วิกฤติศตวรรษที่ 21 | อิหร่านกับแผนสันติภาพตะวันออกกลางที่ส่อเค้าล้มเหลวของทรัมป์

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (10)

อิหร่านกับแผนสันติภาพตะวันออกกลางที่ส่อเค้าล้มเหลวของทรัมป์

ประธานาธิบดีทรัมป์ที่แม้มีจุดอ่อนในเรื่องการหลงตัวเอง การกระทำแบบบุ่มบ่าม กล่าวเท็จหรือจริงปนเท็จเป็นประจำ แต่เขาก็เป็นคนคิดการใหญ่ หวังให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แผนการใหญ่ของเขาแผนหนึ่ง ได้แก่ “แผนสันติภาพตะวันออกกลาง” ที่ฝ่ายทรัมป์กล่าวว่า จะสร้าง “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป็น “โอกาสแห่งศตวรรษ” ในการสร้าง “สันติภาพสู่ความไพบูลย์”

แต่แผนการดังกล่าวส่อเค้าล้มเหลวตั้งแต่ต้น

เนื่องจากฝ่ายปาเลสไตน์ปฏิเสธ (ดูบทความของ Yolande Knell ชื่อ Trump”s “deal of the century” falls flat in West Bank ใน bbc.com 25/06/2019) และเป็นการคิดง่ายหรือคิดเอาแต่ได้มากเกินไป นั่นคือคิดทำข้อตกลงโดยไม่นำความต้องการและความกังวลของฝ่ายปาเลสไตน์มาเข้าในการพิจารณา

ที่ลึกกว่านั้นเป็นปัญหาทางโครงสร้างดุลอำนาจโลก ที่สหรัฐหมดพลังแห่งชาติในการคิดแผนใหญ่ไปแล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกที่คิดแผน “ประชาธิปไตยมหาตะวันออกกลาง”

ทุ่มทหารนับแสน และเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนมหาตะวันออกกลางให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่สหรัฐต้องการ และก็ทำไม่สำเร็จ

แผนสันติภาพตะวันออกกลางของทรัมป์มีขนาดเล็กลงกว่าของบุช ใช้เพียงการกดดันทางเศรษฐกิจ-การทูต-การทหาร และเงินงบประมาณอีกเพียง 50 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังคงยึดมั่นในวิธีการที่ล้มเหลวต่อไป

นั่นคือความพยายามยัดเยียดให้ชาติอื่นปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐ ขณะที่อิทธิพลของสหรัฐได้ลดลงกว่าเดิมเป็นอันมาก

รวมความว่าชนชั้นนำสหรัฐมีความเห็นว่าโลกยังคงเป็นแกนขั้วเดียวที่สหรัฐเป็นใหญ่ สหรัฐเป็นประเทศพิเศษที่ขาดไม่ได้ ขณะที่ความเป็นจริงโลกได้เปลี่ยนเป็นแบบหลายขั้วอำนาจ ตั้งแต่วิกฤติการเงินใหญ่ของสหรัฐในปี 2008 แล้ว ความเห็นผิดนี้จะนำมาสู่ความล้มเหลวของแผนการใหญ่สหรัฐต่อไปเรื่อยๆ

แผนสันติภาพตะวันออกกลางของทรัมป์ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ซึ่งส่อเค้าล้มเหลว

ได้แก่

1)การสร้างแกน ซาอุดีอาระเบีย-อิสราเอล เพื่อเป็นนายอำเภอในการจัดระเบียบตะวันออกกลาง ที่มีสหรัฐหนุนหลัง

ถือว่าเป็นเบื้องต้นของแผน การสร้างแกนนี้ดูเหมือนง่าย เพราะว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายมีความต้องการเช่นนั้นอยู่แล้ว

แต่ก็มีอุปสรรคใหญ่ขัดขวาง นั่นคืออิทธิพลของทั้งสองประเทศนี้ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเดิม เนื่องจากมีผู้แสดงใหม่ของภูมิภาคได้แก่ รัสเซีย จีน อิหร่าน ตุรกี เป็นต้น มากลบรัศมี

บางชาติเช่นอิรักก็แสดงความเป็นตัวเอง ไม่ยอมลงให้แก่สหรัฐ

การเสื่อมพลังของซาอุฯ แสดงออกในกรณีสงครามกลางเมืองเยเมนที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน โดยซาอุฯ เข้าหนุนหลังฝ่ายประธานาธิบดีฮาดี กองกำลังติดอาวุธฮูตี ไม่เพียงสามารถยันการรุกของพันธมิตรซาอุฯ เท่านั้น แต่ตอบโต้ไปจนถึงการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนซาอุฯ ที่เป็นฐานทัพและสนามบิน สถานีน้ำมัน รวมทั้งการลอบโจมตีเรือรบของซาอุฯ ด้วย

อีกกรณีหนึ่งได้แก่ กรณีกาตาร์แยกตัวจากร่มธงของซาอุฯ (มิ.ย. 2018) จากความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศหลายประการ ได้แก่

ก) ความสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งกาตาร์สนับสนุน ส่วนซาอุฯ ต้องการทำลาย

ข) ความสัมพันธ์กับอิหร่าน การ์ตาต้องการร่วมมือกับอิหร่านในระดับหนึ่ง เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ขณะที่ซาอุฯ ถืออิหร่านเป็นศัตรูร้าย

ค) การถือหางต่างฝ่ายกันในสงครามกลางเมืองลิเบีย ซาอุฯ ตอบโต้อย่างฉับพลันรุนแรง นำพันธมิตรของตนได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ บาห์เรน เป็นต้น ตัดสัมพันธ์ทางการทูต

ปิดช่องการขนส่งทางบกและอากาศ กระทั่งมีข่าวว่าจะใช้กำลังเข้าเปลี่ยนระบอบ แต่กาตาร์ก็ยังคงยืนกราน โดยได้รับการสนับสนุนจากมิตรของตน

ที่สำคัญ จากตุรกีที่ส่งอาหารมายังกาตาร์แทนที่เคยผ่านแดนจากซาอุฯ และส่งรถถังและกองทหารไปยังกรุงโดฮานครหลวงของกาตาร์ด้วย ตุรกีและกาตาร์นั้นเปิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นตั้งแต่ปี 2015 โดยกาตาร์เข้าไปลงทุนในตุรกีมีขนาดใหญ่เป็นที่สอง

การที่กาตาร์ที่เป็นประเทศเล็กมีประชากรราว 2.5 ล้านคน ขึ้นท้าทายอำนาจซาอุฯ ได้สะท้อนว่าแผนการสร้างพันธมิตรยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของทรัมป์ หรือเรียกทั่วไปว่า “นาโต้ของอาหรับ” ก็ยากที่จะสำเร็จ

อียิปต์ที่เป็นประเทศใหญ่และมีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไขมาก ประกาศไม่ขอเข้าร่วมแต่ต้น

การเสื่อมอิทธิพลของซาอุฯ สุดท้ายเป็นด้านพลังงาน ก่อนหน้านั้นซาอุฯ มีบทบาทหลักในการกำหนดราคาน้ำมันโลก โดยการเพิ่มและลดการผลิตน้ำมันของตน ใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ-การเมืองได้อย่างหนึ่ง

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อกลุ่มโอเปคผู้ส่งออกน้ำมันไม่เหนียวแน่นเหมือนเดิม

ซาอุฯ ที่มีพลเมืองเพิ่มขึ้นเร็ว มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูงต้องการใช้น้ำมันของตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำมันสำรองที่มีก็เริ่มร่อยหรอ

นอกจากนี้ สหรัฐสามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากเทคนิคใหม่ ลดการนำเข้าพลังงานลง รัสเซียยังได้เพิ่มการผลิตและอาศัยความเข้มแข็งทางทหารขึ้นมาแสดงบทบาทในการส่งออกน้ำมันมากขึ้น จนซาอุฯ ต้องยอมเจรจากับรัสเซียในการกำหนดการผลิตน้ำมันของโลก

ในด้านอิทธิพลของอิสราเอลก็ลดต่ำลงเช่นกัน เนื่องจาก

(1) ตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองจากการที่อิสราเอลปฏิบัติตามอำเภอใจมาเป็นเวลานาน ขยายการยึดครองทั้งด้านพื้นที่และการบริหารในเขตปาเลสไตน์ สังหารชาวปาเลสไตน์ที่มีแต่ก้อนหินเป็นอาวุธ ก่อความทุกข์ระทมขึ้นทั่วแผ่นดิน

การกระทำของอิสราเอลดังกล่าวสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการป้องกันตัว แต่ชาวโลกดูจะเห็นว่าเป็นการป้องกันตัวเองเกินกว่าเหตุ

เป็นการปฏิบัติของลัทธิเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ กระทั่งถึงขั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การต่อต้านชาวยิวนั้นคุกรุ่นทั่วไปในหมู่ชาวอาหรับและผู้ถือมุสลิม เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้นำอาหรับไม่กล้าหันมาจูบปากเป็นพันธมิตรกับอิสราเอลอย่างเปิดเผย เพราะจะเปิดโอกาสให้อิหร่านและตุรกีเข้ามาเป็นศูนย์อำนาจในโลกมุสลิมแทนที่ซาอุฯ ได้ การต่อต้านชาวยิวยังลุกลามเข้าไปในยุโรป (รวมรัสเซีย) และในสหรัฐ

เช่น อิลฮาน โอมาร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาเลียได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคองเกรสที่เป็นสตรีมุสลิมคนแรกของประเทศ เคลื่อนไหวให้ชาวมุสลิมมีบทบาททางการเมืองในสหรัฐเพิ่มขึ้น

ได้วิจารณ์องค์กรของอิสราเอลว่ามีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามทางการเมืองในสหรัฐ เกิดการประท้วงใหญ่ ทรัมป์ฉวยโอกาสไล่เธอกลับประเทศ ก่อความร้าวฉานภายในประเทศเพิ่มขึ้น

อีกเรื่องหนึ่ง ในที่ต่างๆ มีการฟื้นฟูขบวนการนาซีขึ้น ทำร้ายชาวยิว เขียนรูปสวัสติกะที่ตู้ขบวนรถไฟในนิวยอร์ก ปฏิเสธเรื่องเล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ดำรงอยู่มานาน ไปจนถึงตั้งขบวนการโลกต่อต้านอิสราเอลขึ้น (BDS Movement ได้แก่ การบอยคอต เลิกลงทุน และแซงก์ชั่นอิสราเอล) จนชนชั้นนำสหรัฐต้องออกโรงขัดขวาง โดยคณะกรรมาธิการต่างประเทศสภาคองเกรสลงมติท่วมท้น ประณามขบวนการโลกต่อต้านอิสราเอล แต่เมื่อกระแสขยายตัวไปถึงขั้นนี้ การหยุดยั้งคงจะกระทำได้ยาก

เหตุที่อิทธิพลอิสราเอลลดต่ำประการที่ (2) คือความเหนือกว่าอย่างสมบูรณ์ทางทหารของอิสราเอลต่อชาวอาหรับได้สิ้นสุดลง เมื่อประเทศอาหรับรวมทั้งอิหร่านได้พัฒนาอาวุธของตน โดยการช่วยเหลือจากรัสเซีย เป็นต้น สร้างระบบต่อต้านทางอากาศที่แข็งแกร่งขึ้นมาก

อิสราเอลไม่สามารถเข้าโจมตีได้อย่างง่ายดายเหมือนเดิม กระทั่งถูกเป็นเป้าโจมตีจากขีปนาวุธและโดรนของซีเรีย กลุ่มฮามาส เป็นต้น

