จับเข่าคุย “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” จากผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง สู่โฆษกรัฐบาล

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วางสเป๊กโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ “ประยุทธ์ 2” ไว้ว่า ต้องเป็นคนที่รอบรู้ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และถ้าได้โฆษกผู้หญิง ก็จะยิ่งดี

เพราะผู้หญิงจะช่วยลดภาพของความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังจะช่วยลดภาพลักษณ์ “นายทหาร” ที่ขึงขังของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ด้วย และนั่นเป็นที่มาของการได้โฆษกหญิงอย่างอาจารย์แหม่ม หรือ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาทำหน้าที่โทรโข่งรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง

ดร.นฤมลเกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2516 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

“มติชนสุดสัปดาห์” คุยกับ “ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรือ “อาจารย์แหม่ม” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“ดร.นฤมล” เริ่มสอนหนังสือที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชีวิตตอนอยู่นิด้านั้น นอกจากสอนหนังสือแล้ว ยังทำงานด้านบริหาร บวกทำวิจัย พร้อมกันนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลาม บริษัทไปรษณีย์ไทย และสถาบันการเงินอื่นๆ ฯลฯ

ดร.นฤมลเปิดเผยว่า เข้าสู่การเมืองเพราะได้รู้จักกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อครั้งที่ ดร.สมคิดเว้นวรรคทางการเมือง อยู่บ้านเลขที่ 111 ในขณะที่เธอเป็นรองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งขณะนั้นได้มีส่วนเข้าไปช่วย “ดร.สมคิด” ทำงานในมูลนิธิสัมมาชีพ และร่วมก่อตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ต่อมาปี 2558 ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงาน “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะบอร์ดประกันสังคม กระทั่งต่อมาเมื่อ “พล.อ.ศิริชัย” ลาออก นายสมคิดจึงได้ชักชวนให้มาช่วยงานในกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการเดินหน้านโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“จริงๆ แล้วส่วนตัวสนใจการเมืองมาโดยตลอด แต่สนใจในมิติที่ว่า น่าจะเอาความรู้ของตัวเองในเชิงทฤษฎีหรืองานวิจัยมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือมาตรการการขับเคลื่อน ซึ่งจะเกิดผลต่อประชาชนจริงๆ เพราะถ้าเรานั่งสอนหนังสือหรือทำงานวิจัยไปเรื่อยๆ ก็จะไม่รู้ว่างานวิจัยของเรานั้น จะถูกดึงไปทำเมื่อใด ดังนั้น จึงสนใจการเมืองมาโดยตลอด โดยเฝ้าดูว่าพรรคการเมืองต่างๆ ได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งในอดีตก็เคยเป็นคอลัมนิสต์ เขียนวิจารณ์การดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในฐานะนักวิชาการ”

“ความสนใจทางการเมืองนี้ ไม่ใช่แค่ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ แต่สนใจในด้านรัฐศาสตร์ด้วย แต่ไม่ได้คิดว่าอยากเข้ามาการเมืองเพื่อจะอยากได้ตำแหน่ง หรือครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องไปให้ถึงจุดนั้นจุดนี้ คิดแค่ว่าถ้าเรามีโอกาสทำเพื่อส่วนรวม เราก็จะทำอย่างเต็มที่”

ในนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ “อาจารย์แหม่ม” มองถึงการให้โอกาสคน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมเปิดเผยชีวิตวัยเด็กว่า มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะสูงส่ง แต่ทว่า ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี จึงทำให้ชีวิตมีวันนี้ได้

“เราเกิดในครอบครัวคนจีน มีพี่น้องถึง 6 คน คุณพ่อทำงานคนเดียว จนภายหลังคุณแม่ต้องมาช่วยขายของ ชีวิตวัยเด็กของเราไม่เคยมีเตียงนอน เราทุกคนในบ้านนอนเรียงกันเป็นแถวยาว แต่แยกห้องผู้หญิงกับผู้ชาย เราไม่เคยมีตุ๊กตา ซึ่งเราคิดแค่ว่าอยากเรียนให้ดีที่สุด เพื่อจะได้หาเงินเลี้ยงครอบครัว คิดแค่นั้นจริงๆ จนเมื่อเราได้เข้าไปเรียนบัญชีจุฬาฯ จึงได้เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว เราแตกต่างจากคนอื่นมาก”

“ตอนเรียนจุฬาฯ ค่าเทอมไม่มีปัญหามากนัก จะมีปัญหาแค่ค่าครองชีพ เพราะบางทีเพื่อนจะพากันไปกินข้าวในร้านอาหารหรือตามโรงแรม ซึ่งเราจะไปกับเขาได้แค่บางครั้ง พอขึ้นปี 3 ทุกคนมีแผนไปเรียนต่อต่างประเทศหมด ทำให้เราอยากไปเรียนต่างประเทศเหมือนเพื่อนๆ แต่รู้อยู่แล้วว่าเราไม่มีเงินแน่ๆ จากนั้นจึงเริ่มสมัครทุนและก็สอบชิงทุนสาขาสถิติประยุกต์ได้ ทุนนี้เมื่อเรียนจบจะต้องกลับมาใช้ทุน สอนหนังสือที่นิด้า”

