วิเคราะห์ : วิกฤตโลกในห้วง 2 ทศวรรษ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ในห้วงเวลา 2 เดือนของปีนี้ มีข่าวปรากฏการณ์ทางธรรมชาติใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 ครั้งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์พากันตื่นตะลึงอีกแล้ว ปรากฏการณ์แรกได้แก่ธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือละลายจนกลายเป็นน้ำโคลน 2.ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลาย และ 3.คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมทวีปยุโรป

เหตุที่นักวิทยาศาสตร์ตื่นตะลึงเพราะเมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิที่สถานีตรวจวัดอากาศอยู่จุดสูงสุดของเกาะกรีนแลนด์มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำลายสถิติเดิม

ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3 สิงหาคม นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ปริมาณแผ่นน้ำแข็งละลายเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นคิดเป็นน้ำหนักมากถึง 55,000 ล้านตัน

เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2534-2553 ปริมาณน้ำแข็งละลายแค่ 15 ล้านตันเท่านั้น

จากการตรวจวัดพื้นที่ธารน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์ที่ละลายในช่วงศตวรรษนี้มีมากกว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร

ใหญ่พอๆ กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเรา

 

ปรากฏการณ์ธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลาย ถือเป็นเหตุน่าตะลึงครั้งที่ 3 ในรอบ 700 ปี

ส่วนธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่ดาวเทียมของสหรัฐถ่ายภาพเก็บไว้ตลอดช่วง 4 ทศวรรษ พบว่าละลายไปแล้วราว 1 ใน 4 ของพื้นที่ธารน้ำแข็งทั้งหมด

น้ำแข็งละลาย ประเมินว่าราว 8,000 ล้านตัน และจุดที่ละลายก็ไม่มีหิมะตกมาเติมเต็มเหมือนเก่า

การตรวจวัดความสูงของหิมะที่ตกลงมาบนหิมาลัยซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงสุดในโลกมีปริมาณลดลงปีละ 5 เมตร

ขณะที่คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำลายสถิติร้อนที่สุดของเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม

นักวิทยาศาสตร์หลายคนจับปรากฏการณ์เหล่านี้มาประมวลจนเป็นข้อสรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่มาจากฝีมือของคนทั้งโลกร่วมกันปล่อยก๊าซพิษทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

ปริมาณก๊าซพิษที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกช่วง 2 ศตวรรษนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นแรงขับให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันมากกว่าในอดีตกาล

ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงสรุปด้วยความมั่นใจ?

 

ก็ด้วยเหตุผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การวิเคราะห์ประมวลผลที่เก็บจากสถานีตรวจสอบสภาพอากาศทั่วโลกชนิดเรียลไทม์ จากข้อมูลดาวเทียมตรวจสอบแรงดันและความชื้นในชั้นบรรยากาศ จากอุณหภูมิและข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ใต้ผืนน้ำจึงมีความแม่นยำเที่ยงตรง

เมื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบโดยใช้รูปแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ระหว่างชั้นบรรยากาศที่มีการปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอดีตก่อนศตวรรษที่ 18 กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้พายุฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมและภัยแล้งเพิ่มระดับรุนแรง

สำนักข่าวบีบีซีอ้างรายงานการวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารทางวิทยาศาสตร์ 2 ฉบับ ได้แก่ วารสารเนเจอร์ (Nature) และเนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ (Nature Geoscience) ระบุว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงผันผวนของอุณหภูมิโลกในปัจจุบัน สูงกว่าสถิติในประวัติศาสตร์ที่เคยมีการเก็บข้อมูลกันมาอย่างมาก โดยมีความรุนแรงยิ่งกว่า “ยุคน้ำแข็งน้อย” (Little Ice Age)

คณะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลการศึกษานี้หักล้างข้อสงสัยที่มีมานานเรื่องภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ไม่มีอยู่จริง

 

