วิรัตน์ แสงทองคำ / ธนชาต : บทเรียนแห่งโอกาสทางธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีการควบรวมธนาคารอันครึกโครม ให้ภาพเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจซึ่งสร้างโอกาสท่ามกลางสถานการณ์พลิกผัน

ดีลใหญ่ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เริ่มต้นกระบวนการมาเมื่อต้นปี (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562)

“ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) ระหว่างธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ING N.V., บริษัท ทุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต” สาระสำคัญ สรุปความมาจากถ้อยแถลงในเวลานั้นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต

ผ่านมาราวครึ่งปี ความคืบหน้ามาถึงจุดสำคัญแล้ว (9 สิงหาคม 2562)

“คณะกรรมการเห็นชอบโครงการการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต”

สรุปสาระสำคัญกว่าจากถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต ผ่านที่ประชุมกรรมการ นำไปสู่ขั้นตอนทางเทคนิคอย่างระมัดระวัง อย่างซับซ้อนมากมาย ในขั้นต่อไปคือ การเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นลงมติรับรองอย่างเป็นทางการ

ส่วนผู้เกี่ยวข้องอีกสองฝ่ายซึ่งธนาคารระดับโลกมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน เป็นภาพต่อเนื่องเป็นไปตามคาดอย่างที่เคยเสนอไว้ (เรื่อง “เกี่ยวเนื่องเรื่องควบรวมธนาคาร” มติชนสุดสัปดาห์ มีนาคม 2562)

 

“ING ตั้งใจแถลงไว้ (www.ing.com/newsroom) ด้วยข้อความสำคัญที่น่าสนใจ ในฐานะ “ธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ด้วยสัดส่วน 30%” ย้ำว่า ดีลนี้เมื่อจบลง คาดว่า ING จะถือหุ้นมากกว่า 20% และคงเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญต่อไป (committed shareholder) ในภาพกว้าง ING มองเครือข่ายธุรกิจย่านเอเชียเป็น “ตลาดที่เติบโต” (Growth Markets)

ขณะ Scotiabank กล่าวถึงดีลในเมืองไทยด้วยเช่นกันว่า “จะลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ” และหวังว่า “จะได้ผลตอบแทนที่ดีในการขายหุ้น” ส่วนมุมมองในภาพใหญ่แตกต่างออกไป (อ้างจาก Investor Presentation First Quarter 2019)—มุ่งขยายธุรกิจในแคนาดาและอเมริกาใต้ ขณะลดความเสี่ยง ถอนตัวธุรกิจมากกว่า 20 ประเทศ (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา) โดยเฉพาะในเอเชีย ได้ลดขนาดลงทุนลง 21%”

ครั้งนี้ทั้งสองธนาคารให้ความสนใจเช่นกันในช่วงเวลาเดียวกันกับถ้อยแถลงของธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต ซึ่งเป็นบทสรุปอย่างเข้าใจได้ชัดเจน

“ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตลงนามจะควบรวมกิจการกันให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี (TMB and Thanachart Bank agree to merge by year-end)” หัวข้อข่าวของ ING (https://www.ing.com) ทั้งเน้นว่ามีความพอใจกับผลตอบแทนการลงทุนในธนาคารทหารไทยตั้งแต่ปี 2551 และมีมุมมองเชิงบวกในแผนการพัฒนาทางด้านดิจิตอล จึงตัดสินใจเพิ่มการลงทุนอีกประมาณ 12,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนการควบรวมกิจการ ให้ข้อมูลพื้นฐานถึงการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมมีสัดส่วน 30% ในธนาคารทหารไทย เหลือประมาณ 21% ในธนาคารซึ่งควบรวม ตามถ้อยแถลงรัฐมนตรีคลังคนใหม่ของไทย ยืนยันว่าจะใช้ชื่อ “ธนาคารทหารไทยธนชาต”

ขณะที่ Scotiabank แถลงอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า “ธนาคารได้ลงนามในข้อตกลงอย่างจริงจัง เพื่อลดการลงทุนในประเทศไทย (Scotiabank Signs Definitive Agreement to Reduce Its Investment in Thailand)” (อ้างจาก www.scotiabank.com/corporate) ทั้งนี้ระบุด้วยว่า สามารถบันทึกกำไรราว 300 ล้านดอลลาร์ และย้ำอีกว่า Scotiabank ยังคงถือหุ้นในธนาคารซึ่งควบรวมอยู่ราว 6% และในบริษัทลูกของธนาคารธนชาตอีก 2 แห่งในสัดส่วน 49%

คาดว่าจะสามารถขายหุ้นส่วนที่เหลือออกไปทั้งหมดภายในปี 2563

 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกมิติหนึ่งเกี่ยวกับบทบาททางการไทยผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐมนตรีคนใหม่ยืนยันอย่างแข็งขันเกี่ยวกับดีลนี้ว่าจะให้ “กองทุนวายุภักษ์เข้าไปซื้อหุ้นธนาคารธนชาต 1.5 หมื่นล้านบาท” ในความพยายามคงบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก จากเดิมประมาณ 26% ในธนาคารทหารไทย เหลือประมาณ 18% ในธนาคารควบรวม

ว่าไปแล้วเป็นบทบาทในเชิงสนับสนุนแผนการที่น่าสนใจ ไม่ค่อยเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในแผนการลงทุนใหม่ๆ ของกระทรวงคลัง ในกรณีมิใช่เข้าไปแก้วิกฤตการณ์

ในภาพค่อนข้างเจาะจง ทุนธนชาตซึ่งต้องปรับตัว เผชิญการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ตามแผนการและขั้นตอนดีลนี้ ทว่าดูเหมือนจะเข้าทาง

ดัชนีหนึ่งมองผ่านตลาดหุ้น ทุนธนชาต ดูจะกลายเป็นหุ้นไม่กี่ตัวในตลาดหุ้นสามารถรักษาระดับราคาไว้ได้อย่างจูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีดีล ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น (อ้างจากข้อมูลสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ) จากหุ้นละ (ราคาเฉลี่ย) 36.50 บาท (2558) 44.00 บาท (2559) และ 56.25 บาท (2560) 49.75 บาท (2561) และ 55.50 บาท (อ้างถึง 9 สิงหาคม 2562) ตามลำดับ

มีผู้คนตั้งข้อสังเกตว่า ราคาหุ้นซึ่งตกลงพอสมควรในช่วงปี 2561 อาจเกี่ยวข้องกับกระแสและแผนการถอนตัวของ Scotiabank ครั้งเมื่อดีลควบรวมเกิดขึ้น มุมมองเชิงบวกพลิกกลับมาอย่างน่าสนใจ แม้ว่าทุนธนชาต (ถือหุ้น 50.96% ในธนาคารธนชาต) มีสัดส่วนในธนาคารควบรวม ลดลงเหลือ 20.43% แต่ด้วยเชื่อว่าเป็นสัดส่วนมีนัยยะสำคัญในธนาคารซึ่งมีศักยภาพ ด้วยขนาดและเครือข่ายลูกค้า

บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ระบุไว้ในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2502 เข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ชื่อบริษัทลี้กวงมิ้ง กิจการทอผ้าซึ่งหันมาเอาดีธุรกิจการเงิน ส่วนข้อมูลที่ว่าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518 น่าจะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับบันเทิง ตันติวิท (ปัจจุบันประธานกรรมการทุนธนชาต และธนาคารธนชาต) เข้ามามีบทบาทสร้างตำนานกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ในนาม “ธนชาต” ในช่วงวิกฤตการณ์สถาบันการเงินรอบแรกเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว

ช่วงที่สำคัญมากๆ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต เป็นเพียงไม่กี่รายสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มธนชาตยังถือเป็นกลุ่มการเงินชั้นรองกลุ่มแรกๆ สร้างโอกาสครั้งใหญ่ ก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคาร จากการเปิดช่องครั้งใหม่ของทางการ หลังปิดตายมากว่าครึ่งศตวรรษ

นั่นคือธนาคารธนชาต

 

ธนาคารธนชาต ธนาคารเกิดใหม่ในปี 2547 ดำเนินแผนการอย่างโลดโผน พัฒนาการขั้นสำคัญเปิดฉากขึ้นเมื่อ Scotiabank ธนาคารชั้นนำของแคนาดาเข้าถือหุ้น (ปี 2550) โดยข้อผ่อนผันให้ถือหุ้นถึง 49% ตามมาด้วยอีกดีลหนึ่ง (ปี 2553) ได้เข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย สามารถขยับฐานะจากธนาคารเกิดขึ้นใหม่ ขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางอย่างน่าทึ่ง

อีกมุมหนึ่งเป็นที่รู้กันพอสมควรว่า บันเทิง ตันติวิท และทุนธนชาต กับเอ็มบีเค (บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน)) มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จะถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกันก็ว่าได้

กลุ่มบริษัทเอ็มบีเคมีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางหลากหลาย ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ ของสังคมธุรกิจไทย กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าเป็น Portfolio ที่มีน้ำหนักมากที่สุด จากรายงานผลประกอบการล่าสุด (MBK Public Company Limited Key performance 9M/2019) ให้ภาพสะท้อนฐานะผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าในเมืองหลวงอย่างแท้จริง

ในฐานะมีเป็นเจ้าของศูนย์การค้าสำคัญๆ (ถือหุ้น 100%) หลายแห่ง โดยเฉพาะเอ็มบีเคเซ็นเตอร์และพาราไดซ์พาร์ค ที่สำคัญระบุว่าเอ็มบีเคถือหุ้นในบริษัทสยามพิวรรธน์ ในสัดส่วน 47.98% น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในกิจการเครือข่ายศูนย์การค้าในตำนานใจกลางกรุงเทพฯ ข้อมูลนั้นระบุรายละเอียดว่าด้วยกลุ่มเอ็มบีเคมีส่วนได้ส่วนเสีย (MBK “Stake) ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ สอดคล้องกันโดยเฉพาะศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ (สัดส่วน 47.98%) ส่วนสยามพารากอนและไอคอนสยามซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนหลายฝ่าย เอ็ม[uเคมีสัดส่วนถือหุ้น 23.99%

กลุ่มธนชาต (ทุนธนชาต ธนาคารธนชาต เอ็มบีเค และอื่นๆ) คือกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีพลัง และเติบโต ถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ใหม่ ยุคหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสังคมไทย สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง พลิกผันได้อย่างน่าทึ่ง น่าศึกษา

บทสรุป กรณีธนาคารธนชาต จากดีลข้างต้น เบื้องต้นเป็นการแก้ปัญหาสำคัญ เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อีกราย-Scotiabank ถอนตัวไป มองในมุมนี้ ถือเป็นแผนการอันแยบยล และเป็นผลดี

ขณะที่ทุนธนชาต กลุ่มธุรกิจการเงินในตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าจะยังมีอิทธิพลต่อไป ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารใหม่ พร้อมทั้งถือหุ้นข้างมากในกิจการข้างเคียง

จากแผนการปรับโครงสร้างใหม่ ดูเหมือนว่า ทุนธนชาตจะมีบทบาทในธุรกิจดังกล่าวโดยตรงมากขึ้น ไม่ว่าธุรกิจประกัน ธุรกิจให้เช่าซื้อ และธุรกิจลิสซิ่ง หรือธุรกิจโบรกเกอร์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า บันเทิง ตันติวิท และทุนธนชาตกับเครือข่าย จะมีแผนการใหม่ๆ อันน่าตื่นเต้น น่าติดตามต่อไป