ศ.นฤมลกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือโอกาสและความพยายาม เพราะบางคนแม้มีความพยายามอย่างมาก แต่หากปราศจากโอกาส ก็ไม่อาจไปถึงฝันได้ ขณะที่บางคนได้รับโอกาส แต่กลับไม่มีความพยายาม ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จเช่นกัน

กันยายน 2561 เปิดตัวพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ “ดร.อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ชักชวนให้ “ดร.นฤมล” มาเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยทั้งคู่รู้จักกันผ่าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระหว่างที่ทำสถาบันอนาคตไทยศึกษา

การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ โฆษกในเวทีประกาศชื่อ “ดร.นฤมล” ในฐานะกรรมการบริหารพรรค แล้วบอกว่า “เธอคือผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง”

“เมื่อเข้ามาอยู่การเมืองแล้วต้องทำได้ทุกอย่าง จากที่เคยเป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา เป็นประธานบอร์ด ซึ่งจะชินกับการที่มีคนดูแล แต่มาอยู่การเมืองเช่นช่วงหาเสียง ก็ต้องดูแลตัวเอง สมบุกสมบัน ต้องทนให้ได้กับความร้อน ความเหนื่อย รวมถึงทนต่อแรงปะทะ เช่น เมื่อขึ้นรถหาเสียงก็มีกลุ่มที่เขาไม่ชอบพรรคเรามาด่าว่าบ้าง แรกๆ ก็ไม่ค่อยชิน เพราะเป็นอาจารย์ ก็จะมีคนมาชื่นชม แต่นี่มาถึงด่าเลย ยังไม่รู้จักกันเสียด้วยซ้ำ”

ในการเลือกตั้ง ดร.นฤมลอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐลำดับที่ 5 ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทน ส.ส.ของ 4 กุมาร ที่ไม่อาจลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะลาออกจากรัฐมนตรีไม่ถึง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง

แม้จะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญ แต่ “อาจารย์แหม่ม” บอกว่า จะต้องทำ แบ่งบทบาทให้ดี ระหว่างการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จะให้ความสำคัญกับทางหนึ่งทางใดไม่ได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งในอนาคต

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนสูงถึง 8.4 ล้านเสียง โดย ดร.นฤมลมองว่ามาจาก 3 ส่วน 1.ผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบางพื้นที่ให้ความสำคัญกับส่วนนี้มาก เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์นำมาซึ่งความสงบ ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อได้ 2.ผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับความนิยม 3.นโยบาย ซึ่งตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน

ดร.นฤมลเล่าถึงการรับเลือกเป็นโฆษกรัฐบาลว่า ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับเลือก เพราะไม่เคยมีใครมาทาบทามหรือบอกก่อนเลย อีกทั้งตัวเองก็ถือเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง จึงคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงจะต้องการคนที่มีประสบการณ์ แต่สุดท้ายเมื่อได้รับเลือกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือว่าเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญนี้

โฆษกหน้าใหม่มองว่า การเมืองไทยมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างการอภิปรายในสภา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แม้จะมีบ้างที่เล่นการเมืองแบบเดิม แต่หวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดี

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับการรัฐประการ “อาจารย์แหม่ม” ตอบว่า

“การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 บางฝ่ายบอกว่าเรายังไม่พร้อม และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะเมื่อประชาชนยังไม่พร้อม จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจของแต่ละกลุ่ม ซึ่งนั่นก็ผ่านนานมากแล้ว แต่การที่เราไปเห็นประชาธิปไตยในประเทศอย่างอเมริกา แล้วจะมาบอกว่าประเทศไทยต้องเป็นเดโมเครซี่แบบอเมริกา มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพื้นฐานของเราไม่เหมือนกัน วิวัฒนาการของเขาและเราต่างกัน

ของเราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเราต้องเข้าใจว่ามันมีมิติที่ละเอียดอ่อน ไม่เหมือนกับประเทศอื่น เพราะแม้แต่ประเทศที่ยังมีพระมหากษัตริย์อยู่ การปกครองก็ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละประเทศนั้นต่างกันในรายละเอียด”

“อาจารย์แหม่ม” เห็นว่า อย่างน้อยคนไทยในปัจจุบันเริ่มตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องประชาธิปไตยด้วย

ในฐานะนักการเมืองหญิง “อาจารย์แหม่ม” มองว่า บทบาททางการเมืองของผู้หญิงกับผู้ชายในประเทศไทยนั้น ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่หญิงไทย ไม่ค่อยหันมาเล่นการเมืองมากนัก อาจเป็นเพราะวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ของคนไทยที่คาดหวังว่า ผู้หญิงต้องดูแลครอบครัวอยู่บ้าน นอกจากนี้ ผู้หญิงเหมือนจะถูกตราให้อย่าพูดหรือแสดงความเห็นมาก จึงทำให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้โอกาสเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนตัวมีความยินดีมาก จากนั้นก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเน้นการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลในเชิงรุก