เพ็ญสุภา สุขคตะ : จุดเริ่มต้นตำนาน-ความเชื่อของพระนอน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระพุทธรูปที่ทำท่า “เอนพระวรกายตะแคงขวาแบบสีหไสยาสน์” หรือเรียกด้วยภาษาชาวบ้านว่า “พระนอน” นั้น มีพัฒนาการในการให้คำนิยามหรืออธิบายความหมายมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นจากในอินเดียถือว่าเป็น “ปางปรินิพพาน” ทั้งหมด

ผ่านเข้าสู่ลัทธิลังกาวงศ์ในสมัยสุโขทัยเริ่มเรียก “ปางสีหไสยาสน์” คือประทับพักผ่อนอิริยาบถบรรทมหลับธรรมดา (ยังไม่สิ้นพระชนม์)

โดยตีความว่า หากเป็นปางปรินิพพานต้องหันพระพักตร์-พระเศียรไปทางทิศอวมงคล ส่วนสีหไสยาสน์ต้องหันตรงกันข้ามกลับสู่อีกทิศ

รวมทั้งการทำพระบาทเหลื่อม-ไม่เหลื่อม ตามแนวคิดที่ว่าผู้วายชนม์ไม่สามารถคุมสรีระได้ ส่วนผู้ที่ยังมีชีวิตย่อมกำหนดสติให้พระบาทเสมอกันได้แม้ยามนอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ยังเป็นประเด็นโต้แย้งกันอยู่ และไม่มีข้อยุติ

ต่อมา เริ่มมีการตีความใหม่เพิ่มว่า พระนอนในบางครั้งยังอาจหมายถึง “ปางโปรดอสุรินทราหู” อีกด้วย

สำหรับวัฒนธรรมล้านนา พบว่ามีการสร้างพระนอนขนาดใหญ่หลายองค์ในสมัยอาณาจักรล้านนา (ประมาณ 500-700 ปีที่ผ่านมา) บางองค์หากอยู่ในวัดสำคัญระดับวัดหลวงที่มีพระพุทธปฏิมาองค์อื่นเป็นประธานอยู่แล้วก็จะเรียกแค่ “พระนอน” เฉยๆ ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ อาทิ พระนอนที่วัดพระสิงห์ พระนอนที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ หรือพระนอนที่วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง เป็นต้น

แต่สำหรับบางวัด ที่ตั้งใจสร้างให้พระนอนเป็นพระประธานหลักของวัด ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก มักมีชื่อเรียกเฉพาะให้แก่พระนอนนั้นโดยตรง แถมมีประวัติความเป็นมาเฉพาะ ซ้ำไม่มีความเกี่ยวข้องกับปางปรินิพพาน สีหไสยาสน์ อสุรินทราหู แต่อย่างใดเลย

อาทิ พระนอนขอนม่วง ถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับขอนไม้ที่ผุพัง หรือพระนอนป้านปิง (ต่อมาเรียกพระนอนหนองผึ้ง) ก็เชื่อมโยงไปถึงการสร้างพระพุทธรูปเพื่อขวางเส้นทางไหลของแม่น้ำปิงให้เปลี่ยนทิศ เป็นต้น

สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การให้คำนิยามและความหมายต่อพระนอนในล้านนาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่ เป็นการมาบัญญัติขึ้นภายหลัง หรือเป็นเจตนาดั้งเดิมที่เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งชื่อเรียกให้แล้วแต่ครั้งแรกสร้างพระปฏิมา

 

คนเป็นนอนหันหัวไปทิศใต้
คนตายนอนหันหัวไปทิศเหนือ

ความหมายแรกสุดที่ชาวพุทธอินเดียกำหนดเรียกพระนอนในประเทศต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ก็คือหมายถึง “ปางปรินิพพาน” เท่านั้น โดยให้นิยามเช่นนี้มาตั้งแต่ยุคแรกสุดที่มีการสร้างพระพุทธรูป (สมัยคันธาระ พุทธศตวรรษที่ 6-7) จนถึงยุคหลังสุด (ราชวงศ์ปาละ พุทธศตวรรษที่ 14-18)

