รักบ้านเกิดผ่านพิพิธภัณฑ์ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าพอมีเวลาจัดรายการลงตัวได้ ผมมักวางแผนให้ตัวเองมีเวลาไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองนั้นอย่างน้อยก็สักรอบหนึ่ง

มีเวลาชั่วโมงเดียวหรือชั่วโมงครึ่งก็ยังดีครับ

รายการอย่างนี้ถ้าไปกับคณะทัวร์ของชาวไทยทั้งหลายมักจะอดดู

เพราะคนไทยส่วนมากขยาดกับคำว่าพิพิธภัณฑ์ นึกเสียว่าเป็นโกดังเก็บของเก่าอะไรทำนองนั้น

กรุ๊ปทัวร์ของไทยเราจึงเน้นสถานที่สวยงามและการช้อปปิ้งเสียเป็นหลัก

ก็ไม่ว่ากันครับ ของอย่างนี้เป็นเรื่องนานาจิตตัง

ขอรายงานว่าขณะที่ผมเขียนหนังสือนี้ ผมอยู่ที่เมืองซัปโปโร เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นครับ

ออกจะเป็นการขายหน้ามากที่จะสารภาพว่า จนอายุป่านนี้แล้วเพิ่งจะเคยมาถึงเกาะแห่งนี้ ทั้งๆ ที่เคยมาญี่ปุ่นไม่รู้กี่หนแล้ว

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนก็เคยมาอยู่ญี่ปุ่นหนึ่งปีเต็ม แต่ก็มาไม่ถึงเกาะฮอกไกโดเสียที

ไม่รู้ว่าบุญผมไม่ถึงเกาะหรือเกาะนี้บุญไม่ถึงผมก็ไม่ทราบสิครับ

คราวนี้ได้มาถึงเกาะฮอกไกโดเสียที

เมื่อมาถึงแล้วความโง่จึงค่อยบรรเทาเบาบางลง และได้ความรู้ความเข้าใจว่าเกาะแห่งนี้เขามีขนาดใหญ่โตมากทีเดียว

ชื่อซัปโปโร (Supporo) ที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ นั้นเป็นเพียงเมืองๆ หนึ่งบนเกาะนี้ ตำแหน่งที่ตั้งประมาณว่าเกือบจะอยู่กลางเกาะ แต่ค่อนไปทางใต้นิดหนึ่ง

สนามบินที่เครื่องบินของการบินไทยมาร่อนลงนั้นตั้งอยู่อีกเมืองหนึ่งที่อยู่ห่างจากซัปโปโรประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง

เมืองนั้นชื่อว่าเมืองชิโตเสะ (Chitose)

เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละคุณตำรวจขา

เมื่อมีโอกาสมาถึงเมืองซัปโปโรแล้วทั้งที ผมก็ได้จัดแบ่งเวลาให้ตัวเองไปเดินพิพิธภัณฑ์ประจำเกาะฮอกไกโดที่ตั้งอยู่ในเมืองซัปโปโรนี้เลยทีเดียว

หน้าตาพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสี่เหลี่ยมซื่อๆ ตรงไปตรงมา ความสูงสามชั้น บวกชั้นลอยอีกชั้นหนึ่ง ทำให้จะเรียกว่าเป็นอาคารสี่ชั้นก็เห็นจะได้

เนื้อหาการจัดแสดงทั้งหมดนั้นว่าด้วยเรื่องของเกาะแห่งนี้ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน

ย้อนหลังไปตั้งแต่ยุคมีแมมมอธตัวโตเดินไปเดินมา เรื่อยมาจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เราอาจจะเรียกว่ามนุษย์ยุคหิน เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินสารพัดชนิด

แล้วก็เดินเรื่องมาจนถึงคนพื้นเมืองที่ปัจจุบันเป็นคนกลุ่มน้อยของเกาะแห่งนี้มีชื่อเรียกว่าชาวไอนุ

ตรงนี้ขอเลี้ยวลงข้างถนนไปหน่อยได้ไหมครับ

ผมสังเกตพบว่าชาวพื้นเมืองของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย ดั้งเดิมทีเดียวก็เป็นเจ้าของประเทศหรือเจ้าของถิ่นนั่นแหละ

