รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/Flyboard บินฉลุย จากฝรั่งเศสไปอังกฤษ เหาะเหินเดินอากาศด้วยเครื่องร่อน

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

Flyboard บินฉลุย

จากฝรั่งเศสไปอังกฤษ

เหาะเหินเดินอากาศด้วยเครื่องร่อน

 

แฟรงกี้ ซาปาตา (Franky Zapata) นักประดิษฐ์หนุ่มชาวฝรั่งเศส ที่สร้างความฮือฮา ใช้ ‘ฟลายบอร์ดแอร์’ (Flyboard Air) หรือ hoverboard พลังไอพ่นสำหรับบิน

ด้วยซาปาตามีความฝันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือการโบยบิน และนี่คือแรงผลักดันที่ทำให้เขาผลิตสินค้าตัวใหม่ๆ ออกมาเสมอ เพื่อทำตามความฝัน

ซาปาตาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ZapataTM หรือ Zapata Racing ผู้พัฒนาอุปกรณ์ไฮโดรไฟลต์และฟลายบอร์ดแอร์ กล่าวว่า ฟลายบอร์ดแอร์มีศักยภาพที่จะบินขึ้นสูงและทำความเร็วสูงถึง 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยบินได้เป็นเวลา 10 นาที เขาใช้เวลาพัฒนานาน 3 ปี เพื่อจะเหาะข้ามช่องแคบ

Flyboard Air ขับเคลื่อนด้วยไมโครเทอร์โบเจ๊ต 5 ตัว ใช้น้ำมันก๊าดจากถังที่กระเป๋าเป้สะพายหลังคนขี่ สามารถแบกมาได้ในแต่ละครั้งอยู่ที่ 42 ลิตร น้ำหนัก 35 กิโลกรัม โดยเครื่องยนต์กังหันมีอัตราส่วนพลังงานรับน้ำหนักได้ถึง 10 เท่า และแม้เทอร์โบจะหยุดทำงานไปตัวหนึ่งก็ยังทำงานต่อไปได้

แต่ถ้าเทอร์โบ 2 ตัวหยุดทำงาน เครื่องจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ

การออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ที่ไม่เคยผ่านการเรียนขับเครื่องบินมาก่อน โดยการบังคับเครื่องมีระบบเชื่อมต่อแบบสาย 2 ระบบ และระบบแบ๊กอัพแบบไร้สายอีกหนึ่งระบบ

และสามารถสลัดตัวจากบู๊ตได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มีการลงจอดฉุกเฉินในน้ำ

 

Flyboard Air ไม่ใช่แค่นำไปเหาะเล่นในเชิงสันทนาการ แต่ยังมีประโยชน์ด้านการเป็นแพลตฟอร์มในการซ่อมแซมโครงสร้างที่มีความสูง หรือตรวจสอบโครงสร้าง ใช้เป็นพาหนะเดินทางของทีมแพทย์ฉุกเฉินก็ได้ หรืออาจจะใช้ในภารกิจการทหาร

โดยก่อนหน้านี้เขาสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เจ้าตัวได้บินฟลายบอร์ดในระหว่างพิธีสวนสนามเนื่องในวันบัสตีย์หรือวันชาติของฝรั่งเศสในกรุงปารีส ซึ่งเขาใช้ฮัฟเวอร์บอร์ดของเขาขึ้นบินแสดงต่อหน้าผู้ชมรวมทั้งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสด้วย

จนเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก

 

ความพยายามของซาปาตาที่บินข้ามช่องแคบอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับครบรอบ 110 ปี การบินข้ามช่องแคบอังกฤษด้วยเครื่องบินเป็นครั้งแรกของนายหลุยส์ เบลริโอ นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส แต่ครั้งนี้ซาปาตาไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อร่างของเขาหล่นลงในทะเลเสียก่อน ขณะร่อนลงจอดบนเรือกลางช่องแคบเพื่อเติมเชื้อเพลิง ทำให้ต้องยกเลิกการทำสถิติกลางคัน

