วงค์ ตาวัน | ความต่าง “ม็อบฮ่องกง-ม็อบไทย”

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อยาวนาน และถึงขั้นเข้าปิดพื้นที่ในสนามบินอยู่หลายวัน ทำให้มีการเปรียบเทียบกับม็อบในไทย ที่เคยบุกเข้ายึดสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองมาแล้ว และยังกลายเป็นคดีความหนักหนาสาหัสจนถึงวันนี้

ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าม็อบฮ่องกงจะยังต่อเนื่องไปอีกถึงเมื่อไร หรือจบลงอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การยึดแนวทางสันติวิธี ทำให้ผู้ชุมนุมยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่คุ้มครองสนามบิน โดยยอมถอยออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีการนัดหมายชุมนุมในพื้นที่กลางเมือง และมีแนวโน้มจะมีคนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงที่ม็อบปิดสนามบินฮ่องกงนั้น ส่วนหนึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยที่เดินทางไปฮ่องกง ได้รับความเดือดร้อนติดค้างในสนามบิน

อีกส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์เทียบกับม็อบพันธมิตรฯ ที่เคยยึดสนามบินในบ้านเรามาแล้ว

“โดยพบว่ามีความต่างกันหลายประการ”

ได้แก่ ท่วงทำนองของผู้ชุมนุม มีลักษณะแสดงพลังเพื่อกดดันผู้บริหารเกาะฮ่องกง แต่ก็เน้นประท้วงอย่างสันติ เพราะเมื่อมีคำสั่งศาลก็ไม่มีการดื้อดึง ยอมยุติและใช้พื้นที่ชุมนุมอื่นแทน

“ไม่ดุดันเด็ดขาดเหมือนม็อบยึดสนามบินในไทย”

ประการต่อมา จุดมุ่งหมายของม็อบฮ่องกงนั้น เริ่มจากการประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ชาวฮ่องกงเห็นว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ เสริมด้วยเนื้อหาการเรียกหาประชาธิปไตย การไม่ยอมรับอำนาจจากกรงเล็บมังกร

โดยก่อนหน้านี้คนหนุ่มสาวในฮ่องกงก็เคยเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องความเป็นดินแดนเสรีภาพประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาก่อนแล้ว

“มีอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการความเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมาตลอด”

อาจจะมีจุดคล้ายกันระหว่างม็อบฮ่องกงกับม็อบเสื้อเหลืองในไทยก็คือ การเข้าปิดสนามบิน

แต่ท่วงทำนองของม็อบนั้นต่างกัน ที่สำคัญคือ เป้าหมายการต่อสู้ของหนุ่มสาวชาวฮ่องกง

“คือเสรีชนของจริง”

ไม่ใช่ปากร้องเพลง “สู้ต่อไปพวกเราเสรีชน” แบบม็อบในไทย แต่เป้าหมายกลับหัวกลับหาง คือต้องการล้มรัฐบาลจากเลือกตั้ง และเรียกหาอำนาจทหาร!?!

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สังคมไทยเราจมอยู่กับความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจการเมือง 2 ฝ่ายและม็อบต่างสี ต่อเนื่องมากว่าสิบปี จนถึงวันนี้ก็ยังคงวนอยู่ในเรื่องเดิมๆ แม้ว่าจะหมือนสงบลงด้วยการยึดอำนาจของ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

แต่สงบเพราะอำนาจของคณะรัฐประหาร ในการควบคุมบ้านเมืองให้สงบราบคาบ แต่ไม่ได้แก้ต้นตอความขัดแย้ง

“ข้ออ้างของ คสช.ที่ว่าเข้ามาเพื่อหยุดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ แต่สุดท้าย คสช.ก็โดดลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง เพราะชัดเจนว่า คสช.ก็คือตัวแทนของกลุ่มอำนาจฝ่ายหนึ่ง เพื่อมากวาดล้างอำนาจอีกฝ่ายเท่านั้นเอง”

จนกระทั่งเมื่อจัดการเลือกตั้งในต้นปีนี้ โดยภาพรวมก็คือทำให้บรรยากาศคลี่คลายเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่แล้วก็ยังใช้ทุกกลไกเพื่อกำหนดให้ผลการเลือกตั้งออกมาโดยให้หัวหน้า คสช. ได้เป็นนายกฯ ต่อไป

ประชาชนหลายล้านคนเลือกตั้งกันแทบตาย แต่เวลาโหวตนายกฯ มีเสียง 250 ส.ว.มาเป็นตัวกำหนด

“เกิดคำถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม กระทั่งกลายเป็นประเด็นบนพานไหว้ครูของเด็กนักเรียน!”