แต่คนไม่เห็นด้วยกับเรื่องโลกร้อน อ้างว่าเป็นเพียงวัฏจักรของการเพิ่มและลดของอุณหภูมิตามธรรมชาติ

ในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกตลอดช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ภูมิอากาศผันผวนอย่างรุนแรงรวมอยู่ด้วยหลายครั้ง เช่น ภาวะอากาศร้อนยุคโรมัน (Roman Warm Period) ระหว่างคริสต์ศักราช 250-400 ทั่วยุโรปมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ไปจนถึงยุคน้ำแข็งน้อยที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 ทำให้อุณหภูมิในหลายพื้นที่ของโลกลดต่ำลงอย่างยาวนานติดต่อกันหลายร้อยปี

หลักฐานบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิในอดีตกว่า 700 ชิ้น รวมถึงวงปีของต้นไม้ แนวปะการัง และดินตะกอนก้นทะเลสาบจากแหล่งต่างๆ ไม่มีปรากฏการณ์ที่อากาศร้อนขึ้นหรือหนาวเย็นลงครั้งใดจะมีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วทั้งโลกได้เท่ากับภาวะโลกร้อนที่เริ่มเกิดขึ้นนับแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้นมา

คณะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ยุคที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา มีผลต่อเนื่องกับช่วงศตวรรษที่ 20 ทำให้ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 98% ทั่วโลก

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งอื่นๆ ไม่เคยส่งผลกระทบถึง 50% ของพื้นที่โลกทั้งใบในแต่ละครั้ง

 

ผลวิจัยสรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือของชาวโลกวันนี้มีความรุนแรงสูงกว่าและแตกต่างจากเหตุการณ์ภูมิอากาศผันผวนในอดีตอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างยุคน้ำแข็งน้อยนั้นมีความรุนแรงสูงสุดในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนช่วงศตวรรษที่ 15

ในยุโรปเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งห่างกันถึง 300 ปี

เหตุการณ์ “ภาวะอากาศร้อนยุคกลาง” (Medieval Warm Period) ในช่วงคริสต์ศักราช 950-1250 ครอบคลุมพื้นที่เพียง 40% ของโลกเท่านั้น

ดร.ราฟาเอล นิวคอม หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์นแห่งสวิตเซอร์แลนด์อธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟครั้งรุนแรง

ถือเป็นเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ใช่เป็นวัฏจักรที่กำหนดแน่นอน

ทีมผู้วิจัยยังไม่พบข้อมูลที่ชี้ว่า ความผันผวนของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ในอดีตซึ่งเป็นวงจรตามธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแต่อย่างใด

“ดังนั้น ความเห็นของบางฝ่ายที่ระบุว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเป็นเพียงวงจรตามธรรมชาติที่เราไม่ควรต้องไปวิตกกังวล จึงถือเป็นข้ออ้างเลื่อนลอยที่ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับอย่างเพียงพอ” ดร.นิวคอมกล่าว

 

นอกจากปรากฏการณ์ทั้ง 3 ครั้งที่กล่าวมา ยังมีการรวมตัวแสดงความอาลัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ Okj?kull ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายจนไม่มีสภาพเป็นธารน้ำแข็งหรือกลาเซียร์มาตั้งแต่ปี 2557

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังติดป้ายประกาศรำลึกถึงความสูญเสียของธารน้ำแข็งแห่งนี้ พร้อมกับบันทึกในตอนท้ายของแผ่นรำลึกว่า “415 ppm CO2”

415 ppm CO2 หมายถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นักวิทยาศาสตร์คำนวณจากความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อต้นปีนี้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในอีก 200 ปีข้างหน้า กลาเซียร์อื่นๆ บนผืนโลกใบนี้จะไม่มีสภาพเป็นกลาเซียร์เหมือน Okj?kull

การละลายของธารน้ำแข็งทั้งที่ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ หรือบนยอดหิมาลัยก็ดี ล้วนส่งผลกระทบด้านลบกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย

คราวหน้ามาว่ากันต่อ