ปางปรินิพพานถือเป็น 1 ใน 4 ปางหลัก นอกเหนือไปจากปางประสูติ ตรัสรู้ และแสดงธรรม

มหาปรินิพพานสูตร ในสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่าเหตุการณ์ช่วงที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

“พระพุทธเจ้าเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดี ไปยังสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ตรัสให้พระอานนท์ตั้งเตียงไว้ระหว่างไม้สาละ 2 ต้น จากนั้นจึงประทับสีหไสยาสน์ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก”

ข้อความดังกล่าวนี้ได้รับการตีความตามคติความเชื่อของคนอินเดียและอุษาคเนย์ว่า

“คนเป็นนอนหันหัวไปทิศใต้ – คนตายนอนหันหัวไปทิศเหนือ”

เรื่องนี้ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายในหนังสือ “สังเวชนียสถาน” ว่า

“ประเพณีอินเดียเชื่อว่าขณะนอนหลับ ควรหันศีรษะไปทางทิศใต้ เพราะเมื่อลุกขึ้นจะได้หันหน้าเข้าหาเขาพระสุเมรุ ส่วนทิศตรงข้ามคือทิศเหนือ ถือเป็นทิศอัปมงคลสำหรับการนอน ไม่ควรหันศีรษะทิศนั้น เนื่องจากเมื่อลุกขึ้นมาแล้วใบหน้าจะหันไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่พระยม เทพแห่งความตายประทับอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดให้คนตายหันศีรษะไปทิศเหนือ

ดังนั้น การที่พระพุทธรูปปางปรินิพพานหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ก็เพื่อสื่อถึงความตาย พระพักตร์ที่ตะแคงเข้าหาทิศตะวันตกก็เป็นการหันไปทางทิศที่เกี่ยวข้องกับความตายเช่นกัน ความเชื่อเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในจารึกสมัยสุโขทัยด้วย โดยเรียกทิศเหนือว่า ทิศเบื้องตีนนอน และเรียกทิศใต้ว่า ทิศเบื้องหัวนอน”

ถ้าเช่นนั้นพระนอนยุคแรกๆ ในประเทศไทย คือสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ที่พบกระจายอยู่หลายภูมิภาค โดยเฉพาะทางภาคอีสานพบมากที่สุดแถบขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างพระนอนขนาดใหญ่บนผนังถ้ำนั้น ย่อมเป็นองค์แทนของปางมหาปรินิพพานด้วยเช่นเดียวกัน เพราะยังไม่มีคติอื่น

ที่ลำพูนพบพระนอนยุคหริภุญไชยซึ่งร่วมสมัยกับทวารวดีบ้างไม่มากนัก อย่างน้อย 2 องค์ (คือภาพประกอบในที่นี้) องค์แรกเหลือพระเศียรที่แตกหักเพียงครึ่งเดียวทำจากหินชนวนขัดมัน พบที่ใต้ฐานเสาธงโรงเรียนบ้านเวียงยอง (เดิมเป็นวัดดอนแก้ว)

อีกองค์หนึ่งทำด้วยดินเผาขนาดเล็ก องค์พระประทับนอนบนฐานเหลี่ยมเป็นสัน ในส่วนของจีวรตกแต่งเส้นริ้วขนาดใหญ่ นักวิชาการหลายท่านเห็นว่ามีความเก่าแก่มาก น่าจะเชื่อมโยงกับศิลปะสมัยอมราวดีทางตอนใต้ของอินเดียได้อีกด้วย

 

คติ 4 อิริยาบถ แห่งลัทธิลังกาวงศ์

ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การสร้างพระนอนในสยามเริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการหันพระเศียรไปทิศเหนือ-หันพระพักตร์ไปทิศตะวันตก กลายมาเป็นการหันพระเศียรไปทิศใต้-หันพระพักตร์ไปทิศตะวันออกแทน อีกทั้งยังเปลี่ยนการตีความใหม่จาก “ปางปรินิพพาน” 1 ใน 4 ปางหลัก มาเป็นปางประทับพักผ่อนธรรมดา 1 ใน 4 อิริยาบถอีกด้วย