ยังดีที่มีกลไกรัฐสภา มีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชน ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเข้าสู่ระบบสภา ช่วยให้การต่อสู้ยังไม่ลุกลามกลับไปสู่ท้องถนน

แต่ก็ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วเหมือนเดิม ไม่ต่างจากเมื่อสิบปีก่อน

“แล้วอย่าได้ปฏิเสธเลยว่า แกนนำ คสช.ก็คือคู่กรณีกับฝ่ายอื่นอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำในสภา จึงทำให้แนวโน้มการเมืองไทยยังไม่แน่นอน โดยเชื่อกันว่ารัฐบาลนี้น่าจะอยู่ได้ไม่นานนัก โอกาสที่จะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่น่าจะมาถึงในเวลาอีกไม่นาน

ถ้ากลุ่มอำนาจปัจจุบันยอมใช้ทางออกตามวิถีประชาธิปไตยปกติ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด

แต่ถ้าเลือกวิธีการนอกระบบอีก ก็เท่ากับผลักความขัดแย้งให้กลับไปเหมือนเดิม แต่อาจจะร้อนแรงกว่าเดิมก็ได้!

เคยมีคำกล่าวถึง “ม็อบมีเส้น” ในบ้านเมืองเรา ซึ่งเป็นคำสั้นๆ ที่อธิบายความได้ดีที่สุดและตรงใจกับประชาชนจำนวนไม่น้อย และในจำนวนม็อบสีต่างๆ นั้น ต้องนับว่า “ม็อบเสื้อแดง” คือ “ม็อบที่ไม่มีเส้น” เพราะต้องเดินเข้าออกคุกตะรางเป็นว่าเล่น

กระนั้นก็ตาม เมื่อม็อบเสื้อแดงต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกระบวนการยุติธรรม

ดังเช่น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีที่แกนนำ นปช. 24 ราย ถูกจับกุมและฟ้องร้อง จากการจัดชุมนุมในช่วงต้นปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

โดยลงเอย ถูก ศอฉ.ใช้อำนาจใช้กำลังทหารและกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม มีกระสุนจริงปลิวว่อนตั้งแต่เดือนเมษายนต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 พร้อมกับจำนวนศพ 99 ศพ และแกนนำ นปช.ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีด้วยสารพัดข้อหาร้ายแรง

“ศาลเพิ่งมีคำพิพากษายกฟ้องแกนนำ 24 ราย พ้นผิดจากข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา รวมทั้งก่อการร้าย”

เนื้อหาของคำพิพากษา ทำให้ได้บทสรุปสำคัญหลายประการ

โดยเฉพาะเป้าหมายการเรียกร้องของม็อบ นปช.ต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นคือขอให้ยุบสภา นอกจากจะเป็นการต่อสู้โดยยึดแนวทางประชาธิปไตย คือให้คืนอำนาจให้ประชาชนมาตัดสินกันใหม่

“ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การก่อการร้าย!”

นอกจากนั้น คำพิพากษายังชี้ถึงการพิสูจน์พยานหลักฐานในประเด็นที่เคยเป็นวาทกรรมทำลายทางการเมือง

ทั้งยังได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการต่อสู้ของม็อบเสื้อแดง คือต่อสู้บนหลักประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร ต้องการการเมืองระบบเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นจุดต่างอย่างมากกับม็อบพันธมิตรฯ ที่ต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้ง ถึงขั้นปิดสนามบิน รวมไปถึงม็อบ กปปส. ที่ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลักบ้านเมืองเข้าทางตัน เท่ากับเปิดทางให้รถถัง คสช.

ม็อบฮ่องกง ม็อบเสื้อแดง ม็อบเสื้อเหลือง และม็อบนกหวีด มีความเหมือนและต่างกันเช่นนี้แหละ!