จรัญ มะลูลีม : มองการเมืองสหรัฐ-อิหร่าน ผ่านบทความการทูตแบบรัฐอันธพาล

จรัญ มะลูลีม

สหรัฐ-อิหร่านจากอดีตถึงปัจจุบัน (4)

รัฐอันธพาลและการทูต

ในบทความเรื่องรัฐอันธพาลและการทูต (Rogue state and diplomacy) ของวิเจย์ ปราชาด (Vijay Prashad) หรือวิชัย ปราสาท ตามการออกเสียงแบบไทย นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศชาวอินเดียที่สนทนากับโนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการคนสำคัญของ Massachusetts Institute of Techno.oty (MIT) ในวารสาร Frontline ตีพิมพ์ในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2015 นั้น

แม้ว่าบทความนี้จะผ่านมาถึง 4 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านนับตั้งแต่มีการทำความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน-สหรัฐมาตั้งแต่ต้นได้เป็นอย่างดี

รวมทั้งเข้าใจนิยามว่าด้วยรัฐอันธพาลได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญจากต้นฉบับมีดังต่อไปนี้

 

ในข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐกับอิหร่าน โนม ชอมสกี้ ได้อธิบายถึงบริบทของข้อตกลงทางภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ด้วยการกล่าวว่า ทำไมสหรัฐและอิสราเอลจึงคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียตะวันตกมากกว่าประเทศอื่นๆ

ในวันที่ 2 เดือนกันยายน การสนับสนุนของอิหร่านต่อข้อตกลงนิวเคลียร์สำเร็จลง ทีมเจรจาของโอบามาได้จัดทำข้อตกลงดังกล่าว โดยโอบามากล่าวว่า เขาจะคัดค้านร่างกฎหมายใดก็ตามที่จะบังคับมือของเขามิให้ลงนามข้อตกลงนี้

เขาบอกว่า “เราต้องการวุฒิสมาชิก 34 คนมาสนับสนุนเพื่อไม่ให้การคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ประสบความสำเร็จ”

เมื่อวุฒิสมาชิกบาร์บารา มิกุลสกี้ (Barbara Mikulski) แห่งแมรี่แลนด์กล่าวว่า เธอจะสนับสนุนประธานาธิบดี ข้อตกลงนี้จึงปลอดภัย

ฟีลลิส เบ็นนิส (Phyllis Bennis) จากสถาบันนโยบายศึกษาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีความเห็นว่าการโหวตให้ของบาร์บารา มิกุลสกี้ ทำให้เกิด “ความโล่งใจเป็นอย่างมาก”

เธอบอกว่า ข้อตกลงกับอิหร่านเป็น “ชัยชนะครั้งใหญ่ทางการทูตเหนือการคุกคามอันแท้จริงที่จะมีสงครามกับอิหร่าน”

ตริตา ปาร์ซี (Trita Parsi) และเรซา มาราชี (Reza Marashi) จากสภาอเมริกันอิหร่านแห่งชาติ (National Iranian American Council) ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้

พวกเธอกล่าวว่า “โอบามาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความมั่นคงเป็นสิ่งที่ได้มาโดยผ่านการทูตมากกว่าจะใช้การทหาร”

อีมัด คียาอี (Emad Kiyaei) จากสภาอเมริกันอิหร่านกล่าวว่า หลังการประกาศของบาร์บารา มิกุลสกี้ ก็ไม่มีข้อตกลงใด “ดีไปกว่า” และผู้ที่คัดค้านก็ไม่ได้แนะนำทางเลือกใดที่มีอยู่ให้เห็น ยกเว้นนโยบายที่กดดันมากขึ้น

ปลายเดือนสิงหาคม โอบามาแนะว่าผู้ที่เห็นด้วยกับเขาเป็น “พวกที่เห็นด้วยกับเขาอย่างที่สุด” นี่แสดงถึงการผลักดันอย่างหนักที่ทำเนียบขาวกระทำขึ้นเพื่อให้ข้อตกลงผ่านไปได้

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ดาเนียลลี เพล็ตกา (Danielle Pletka) จาก American Enterprise Institute กล่าวว่า โอบามานั้นต้องขับเคี่ยวกับสภามากกว่าต้องมาขับเคี่ยวกับผู้ทำความตกลงของอิหร่าน

เธอบอกว่า “ดิฉันได้แต่หวังว่าประธานาธิบดีจะนำเอาความก้าวแกร่งและจุดมุ่งหมายแบบเดียวกันมาคุยกับอิหร่านมากกว่าจะเป็นแค่เครื่องประดับในการเป็นตัวแทนของชาวอเมริกัน”

 

เพื่อให้ได้บริบทข้อตกลงกับอิหร่าน วิเจย์ ปราชาด ได้สนทนากับศาสตราจารย์โนม ชอมสกี้ ผู้ที่ได้กล่าวถึงบริบททางภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ของข้อตกลงนี้ โดยวิเจย์ถามศาสตราจารย์ชอมสกี้ว่า จะแยกแยะให้เห็นปฏิกิริยาของพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้พูดถึงข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างไรบ้าง?