หลักฐานยืนยันความสนใจของคนสุโขทัยและล้านนาต่อเรื่อง “พุทธอิริยาบถ” ปรากฏในตำนานมูลศาสนา ฉบับวัดสวนดอก เชียงใหม่ เขียนขึ้นโดยพระพุทธ (พุ) กามกับพระพุทธญาณ ในยุคที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยขึ้นมาเผยแผ่ในล้านนาว่า

“ในกาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าอาศัยซึ่งเมืองพาราณสีเป็นที่โคจรคาม ทรงสำราญอิริยาบถทั้ง 4 ในป่าอิสิปตนะกับด้วยอาริยสงฆ์…”

ตำนานจามเทวีวงศ์ ของพระโพธิรังสีซึ่งแต่งก่อนหน้ามูลศาสนาเล็กน้อย ได้พรรณนาข้อความคล้ายคลึงกันว่า

“อิริยาบถทั้ง 4 ประการของพระพุทธองค์ก็คือ การนั่ง การนอน การยืน การเดิน นั่นแล”

พระอรรถกถาแห่งพระกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ 2 ในสุตตันตปิฎก กล่าวถึงการสำราญพระอิริยาบถ 4 ของพระพุทธองค์ไว้ ดังนี้

“หลังจาก ทรงยืน บนตั่งรองพระบาท เพื่อพักพระบาทหลังจากที่ทรงภิกขาจารโปรดสัตว์เป็นระยะทางไกลแล้ว หากมีพุทธประสงค์ ก็จะทรงกระทำ สีหไสยา คือลงนอนตะแคงข้างขวาสักครู่ เมื่อทรงหายจากพระอาการอ่อนเพลียแล้ว หลังเที่ยงคืนจะ เดินจงกรม เพื่อคลายความเมื่อยล้าจากการประทับนั่งมานาน ก่อนอรุณรุ่งทรงลุกขึ้น ประทับนั่ง รอเวลาให้รุ่งแจ้งก่อน แล้วเสด็จภิกขาจารโปรดสัตว์ต่อไป”

ดังนั้น การทำพระพุทธปฏิมาแบบพระนอนในยุคสุโขทัย จึงเป็นการเปลี่ยนความหมายใหม่จากปางปรินิพพาน มาเป็นปางสีหไสยาสน์ 1 ใน 4 อิริยาบถ ซึ่งจุดกำเนิดแนวคิดนี้มีมาแล้วในศิลปะลังกายุคโปลนนารุวะ

 

ปางโปรดอสุรินทราหู
และพระพุทธรูปประจำวันเกิด

เมื่อผ่านมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลายและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มมีการขยาย “รูปแบบปาง” ของงานพุทธศิลป์เพิ่มมากขึ้น โดยแตกแขนงกิ่งก้าน จากนั่ง นอน ยืน เดิน 4 อิริยาบถหลัก ไปเป็นปางต่างๆ อีกมากมาย

เฉพาะพระนอน ก็มีการเพิ่มปางโปรดอสุรินทราหู ปางพยากรณ์พระอานนท์ ปางโปรดสุภัททะปริพาชก รวมกับ 2 ปางเดิมคือ ปางปรินิพพาน กับปางสีหไสยาสน์

ปางพยากรณ์มีการยกพระหัตถ์ขวามาแตะพระโสณี (สะโพก) ซ้าย ปางโปรดสุภัททะ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นมาที่บั้นพระองค์ (เอว) และพระพักตร์ก้มมองดูสุภัททะ ทั้งสองปางนี้พระเศียรต้องหนุนพระเขนย (หมอน) เพราะพระหัตถ์ขวาใช้นำมาจับสรีระส่วนอื่นแล้ว

ปางที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้พบเห็นมากที่สุดก็คือ ปางโปรดอสุรินทราหู เพราะไม่มีความแตกต่างแต่ประการใดเลยกับปางปรินิพพาน หรือปางสีหไสยาสน์