หนึ่งในทีมเทคนิคของซาปาตา กล่าวด้วยความผิดหวัง พร้อมกับเผยว่า เราฝึกซ้อมนำฟลายบอร์ดแอร์ลงจอดบนเรือนับสิบๆ ครั้ง ในทะเลที่คลื่นลมแรงกว่านี้ และเรือเคลื่อนไป-มามากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่เคยเกิดปัญหาผิดพลาดเลย

สำหรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ไอพ่นขนาดเล็ก 5 เครื่องของฟลายบอร์ดแอร์นั้นเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยากที่สุด เนื่องจากแท่นที่จะลงจอดบนเรือนั้นมีขนาดเพียงแค่ 1 ตารางเมตรเท่านั้น ในขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงที่ซาปาตาสามารถแบกมาได้ในแต่ละครั้งก่อนลงจอดอยู่ที่ปริมาณ 42 ลิตร ซึ่งใช้ได้เพียงแค่ครึ่งทางของช่องแคบอังกฤษเท่านั้น

การตกทะเลครั้งแรกทำให้ทีมงานของซาปาตาต้องเร่งรีบซ่อมเครื่องร่อน hoverboard หรือที่เขาตั้งชื่อว่า Flyboard Air ตัวนี้แข่งกับเวลา และทีมงานยังเตือนถึงความเสี่ยงด้วยว่าอาจมีปัญหาขัดข้องเกิดขึ้นได้ การพัฒนาฟลายบอร์ดของเขานานถึง 3 ปี

และเขาต้องสูญเสียนิ้ว 2 นิ้วที่โดนใบพัดตัดขาด https://youtu.be/se3Thdpp8Pw?t=2646

 

หลังไม่ยอมแพ้ให้กับความล้มเหลวในการทดสอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายแฟรงกี้ ซาปาตา นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส อายุ 40 ปี ทดสอบการเหาะเหินเดินอากาศด้วยกระดานเครื่องร่อน หรือฮัฟเวอร์บอร์ด หรือฟลายบอร์ด ข้ามช่องแคบจากเมืองซองกัตต์ตอนเหนือของฝรั่งเศส ไปยังอ่าวเซนต์มาร์กาเร็ต เมืองโดเวอร์ ภาคใต้ของอังกฤษได้สำเร็จ ท่ามกลางการลุ้นของผู้คนทั้งสองประเทศ

ในวันนี้ เขาเดินทางจากเมืองซองกัตต์ ชายฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเมื่อเวลา 08:17 น. ตามเวลาท้องถิ่น ไปถึงอ่าวเซนต์มาร์กาเร็ตที่เมืองโดเวอร์ เป็นระยะทาง 35 กิโลเมตรโดยใช้เวลาเพียง 22 นาที ด้วยความเร็ว 160-170 กิโลเมตร/ชั่วโมง และลอยตัวเหนือผิวน้ำทะเล 15-20 เมตร โดยมีเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำคอยประกบ และเรือคุ้มกันด้านล่างคอยจับตาอยู่ กรณีที่เกิดปัญหาขึ้น

“ทุกอย่างเป็นไปได้สวยมาก แม้ว่าจะยังมีกุกกักอยู่บ้าง” นายซาปาตากล่าวถึงช่วงเหินลงเรือเพื่อเติมเชื้อเพลิงที่แบกเอาไว้ด้านหลัง และต้องเร่งความเร็วผ่านเลนขนส่งที่มีเรือหนาแน่นเพื่อไปให้ถึงชายฝั่ง

“จังหวะนั้นผมเห็นอังกฤษใกล้เข้ามา ผมเลยพยายามทำตลกให้ลืมความเจ็บปวดที่ขาผมเหมือนลุกเป็นไฟ” ซาปาตากล่าว และร่ำไห้ออกมาด้วยความตื้นตัน เมื่อได้รับโทรศัพท์จากลูกชายที่พูดว่า “พ่อ ยอดที่สุดเลย!”

ครั้งนี้ซาปาตากล่าวว่า การเดินทางของเขาไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับเบลรีโอได้เลย เบลรีโอเป็นคนแรกที่บินข้ามช่องแคบ ส่วนตัวเขาเพียงทำสำเร็จตามความฝันของตนเท่านั้น