ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
ลักษณะของปรัชญา
คําว่า “ปรัชญา” นั้นมีต้นตอมาจากภาษากรีก ในความหมายด้านนิรุกติศาสตร์ หมายถึงความรักในความรู้
ในความหมายนี้ปรัชญาหมายถึงความรู้ในสาขาต่างๆ ทั้งหมด คือการแสวงหาใดๆ ก็ตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงแท้
แต่เนื่องจากในโลกนี้มีความรู้อยู่มากมายหลายด้าน นับวันก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนคนหนึ่งไม่สามารถศึกษาทุกอย่างได้
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการแบ่งงานกันหรือต้องมีความรู้เฉพาะในด้านหนึ่งด้านใด
เพราะฉะนั้น คนกลุ่มต่างๆ จึงอุทิศตนเพื่อปัญหาโดยเฉพาะต่างๆ กันหรือปัญหาที่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ บ้างเล็กน้อย
ดังนั้น จึงได้เกิดมีวิทยาการแขนงต่างๆ ขึ้น เช่น วิชาเคมี ฟิสิกส์ พฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ
ศาสตร์แต่ละแขนงนี้ศึกษาถึงส่วนหนึ่งหรือมุมหนึ่งของโลกหรือของธรรมชาติ
เมื่อเป็นดังนั้น ปรัชญาจึงเป็นการศึกษาถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งสูงสุดไว้ในสาขาของมันเอง เช่น ปัญหาในเรื่อง จากไหน ที่ไหน จะไปไหน ปัญหาเช่นนี้ได้รับกวนจิตใจมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มต้นที่มนุษย์มีความสำนึกถึงสติปัญญาที่จะคิดแล้ว ดังเช่นที่กวีเชลลีย์ (Chelley) ได้รจนาไว้ว่า
เรามาแต่เมื่อไร? เราคืออะไร?
ผู้แสดงและผู้ชมการแสดงมีบทบาทอะไรบ้าง?
ปัญหาเช่นนี้มิได้เกิดกับกวีเชลลีย์แต่ผู้เดียว แต่เป็นปัญหาที่มีอยู่ตลอดกาลของมนุษยชาติทั้งปวงและนี่แหละคือเนื้อหาสำคัญของปรัชญา
เมาลานาอซาด (Maulana Azad) ได้บรรยายถึงปรัชญาไว้อย่างงดงามในหนังสือ History of Philosophy : Eastern and Western เล่มหนึ่ง หน้า 1 ดังนี้
“กวีเปอร์เซียผู้หนึ่งได้เปรียบสากลจักรวาลไว้เหมือนกับต้นฉบับเก่าแก่อันหนึ่ง ซึ่งหน้าแรกกับหน้าสุดท้ายของมันขาดหายไป จึงไม่มีทางที่จะกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนั้นเริ่มต้นอย่างไรจะจบลงอย่างไร นับตั้งแต่มนุษย์บรรลุถึงความสำนึก เขาก็ได้พยายามเสาะหาหน้าที่ขาดไปนั้น การแสวงหาและผลของการแสวงหานี่แหละมีชื่อว่าปรัชญา ความมุ่งหมายของการแสวงหานี้ก็เพื่อหาความหมายของชีวิตและความมีอยู่ของชีวิตนั่นเอง”
ขอยกตัวอย่างปัญหาที่มีมนุษย์แสวงหาคำตอบอยู่เสมอสักบางข้อ คือ
โลกนี้มาจากไหน?
มนุษย์เรามาจากไหน?
โลกที่เราอยู่นี้มีธรรมชาติเป็นอย่างไร?
จิตใจคืออะไร?
วัตถุกับจิตใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
ผู้สร้างโลกนี้มีหรือไม่?
ถ้ามีธรรมชาติของผู้สร้างโลกเป็นอย่างไร?
วัตถุกับจิตใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
เราควรจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร? ฯลฯ
ในปัจจุบันนี้การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหลายปัญหา ของปรัชญานั้นเป็นเนื้อหาของศาสตร์เฉพาะบางอย่าง
เดี๋ยวนี้ปรัชญาขึ้นอยู่กับรายงานการสอบสวนค้นคว้าของศาสตร์เหล่านั้น แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจความหมายของรายงานเหล่านั้นเป็นอย่างมาก แล้วจึงใช้ผลเหล่านี้เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติทั่วไปของสากลจักรวาลคือมนุษย์ ธรรมชาติ พระเจ้าและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้
ปรัชญาตะวันตกประกอบด้วยสาขาสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ อภิปรัชญา ปรัชญาว่าด้วยสมุฏฐาน ลักษณะของขอบเขตแห่งความรู้ ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ อภิปรัชญาหรือปรัชญาทั่วไปนั้นกล่าวถึง ปัญหาทั่วไปที่เกี่ยวกับความเป็นจริงของมนุษย์ ธรรมชาติและพระเจ้า ปรัชญาความรู้หรือทฤษฎีความรู้นั้นสืบหาธรรมชาติของความรู้ของมนุษย์ ต้นตอและขอบเขตจำกัดของมัน
ส่วนตรรกวิทยา นั้นกล่าวถึงปัญหาในเรื่องศีลธรรมจรรยา ในขณะที่สุนทรียศาสตร์ก็เกี่ยวกับปัญหาเรื่องความงาม
พัฒนาการอันหลังอีกอันหนึ่งของปรัชญาเรียกว่า Axidogy ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องค่านิยม ในบางครั้งก็ถือว่าสังคมวิทยาเป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์ ส่วนจิตวิทยานั้น นับเป็นส่วนที่สำคัญมากของปรัชญามานานแล้ว แต่แนวโน้มในปัจจุบันถือว่ามันเป็นศาสตร์เฉพาะแขนงหนึ่ง ซึ่งไม่พึ่งพาปรัชญา
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้เราอาจเห็นได้ว่าคำว่าปรัชญานั้นอาจแยกได้ตามความหมายเป็น 3 แบบด้วยกัน
ในความหมายที่กว้างขวางที่สุดนั้นปรัชญาหมายถึงความรู้ทั้งปวงคือความรู้ในสาขาต่างๆ ในความหมายปกติปัจจุบันนี้
นอกจากทฤษฎีแห่งความเป็นจริงแล้วมันก็ประกอบด้วยศาสตร์ต่างๆ อีกอย่างเช่น ปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ เป็นต้น
ส่วนในความหมายที่เข้มงวดที่สุดนั้นปรัชญาก็หมายถึงทฤษฎีแห่งความเป็นจริง คืออภิปรัชญาเท่านั้น
วิธีการของปรัชญาคือแหล่งที่ปรัชญาพยายามตอบคำถามต่างๆ โดยใช้สติปัญญา เหตุผลความคิดใคร่ครวญที่มีเหตุผล
แต่ในบางครั้งก็มีความสงสัยในความสามารถของเหตุผลในการตอบปัญหาที่มีอยู่เสมอในหัวใจของมนุษย์
เพื่อให้บรรลุถึงความจริง นักปรัชญาบางคน เช่น เบอร์กสัน (H.Bergson) และแบรดเลย์ (F.H.Bradley) ได้ละทิ้งเหตุผลเสียโดยสิ้นเชิงไปยึดถือเอาญาณวิสัย (Intuition) และความรู้สึกในทันทีเข้ามาแทนที่
ลักษณะของศาสนา
นักประวัติศาสตร์ด้านปรัชญาศาสนาได้ให้คำนิยามศาสนาไว้ต่างๆ กัน บางท่านก็ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธา
บางท่านก็กล่าวว่าศาสนาเป็นเรื่องของความรู้สึก
ส่วนบางท่านก็เชื่อว่าศาสนาประกอบด้วยพิธีการและการปฏิบัติเท่านั้น คือมุ่งในด้านกิจกรรม ในคำนิยามเหล่านี้ก็มีส่วนของความจริงอยู่เหมือนกัน
นั่นคือศาสนานั้นประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความศรัทธา ความรู้สึก และกิจกรรม
ศาสนามิใช่เป็นเพียงความเชื่อหรือความศรัทธาเท่านั้น ยังมีการสนองตอบทางอารมณ์และปฏิบัติตามความรู้สึกต่อความจริงอันนั้นด้วย