ชอมสกี้ตอบว่า ฝ่ายรีพับลิกันเกือบทั้งหมดคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ การออกเสียงเบื้องต้นของรีพับลิกันแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ประกาศออกมา เท็ด ครูซ (Ted Cruz) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญญาชนของกลุ่มเตือนว่าอิหร่านจะยังคงผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ และอาจจะใช้นิวเคลียร์เพื่อสังหารคนอเมริกันได้นับสิบๆ ล้านคน

สองคนที่ดูเหมือนเกือบจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งรอบแรกๆ คือ เจ๊บ บุช (Jeb Bush) และสกอตต์ วอล์กเกอร์ (Scott Walker) กำลังต่อสู้กันในเรื่องที่ว่าจะทิ้งระเบิดอิหร่านทันทีหลังการเลือกตั้งหรือหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีดี

ผู้สมัครคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทางการทูตอยู่บ้างคือ ลินด์เซย์ เกรแฮม (Lindrsey Graham) กล่าวถึงข้อตกลงนี้ว่าเป็น “การลงโทษประหารรัฐอิสราเอล” ซึ่งสร้างความแปลกใจให้ฝ่ายข่าวกรองและนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของอิสราเอล จนก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงแรงผลักดันที่แท้จริง

เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจำไว้ว่ารีพับลิกันนั้นได้ละทิ้งข้ออ้างของตนที่ว่าได้ทำหน้าที่เหมือนกับพรรคปกติทั่วไปในสภา แทนที่จะเป็นเช่นนั้นพวกเขาได้กลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงที่แทบจะไม่ได้ร่วมอยู่ในการเมืองของรัฐสภาอย่างที่ได้มีการสังเกตโดยนักวิเคราะห์ทางการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่ได้รับความเคารพอย่างนอร์แมน ออร์นสทีน (Norman Ornstein) จาก American Enterprise Institute

นับตั้งแต่โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ผู้นำที่ได้จมลงไปสู่กระเป๋าของกลุ่มบริษัทที่ร่ำรวยที่พวกเขาสามารถดึงดูดคะแนนมาได้ด้วยการระดมภาคส่วนของประชาชนที่แต่เดิมมิได้เป็นองค์การที่เป็นพลังทางการเมือง

ซึ่งในหมู่พวกเขามีกลุ่มคริสเตียนอิแวนจิลิคอล ที่เวลานี้อาจเป็นผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของรีพับลิกัน หรือเป็นส่วนที่เหลือของรัฐต่างๆ อยู่ด้วย ซึ่งน่าหวาดกลัวว่า “พวกเขา” ได้เอาประเทศของคริสเตียนแองโกลแซกซอนผิวขาวออกไปจากพวกเราและคนอื่นๆ

เป็นผู้เปลี่ยนการหาเสียงเบื้องต้นของรีพับลิกันไปสู่ปรากฏการณ์ที่ห่างไกลจากกระแสหลักของสังคม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกระแสหลักของประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็ตาม

 

วิเจย์ถามต่อไปว่า ความแคลงใจต่ออิหร่านของรีพับลิกันนั้นดูเหมือนว่าจะขยายไปทั่วปรากฏการณ์ทางการเมือง แม้แต่ในหมู่ผู้ที่ทำข้อตกลง ศ.ชอมสกี้จะบอกความคลางแคลงใจที่มีต่ออิหร่านได้ไหม?

ตลอดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีข้อตกลงทั่วไปพร้อมด้วยข้อสรุปที่ “ปฏิบัติได้” ของนายพลมาร์ติน เด็มป์เซย์ (Martin Dempsey) ประธานหัวหน้าเลขาธิการร่วมทางทหารที่กล่าวว่าข้อตกลงเวียนนา “มิได้ป้องกันสหรัฐจากการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้อิหร่านหากว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหลายตัดสินว่ามันเป็นข้อตกลงที่หลอกลวง”

กระนั้นการโจมตีแต่ฝ่ายเดียวก็ “ดูเหมือนว่ายังอยู่ห่างไกล” ถ้าอิหร่านมิได้ละเมิด เด็นนิส รอสส์ (Dennis Ross) อดีตผู้ไกล่เกลี่ยกับตะวันออกกลางของคลินตันและโอบามายอมรับว่า “จะไม่มีข้อสงสัยเลยว่าถ้าอิหร่านเคลื่อนเข้าหาอาวุธ เราก็จะเริ่มการใช้กำลัง”

เขากล่าวเพิ่มเติม ด้วยการยอมรับว่าสหรัฐจัดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B52 ให้อิสราเอลเพื่อปกป้องตัวเองก่อนที่วันอันน่าหวาดกลัวนั้นจะมาถึง

วิเจย์ยังถามต่อไปอีกว่า ข้อสันนิษฐานในที่นี้ที่ว่าอิหร่านเป็นฝ่ายคุกคามที่แท้จริง ซึ่งจะโจมตีอิสราเอลด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้น การคุกคามนี้น่าเชื่อถือสักแค่ไหน?

ที่แน่นอนที่สุด อิสราเอลเผชิญหน้ากับ “การคุกคามที่อยู่ภายนอก” จากการประกาศของผู้นำสูงสุดของอิหร่านอะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) และอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะมาดีเนญอด (Mahmoud Ahmadinijad) อันเป็นคำขู่ที่จะทำลายอิสราเอลที่เป็นที่รู้จักกันดี

หากว่าพวกเขาไม่ได้ทำ และหากว่าทำก็เป็นแค่ช่วงขณะสั้นๆ พวกเขาคาดหมายว่า “ภายใต้ความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า (รัฐบาลไซออนิสต์) จะถูกกวาดออกไปจากแผนที่”