ต่อมาเมื่อสิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” ก้าวเข้ามาถึงพร้อมกับการเดินทางเข้ามาของคนหมู่ใหญ่ ชาวพื้นเมืองก็เปลี่ยนฐานะมาเป็นพลเมืองชั้นสองไปเสียอย่างนั้น

ไม่ว่าจะเป็นชาวเมารีของนิวซีแลนด์ ชาวอะบอริจินนิสของออสเตรเลีย อินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ในอเมริกา รวมทั้งชาวไอนุของญี่ปุ่นนี้ด้วย

พลเมืองชั้นหนึ่งที่ถูกลดชั้นไปอยู่ชั้นสองอย่างนี้ต้องดิ้นรนขวนขวายมากเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ

ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้

ออกจากซอยกลับเข้าถนนใหญ่แล้วเดินทางต่อนะครับ เกาะฮอกไกโดแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นดินแดนที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะมาอยู่ เพราะดินฟ้าอากาศช่างไม่เอื้อเฟื้อกับชีวิตมนุษย์เสียเลย

ปีหนึ่งมีฤดูหนาวยาวนานหลายเดือน มีหิมะท่วมเป็นภูเขาเลากา

จะมีก็แต่ชาวไอนุนี่แหละอดทนอยู่ที่นี่มาช้านาน

จนเมื่อในราว 150 ปีมานี้เอง รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงดำริที่จะส่งคนเข้ามาบุกเบิกและอยู่อาศัยบนเกาะฮอกไกโดบ้าง

นัยว่าเพื่อถ่วงดุลทางการเมืองกับประเทศรัสเซียซึ่งจ้องมองเกาะนี้ด้วยหวังจะฮุบอยู่เหมือนกัน

เมืองแรกที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะฮอกไกโด แน่นอนว่าอยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะ และอยู่ไม่ไกลกันนักกับเกาะซึ่งจะเรียกว่าเป็นแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นก็ได้

เมืองที่ว่านี้ชื่อเมืองฮาโกดาเตะ (Hagodate)

คนที่มายุคบุกเบิกครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นพวกเดนตายก็ได้ หลายคนเป็นซามูไรไร้สังกัดเพราะเจ้านายล้มหายตายจากไปแล้ว ก็อพยพครอบครัวมาสร้างอนาคตใหม่ที่นี่ (โดยไม่มีพรรคอนาคตใหม่หนุนหลัง)

เล่ากันว่าเดินทางจากโตเกียวมาที่เมืองฮาโกดาเตะใช้เวลาสามเดือนครับ

มาแล้วก็ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เพราะทนหนาวไม่ไหว

ที่ทนอยู่ได้ก็สู้ชีวิตกันต่อไป

พิพิธภัณฑ์เขาเล่าชีวิตครั้งนั้นไว้น่าดูมากครับ ผู้มาใหม่ต้องสู้กับสิงสาราสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมีป่าตัวโต เมื่อพบกันซึ่งหน้า ถ้าหมีไม่ตายก็คนตายล่ะครับ

การเพาะปลูกต่างๆ ก็ยากเย็นแสนเข็ญ

บนเกาะไม่มีวัวมีควาย แต่ใช้ม้าไถนาครับ

รถไฟเมื่อแรกมีบนเกาะแห่งนี้บนโบกี้รถไฟต้องมีเตาผิงอยู่ตรงกลางเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งอยู่ใกล้ๆ

มิเช่นนั้นแล้วพอถึงปลายทางผู้โดยสารจะแปลงร่างกลายเป็นไอติมไปหมด

เกาะแห่งนี้มาเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดเมื่อญี่ปุ่นไปเชิญนักวิชาการจากสหรัฐอเมริกามาช่วยแนะนำในเรื่องการเพาะปลูก

นำวัวพันธุ์เนื้อพันธุ์นมเข้ามาเผยแพร่ แล้วก็เลยเถิดแนะนำไปจนถึงเรื่องอื่นเช่นการวางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภค

ทำให้ผังเมืองของเมืองซัปโปโรมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมคล้ายกันกับเมืองใหญ่อีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา

และเรื่องการเพาะปลูกก็เจริญก้าวหน้าจนกระทั่งทุกวันนี้เกาะฮอกไกโดได้รับชื่อเสียงยกย่องว่าเป็นครัวของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เวลาผมจะเดินทางมาญี่ปุ่นที่เมืองซัปโปโรเที่ยวนี้ มีคนกำชับมาก บอกให้กินข้าวโพด กินเนื้อ กินราเมน กินนมกินเนย

ผู้แนะนำเหล่านี้จะเห็นผมซูบผอมไปอย่างไรก็ไม่รู้ได้

แต่ผมก็ได้ทำตามคำแนะนำเหล่านั้นแล้วครบทุกประการ และพร้อมจะยืนยันว่าของกินบนเกาะนี้เป็นของมีคุณภาพทั้งสิ้น

เดินไปเดินมา จากการย้อนยุคในอดีตเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์เริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกที เป็นต้นว่า หม้อหุงข้าวยุคแรก

โทรทัศน์แบบที่ต้องเดินไปเปลี่ยนช่องเพราะยังไม่มีรีโมตให้ใช้

โทรศัพท์แบบต้องใช้นิ้วหมุนดังแกรกๆ หรือถอยหลังไปกว่านั้นนิดหน่อย ก็คือโม่ที่เป็นอุปกรณ์การครัวสมัยแม่ยังสาว ทำจากก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่สองชิ้นวางซ้อนกัน ของเหล่านี้ถ้าพี่เอนก นาวิกมูล แห่งบ้านพิพิธภัณฑ์ได้มาเห็น คงถูกใจเป็นแน่

นอกจากนิทรรศการประจำแล้ว ระหว่างนี้เขายังมีนิทรรศการพิเศษเรื่องการทำแผนที่ของเกาะฮอกไกโด

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเดินสำรวจได้ทะลุปรุโปร่งกว่าจะได้แผนที่ขึ้นมาแต่ละฉบับ

นี่ลำพังแต่ผมซึ่งเป็นคนนอกได้มาเดินดูพิพิธภัณฑ์ของเขาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ยังพอได้ความรู้ประดับสติปัญญามาถึงขนาดนี้

ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนฮอกไกโด นอกจากความรู้แล้ว ผมมั่นใจว่าเขาจะมีความปลาบปลื้มดื่มด่ำในหัวใจด้วย

ความรักบ้านเมืองความรักที่ถิ่นเกิดนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อลูกหลานได้รู้ว่ากว่าครอบครัวของเราปู่ย่าตายายของเราจะมาอยู่ตรงนี้ได้

ชีวิตของท่านต้องฟันฝ่าอะไรมาบ้าง

วิถีชีวิตครั้งเก่าเป็นอย่างไร

อาหารการกิน สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ เหล่านี้หลอมรวมกันขึ้นมาเป็นท้องถิ่น เป็นบ้านเกิดของเรา

เมื่อรู้ประจักษ์แล้วความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องบังคับกะเกณฑ์แต่อย่างไร

เห็นอย่างนี้แล้วอดคิดฟุ้งซ่านไม่ได้ครับ

ทำอย่างไรหนอเราถึงจะมีพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งความรู้แบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบกรมศิลปากรซึ่งเป็นแฟนกันกับผมนั้นท่านมีหน้าที่ต้องทำเยอะแยะอยู่แล้ว

ผมจะไม่กะเกณฑ์ให้ท่านต้องมาทำเรื่องเหล่านี้หรอกครับ

แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย เอาขนาดที่ใหญ่โตหน่อย เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาลนคร ถ้าคิดอ่านลงทุนแบบนี้บ้าง ผมว่าคุ้มนะครับ

ลงว่าคนเรารักบ้านเกิดแล้ว ความดีความงามทั้งหลายก็จะติดตามมาเองโดยไม่ต้องเรียกร้องร่ำหา

ถ้าท้องถิ่นที่ไหนทำพิพิธภัณฑ์แบบนี้ เลือกตั้งนายกเทศมนตรีคราวหน้าผมจะรีบย้ายทะเบียนบ้านไปลงคะแนนสนับสนุนเลยเชียวล่ะ

ย้ายทะเบียนบ้านปีละหนจะเป็นอะไรไป

“โตแล้ว จะไปไหนก็ได้” เห็นวัยรุ่นเขาพูดกันอย่างนั้นนี่นา