2)การทำข้อตกลงสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นหัวใจของแผนการ เพราะถ้าหากทำข้อตกลงสันติภาพนี้ไม่ได้ ก็ยากมากที่จะสร้างแกนซาอุฯ-อิสราเอลได้อย่างออกหน้าและยาวนาน

องค์กรชาวปาเลสไตน์ขณะนี้มีสองกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกได้แก่ องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (ก่อตั้ง 1964) ภายใต้การนำของนายมาห์มุด อับบาส อยู่เขตเวสต์แบงก์เป็นพื้นที่ใหญ่ สหรัฐและอิสราเอลพอยอมรับกลุ่มนี้ว่าเป็นตัวแทนชาวปาเลสไตน์ แต่ก็ยังกดดันอย่างไม่ไว้หน้า

เช่น อิสราเอลริบเงินภาษีที่เก็บได้ในดินแดนปาเลสไตน์ด้วยข้ออ้างและเงื่อนไขต่างๆ

ส่วนสหรัฐประกาศยอมรับนครเยรูซาเลมที่อยู่ในเขตเวสต์แบงก์เป็นนครหลวงของอิสราเอลแทนกรุงเทลอาวีฟ

อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่กลุ่มฮามาส ตั้งขึ้นในปี 1987 เป็นกลุ่มเคร่งอิสลามสาขาของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่ที่ฉนวนกาซา มีขนาดเล็กกว่า เป็นเป้าที่สหรัฐ-อิสราเอลต้องการทำลาย มีข่าวเบื้องลึกที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์อิสราเอลบางฉบับว่า ตามแผนข้อตกลงแห่งศตวรรษนี้ คาดว่านายอับบาสจะยินยอม ถ้าหากกลุ่มฮามาสไม่ยอมก็จะใช้กองกำลังเข้าบดขยี้

ตามแผนสันติภาพนี้ มีการยอมรับรัฐปาเลสไตน์แต่เป็นรัฐปลอม ไม่มีกองทัพและนโยบายต่างประเทศของตน ขึ้นอยู่กับอิสราเอลเป็นผู้จัดการ และต้องเสียดินแดนให้แก่อิสราเอล มีข้อปลอบใจเพียงเงิน 50 พันล้านดอลลาร์ที่จะให้แก่ปาเลสไตน์ จอร์แดน อียิปต์ และเลบานอนในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ข้อเสนอดังกล่าวปรากฏว่านายอับบาสเองไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ายอมต่อไปปาเลสไตน์ก็ต้องสิ้นชาติ และประกาศเลิกข้อตกลงทั้งหมดที่ทำไว้กับอิสราเอล (ดูข่าว Palestinian President Declares End to All Agreement, Security Coordination With Israel ใน Haaretz.com 26072019)

การประกาศดังกล่าวของอับบาสทำให้แผนสันติภาพตะวันออกกลางของทรัมป์ถึงทางตัน

3)การกดดันอิหร่านถึงขีดสุดเพื่อขจัดทำลายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลางซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ การสร้างแกนซาอุฯ-อิสราเอลและทำข้อตกลงอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นเพียงเครื่องมือในการขจัดอิหร่านไปตลอดกาล

ทรัมป์มีความเห็นมานานแล้วว่าการทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านของโอบามานั้นเป็นข้อตกลงที่แย่มาก เพราะเป็นการโอนอ่อนลดการแซงก์ชั่นที่ช่วยให้อิหร่านหายใจคล่องคอและฟื้นตัวขึ้นมาได้

ศิลปะการทำข้อตกลงของทรัมป์ก็คือใช้การกดดันอิหร่านถึงขีดสุด ยกเลิกสัญญานิวเคลียร์กับอิหร่าน (สัญญานี้มีหลายประเทศมหาอำนาจร่วมลงนาม) หันกลับมาแซงก์ชั่นรัดคออิหร่านหนักมือขึ้น

