เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วัฒนธรรมไม่ใช่สินค้า

วัฒนธรรมไม่ใช่สินค้า

แต่สินค้าต้องอาศัยวัฒนธรรม

ภาษาอังกฤษเขาเรียกเรื่องนี้ว่า story คือมีเรื่องเล่าเหมือนผ้าทอมือของป้าติ๋ว ขนิษฐา วงศ์ปัดสา ที่เขมราฐ เมืองอุบล ป้าติ๋วทอผ้าฝ้ายย้อมครามแล้ว “มัดหมี่” คือการสร้างลายผ้าด้วยวิธี “มัดย้อม” เป็นลวดลายต่างๆ โดยแต่ละลายมี “เรื่องเล่า” ทั้งลายดั้งเดิม และลายใหม่ที่ป้าติ๋วคิดสร้างขึ้นเอง

พิเศษคือทุกลายมีเรื่องเล่า

แค่บอกกล่าวเล่าว่าเรื่องเท่านั้น ผ้าของป้าติ๋วก็ขายดีไม่น่าเชื่อ

ซึ่งที่จริงทุกลายผ้าในผ้าทอทุกผืนและทุกที่ล้วนมีเรื่องเล่าทั้งนั้น ขาดแต่การเล่าเรื่อง

ลายผ้านั่นแหละคือ ศิลปะการเล่าเรื่อง

ลายผ้าบนผืนผ้าทุกผืนล้วนเป็นศิลปะ เบื้องหลังของศิลปะล้วนมาจากวัฒนธรรมทั้งสิ้น

วัฒนธรรมในที่นี้หมายถึง “วิถีชีวิต” ของผู้คนนั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่อง Lord of the ring ภาคแรกมีเกริ่นนำใจความว่า จากเรื่องจริงจึงเป็นตำนาน จากตำนานจึงเป็นนิทาน เป็นบทลำนำ เป็นบทเพลงบทกวี

ทั้งหมดนี้ก็คือ ศิลปะทุกแขนงล้วนมี “ต้นฉบับ” มาจากเรื่องราวของชีวิตจริงทั้งสิ้น จนมีคำกล่าวว่า

“ชีวิตคนคือต้นฉบับของงานศิลปะทั้งปวง”

“วิถีชีวิต” นี่แหละคือ “วัฒนธรรม”

น่าเสียดายที่บ้านเราวันนี้กำลังทำลายวัฒนธรรมด้วยการ “ขายวัฒนธรรม” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

คือฉวยเอาวัฒนธรรมเป็นสินค้ามากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับสินค้าในฐานะที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรม

ตัวอย่างตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวกวันนี้ ซึ่งแต่เดิม “ต้นฉบับ” คือวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมการค้าขายของชาวบ้านที่มีลำคลองเป็นพื้นที่ค้าขายดังเรียก “ตลาดน้ำ” ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปเองตามธรรมชาติของชุมชน

ตรงนี้แหละคือ เสน่ห์ของตลาดน้ำที่ดึงดูดผู้คนอยากมาดู มาสัมผัสบรรยากาศที่แปลกไปจากที่อื่นโดยทั่วไป

ครั้นนานวันมีการโหมโฆษณามากขึ้นจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่บรรจุเป็นรายการหนึ่งของการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศอันเป็นไปโดยธรรมชาติของตลาดน้ำแบบ “ต้นฉบับ”

ผลที่ได้วันนี้เป็นดังภาพที่เห็น คือ

คนมาดูนักท่องเที่ยวนั่งเรือในคลองดำเนินสะดวก แม่ค้าแม่ขายพายเรือแทบไม่มีแล้ว ด้วยขึ้นไปตั้งร้านค้าบนสองฝั่งเพื่อขายนักท่องเที่ยวกันหมด

จริงอยู่ตลาดน้ำต้องพัฒนา แต่การพัฒนาต้องไม่ไปทำลายความเป็น “ตลาดน้ำ” จนกลายเป็นตลาดบกริมคลอง ซึ่งที่สุดกลายเป็นตลาดเรือให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือชมคลอง จบกันเท่านั้น

นี่ไง “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด”

อาจมีคำถามว่า ก็ไม่ดีหรือที่ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้นมากกว่าแค่พายเรือขายกันเองอยู่ในชุมชน นี่เป็นวิถีชีวิตใหม่หรือวัฒนธรรมใหม่ไม่ดีหรือ

ตอบว่า ก็ดีอยู่ แต่จะดีไปอย่างนี้แน่จริงหรือ

ตลาดน้ำอยุธยาในอดีต ขอบคุณภาพจาก อ.วัธนา บุญยัง

เขาอยากมาดู “ตลาดน้ำ” ธรรมชาติ ไม่ใช่มาดู “ตลาดน้ำ” แบบ “ชุบแป้งทอด” คือการนำเอาวิถีชีวิตที่เป็นวัฒนธรรมมาแต่เดิมดังเป็น “ต้นฉบับ” มาเหลือแค่ชื่อ “ตลาดน้ำ” เพียงเท่านั้น

นี้คือการนำเอาวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าอย่างฉาบฉวย อันเป็นการทำลายวัฒนธรรมอย่างเลือดเย็น

แน่นอนวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลง ต้องปรับแปรไปตามยุคสมัย หากเป็นไปโดยธรรมชาติ ตามขั้นครรลองโดยตัวของมันเอง

นั่นเป็นวิถีที่พึงเป็น

แต่ที่มักไม่เป็นไปโดยธรรมชาติก็คือการเข้าไปจัดการเพื่อหวังผลเชิงธุรกิจเป็นหลักในลักษณะ “ชุบแป้งทอด” นี่แหละคือการทำลายวัฒนธรรมโดยตรง จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือหาไม่ก็ตาม

จริงอยู่ชาวชุมชนอาจเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังที่เป็นอยู่นี้ ก็ใครเล่าจะมัวไปนั่งพายเรือขายของในคลองอยู่ชั่วนาตาปี หาไม่ก็แสดงการขายของสนองการท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น มันควรต้องเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่ามิใช่หรือ

แต่คำถามที่ “ย้อนแย้ง” ก็คือสิ่งที่ดีกว่า นั้นคืออะไร

ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ย่านมองมาร์ตนั้น ชาวชุมชนเขาจัดงานฉลองเป็นประจำ ปีหนึ่งมีบริษัทน้ำอัดลมขอร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย ชาวมองมาร์ตยินดีให้ร่วม เท่านั้นแหละวันรุ่งขึ้นมีธงราวตราน้ำอัดลมแขวนพาดทั้งถนน

ผลคือชาวมองมาร์ตออกมาชุมนุมกันชูคำขวัญว่า “มองมาร์ตต้องไม่ละลายในน้ำ…” ที่จุดๆ นี้คือชื่อของน้ำอัดลมยี่ห้อนั้น

นี่คือความเข้มแข็งของชุมชนที่เขาภาคภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง อันมีวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตชนิดไม่ยอมให้ทุนสามหาวเข้ามาทำลาย

สงสารบ้านเราที่วิถีวัฒนธรรมถูกกำหนดให้เป็นไปด้วยสองภาคส่วนสำคัญคือ ราชการกับทุนใหญ่ เพียงเท่านั้น

ชาวบ้านเหมือนถูกมัดมือชก

ทุกยกและทุกเวที