กล่าวคือ ยังคงยกพระพาหาขวารองรับพระเศียร (แบบหักข้อศอกสูง) และพระพาหาซ้ายเหยียดตรงแนบไปตามพระวรกาย พระบาทเสมอกันไม่เหลื่อมซ้อน ทำให้เวลาที่จะต้องบรรยายว่าพระนอนองค์ไหนคือปางอะไร ระหว่างปางสีหไสยาสน์ กับปางโปรดอสุรินทราหู จำเป็นต้องดูบริบทแวดล้อมประกอบกันด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ที่มาของปางโปรด (หรือบางครั้งใช้คำว่า “ปราบ”) อสุรินทราหู นั้น ปรากฏในคำบรรยายพระพุทธรูปปางต่างๆ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มหาปราชญ์มหากวีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ได้เขียนรวบรวมไว้ โดยบอกว่าปางนี้เกิดขึ้นตอนที่พระพุทธองค์ประทับในเวฬุวันมหาวิหารใกล้กรุงราชคฤห์ นำมาขยายความว่า

ครั้งนั้นบังเกิดจันทรุปราคาคราวหนึ่ง และเกิดสุริยุปราคาอีกคราวหนึ่ง ทั้งนี้เกิดจากอสุรินทราหู อุปราชของท้าวเวปจิตติสุรบดินทร์ (บางตำนานเขียนว่า “ท้าวเวสกิตติอสุรบดินทร์”) ผู้ครองอสุรภพ คุกคามจับพระจันทร์กับพระอาทิตย์ แต่ละคราวพระพุทธองค์ต้องตรัสพระคาถาโปรดอสุรินทราหู อสุรินทราหูจึงยอมปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์ และยอมลดทิฐิมานะหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

แล้วเหตุการณ์นี้เกี่ยวอะไรกับพระนอนด้วยเล่า

ตอนที่อสุรินทราหูได้ข่าวว่าพระพุทธองค์ประทับที่เวฬุวันมหาวิหาร ก็ต้องการลองวิชา โดยเยาะเย้ยผ่านพระอานนท์ว่าพระพุทธองค์ตัวเล็กนิดเดียว แต่ตนเองนั้นตัวใหญ่มาก ครั้นจะเข้าไปกราบไหว้เหมือนคนอื่นๆ ก็คงไม่เป็นการสมควร

เมื่อพระพุทธองค์ทราบดังนั้น จึงเนรมิตร่างให้ใหญ่โต บอกให้พระอานนท์ไปเชิญอสุรินทราหูมาพบ อสุรินทราหูเห็นว่า นี่ขนาดพระพุทธเจ้าเอนกายประทับนอน พระวรกายยังใหญ่โตกว่าตน ก็รู้สึกตกใจ จึงยอมยอบกายลง ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรม

แต่พระพุทธเจ้าไม่บวชให้ เพราะอสุรินทราหูไม่ใช่มนุษย์ หลังจากนั้นมาก็เลิกนิสัยจับพระจันทร์และพระอาทิตย์เล่นอีก

ดังนั้น พระนอนองค์โตขนาดมหึมา ที่สร้างขึ้นแถบภาคกลางแถวอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ในสมัยอยุธยาจำนวนมากนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลป์จึงตีความว่า เริ่มมีคติของการปราบอสุรินทราหูเข้ามาปะปนบ้างแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่า “พระนอน” กลายมาเป็นพระประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคารได้อย่างไร แทบไม่พบหลักฐานคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากตำราเล่มใดเลย ว่าใช้ตรรกะอย่างไรในการคัดเลือกความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่าง “ปาง” กับ “วันทั้ง 7” (หากนับพุธกลางคืนด้วยก็รวมเป็น 8 วัน)

มีแต่ข้อสันนิษฐานของผู้รู้บางท่านที่เชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะพระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอนั่นเอง ดังนั้น มูลเหตุแห่งการนำเอาพระพุทธไสยาสน์มาเป็นพระประจำวันอังคารก็น่าจะเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องนี้กระมัง

สัปดาห์หน้า จะกล่าวถึง “พระนอนขอนม่วง” กับ “พระนอนป้านปิง” ที่ชาวล้านนาไม่เคยมองว่านี่คือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าปางปรินิพพานเลย หรือแม้แต่จะมองเป็นปางสีหไสยาสน์ธรรมดา 1 ใน 4 อิริยาบถ ยิ่งถ้าจะให้ไปเรียก “ปางโปรดอสุรินทราหู” ตามขนบภาคกลาง ก็ยิ่งห่างไกลจากการรับรู้ของคนพื้นถิ่นไปกันใหญ่