กัลโลเวย์ (Galloway) ในหนังสือ Philosophy of Religion กล่าวว่า คำจำกัดความแบบกว้างๆ ของคำว่า “ศาสนา” ก็คือ “ความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์ ที่มีต่ออำนาจซึ่งอยู่เหนือไปจากตัวเขาเองอันเป็นแหล่งที่เขาแสวงหาเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นทางด้านอารมณ์ และหาความมั่นคงต่อชีวิต ซึ่งเขากระทำการสักการบูชา”
ดังนั้น ศาสนาถามคำถามที่มีอยู่ตลอดกาลในหัวใจของมนุษย์เช่นเดียวกับปรัชญา
นั่นคือเหตุผลและที่มีของสิ่งต่างๆ แต่มีวิธีการที่แตกต่างกัน
ดังที่กล่าวมาแล้ว ปรัชญาจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้โดยอาศัยความช่วยเหลือของสติปัญญาและเหตุผล
แต่ศาสนาจะตอบคำถามเหล่านั้นโดยอาศัยความศรัทธาและญาณวิสัยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อกล่าวเช่นนี้ขออย่าได้ทึกทักเอาว่าในศาสนานั้นไม่มีเหตุผล
ศาสนาที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีที่ว่างสำหรับเหตุผลให้พอเพียงทีเดียว มนุษย์จะแลเห็นความจริงแท้ได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเขาใช้ทั้งเหตุผล ความศรัทธาสติปัญญา และญาณวิสัย เขาจึงจะได้ความรู้ทางปรัชญามาได้
อิสลามในฐานะที่เป็นศาสนา
อิสลามได้อ้างว่ามิใช่ศาสนาใหม่ แต่เป็นศาสนาแห่งสากลจักรวาลมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีความสำนึก
คำว่าอิสลามนั้นมาจากรากศัพท์ภาษาหรับว่า “อัลสิลม์” ซึ่งหมายถึงความสงบสุขหรือการยอมจำนนดังนั้นในด้านนิรุกติศาสตร์อิสลามจึงหมายถึงการยอมจำนนตนเองต่อพระเจ้าเพื่อจะได้บรรลุถึงความสงบสุข
แต่การยอมจำนนนี้มิใช่การยอมแพ้อย่างนิ่งเฉยแต่ประการใดไม่ หากแต่เป็นการยอมจำนนอย่างมีความเคลื่อนไหวและต่อสู้ดิ้นรน เพราะการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นจึงจะบรรลุถึงความสงบสุขได้
อิสลามไม่ใช่ความเชื่อแต่อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นวิถีทางของชีวิตเอาเลยทีเดียว อิสลามคือศาสนาของการกระทำที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้องและการพูดจาที่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นจากความรักในพระเจ้า ความเมตตาปรานีต่อคนทั่วโลก และคุณภาพของมนุษย์ในสายตาของพระผู้อภิบาล
หลักสำคัญของศาสนาอิสลามก็คือสูตรที่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์มุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์”
ผู้ที่จะเป็นมุสลิมนั้นจะต้องเชื่อในสูตรนี้อย่างเต็มที่และกระทำสิ่งใดๆ ไปตามความเชื่อนี้
นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ผู้ที่เชื่อเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดในสูตรนี้ก็คือมุสลิมแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งสองส่วน
แต่ในทรรศนะของอิสลามนั้น ความเชื่อเช่นนั้นไม่ถูกต้อง
พระคัมภีร์อันประเสริฐที่ได้รับการเปิดเผยให้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัดเรียกว่า อัล-กุรอาน (Al-Qur”an)
อัล-กุรอานเป็นรากฐานของอิสลาม คำสอนในอัล-กุรอานนั้นท่านศาสดาเป็นผู้อธิบายด้วยตัวท่านเองโดยอาศัยคำพูด การกระทำและการเห็นด้วยของท่าน
ข้อรวบรวมสิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าอัล-หะดีษ (Al-Hadith)
ดังนั้น อัล-กุรอาน และ อัล-หะดีษ จึงเป็นข้อกำหนดและคำอธิบายถึงหน้าที่ของผู้เป็นมุสลิม คือผู้ยึดถือศาสนาอิสลามนั่นเอง