข้ากรอบรูปสวยงามแจก ครม.ทุกคน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน

แต่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีดังกล่าว

ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จะทำแบบที่นายบรรหารทำ ครม.ชุดอื่นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ทำ ก็ถือว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาต่อไปว่า การถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น สมบูรณ์หรือไม่

ในข้อความต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ได้ถวายสัตย์ ยืนยันว่าไม่ครบ

และตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่เคยบอกว่าตัวเองพูดครบถ้วนทุกคำตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 161 จึงเป็นปัญหาต่อเนื่องต่อไป

เรามีการยื่นญัตติอภิปรายเป็นการทั่วไปโดยไม่ลงมติในสภา ซึ่งอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระอยู่

“คิดว่าพี่น้องประชาชนรู้สึกอึดอัดใจว่าทำไมเรื่องนี้ไม่จบเสียที กินเวลามาแล้วเป็นเดือน ผม ส.ส.พรรค อนค. และพรรคร่วมฝ่ายค้าน สุดท้ายจะจับจ้องอยู่กับเรื่องแค่นี้ไม่คิดถึงเรื่องปัญหาปากท้อง ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินเลยหรือ ผมอยากจบเรื่องนี้ใจจะขาด แต่คนที่จะจบได้คือ พล.อ.ประยุทธ์  แต่ตัวนายกฯ ไม่ยอมแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ตอบ ไม่พูดว่าครบหรือไม่ครบ ท่านไม่ได้ตอบอะไรทั้งสิ้น ใช้วิธีเงียบ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้หวังล้มรัฐบาล แต่ต้องการความแน่นอนชัดเจน เพื่อให้ ครม.ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญ ใครที่บอกให้จบเรื่องนี้แล้วไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า ช่วยไปบอก พล.อ.ประยุทธ์ให้จบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ถ้าแก้ปัญหาแต่แรก เรื่องไม่บานปลายมาขนาดนี้”

นายปิยบุตรกล่าวย้ำ

 

ขณะที่การอภิปรายทั่วไป เรื่องปมการถวายสัตย์ ถูกยืนยันว่าจะดำเนินต่อไป

ซึ่งคาดหมายว่าจะมีราวกลางเดือนกันยายนแล้ว

ยังมีท่าทีจากผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยว่า

ภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่า การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่

โดยแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะชี้แจงมาว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติสำเร็จโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย

แต่รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุว่า

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…”

เมื่อนายกฯ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย

รวมถึงมีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และเป็นไปตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (27 สิงหาคม)

ส่วนรัฐบาลจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีนี้สั้นๆ ว่า เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์อัญเชิญพระราชดำรัสมาแสดงต่อสื่อมวลชน

และย้ำว่า “ผมปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานมาให้ตามที่ผมขอพระราชทานขึ้นไปและพระราชทานกลับมา”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนนายกฯ จะสบายใจหลังจากเสร็จพิธีรับพระราชดำรัส

พล.อ.ประยุทธ์ยิ้ม พร้อมกล่าวว่า “ก็สบายใจมาทุกวัน และมีคนเตือนมาให้ผมอารมณ์ดี”

ซึ่งจะมีนัยอะไรหรือไม่

และจะมีการเชื่อมต่อเหตุการณ์ต่างๆ นั้นคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการอภิปรายทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร และความซาบซึ้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เป็นหนึ่งเดียว อย่างไร

คงต้องรอคำตอบ

ซึ่งแน่นอนย่อมมากด้วยความละเอียดอ่อน และยากต่อการประเมินผล

ภาพอารมณ์ดีของผู้นำรัฐบาล เป็นเพราะมี “สัญญาณดี” และปลอดโปร่ง

หรือเป็นในท่วงทำนอง ใจดีสู้เสือ

เดือนกันยายนที่จะถึง น่าจะมีคำตอบอันระทึกใจ!