ถึงขั้นว่าจะไม่ให้อิหร่านขายน้ำมันได้แม้แต่บาร์เรลเดียว

คิดว่าด้วยวิธีนี้สามารถกดดันให้อิหร่านยุติการทำแร่ยูเรนียมให้บริสุทธิ์ เลิกล้มโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และถอนทหาร และความช่วยเหลือจากประเทศซีเรีย เป็นต้น

แต่การกระทำของสหรัฐดังกล่าวกลับทำให้อิหร่านฮึดสู้ เพราะตนเองก็ได้พัฒนาการทหารของตนไปสูงมาก มีพันธมิตรเป็นแกนจีน-รัสเซีย กับเห็นว่าถ้าหากไม่สู้ก็จะถูกบีบตายคามือสหรัฐ การโต้กลับของอิหร่านใช้วิธีโจมตีของแข็ง

ได้แก่ การยิงเครื่องบินสอดแนมล่องหนราคาแพงมูลค่าราว 4,000 ล้านบาทของสหรัฐตก และเข้ายึดเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษ

ท้ายสุดมีข่าวว่าสหรัฐประกาศพร้อมที่จะเจรจากับอิหร่าน โดยที่ยังรัดคออิหร่านแน่นต่อไป

อิหร่านกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

การที่สหรัฐหันกลับมาแซงก์ชั่นอิหร่านใหม่อย่างเข้มงวดอีกครั้งส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนและการเงินของอิหร่าน ภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างรุนแรง

เมื่อรวมกับปัญหาอื่น ได้แก่ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และการที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงได้ในปี 2020 โดยเฉพาะแซงก์ชั่นการค้าน้ำมันอิหร่านจะทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง (ดูรายงานข่าวชื่อ IMF predicts U.S.”s sanction on Iran may weaken world economy ใน presstv.com 25/07/2019)

การแซงก์ชั่นการค้าน้ำมันอิหร่าน ก่อผลกระทบสูงต่อสองประเทศใหญ่ในเอเชียได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย จีนนั้นเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสูงสุดในโลก และนำเข้าน้ำมันอิหร่านมากเป็นอันดับหนึ่ง ประกาศว่าจะนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านต่อไป ขยายความขัดแย้งในสงครามการค้าสหรัฐ-จีนออกไปอีก และการทำข้อตกลงการค้าที่ยอมรับได้ยากขึ้นเป็นอันมาก สำหรับอินเดียที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมากเป็นอันดับสามอยู่ในช่วงการชั่งใจแบบเอนเอียงข้างสหรัฐ

ส่วนหลายประเทศยุโรปที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ด้านหนึ่งแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสัญญาของสหรัฐ

และมีการดำเนินการสร้างเครื่องมือเพื่อทำการค้ากับอิหร่านโดยไม่ต้องผ่านสหรัฐ

แต่ในอีกด้านหนึ่งโอนอ่อนแรงกดดันของสหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมากเป็นอันดับสองต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน นายอาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงกับเดินทางไปยังอิหร่าน เหมือนเป็นตัวแทนทรัมป์เพื่อขอให้ผู้นำอิหร่านมาเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

สำหรับอิหร่านที่เผชิญหน้าท้าทายกับสหรัฐเป็นเวลานาน 40 ปี ผ่านการเจรจาทั้งอย่างเปิดเผยและอย่างลับมาหลายรอบ ครั้งนี้ดูจะปักใจว่าการเจรจากับสหรัฐเป็นเรื่องเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ และเป็นอันตราย เข้าต่อสู้กับสหรัฐอย่างระมัดระวัง

ในด้านข่าวสารได้ปล่อยหมัดสำคัญในการกล่าวหาว่า การแซงก์ชั่นของสหรัฐที่กระทำต่ออิหร่านและหลายประเทศนั้นเป็น “การก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ” ที่ทั้งโลกจะต้องช่วยกันต่อต้าน เหมือนกับการร่วมมือกันต่อต้านลัทธิก่อการร้าย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงกรณีตุรกีกับการแตกร้าวในนาโต้ และการเตะขาพับสหรัฐของสหภาพยุโรป