“แพะชนแกะ” คดี “ครูหญิง” ชนดับ เดิมพัน “สูง” กระบวนการยุติธรรม

เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจว่าบทสรุปสุดท้าย

ใครจะเป็น “แพะ” ใครจะเป็น “แกะ”

กรณี นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครู วัย 54 ปี อ้างว่าตนเองเป็นแพะรับบาป คดีขับรถชนคนตาย เหตุเกิดบนถนนใน ต.ท่าลาด อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อเดือนมีนาคม 2548

ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ส่งสำนวนให้อัยการจังหวัดนครพนม ยื่นฟ้องนางจอมทรัพย์ หรือครูจอมทรัพย์ ตกเป็นจำเลยต่อศาล

จากนั้นได้มีการต่อสู้ถึง 3 ศาล

ผลก็คือ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง และศาลฎีกา ซึ่งองค์คณะประกอบด้วย นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์ และ นายพศวัจณ์ กนกนาก มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ให้จำคุก 3 ปี 2 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2556 ก่อนได้รับอภัยโทษออกมาเมื่อปี 2558

รวมเวลาที่ครูจอมทรัพย์ อ้างว่าต้องติดคุกฟรีทั้งสิ้น 1 ปี 6 เดือน

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า คดีนี้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยญาติครูจอมทรัพย์ได้ติดต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนม

และส่งเรื่องต่อไปยังกองพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ดูแลกองทุนยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมด เห็นว่าครูจอมทรัพย์น่าจะเป็นแพะรับบาป จึงอนุมัติให้รื้อฟื้นคดี

สำหรับพยานหลักฐานที่ครูจอมทรัพย์ ใช้เข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นคดี ชำระล้างมลทินตัวเอง

นอกจากข้อกล่าวอ้างว่า ตำรวจพนักงานสอบสวนในตอนนั้นทำคดีหละหลวม ทั้งในส่วนการสอบพยานบุคคลและการตรวจหาวัตถุพยาน เนื่องจากในวันเวลาเกิดเหตุ ตนเองอยู่กับครอบครัวที่บ้าน จ.สกลนคร

ยังมีพยานปากสำคัญคือ นายสับ วาปี ชาว จ.มุกดาหาร ที่ออกมาให้การรับสารภาพต่อศาลในภายหลังว่า เป็น “ผู้ต้องหาตัวจริง” ที่ขับรถชนรถจักรยาน เป็นเหตุให้ นายเหลือ พ่อบำรุง เสียชีวิต

ไม่ใช่ครูจอมทรัพย์แต่อย่างใด

 

การปรากฏพยานหลักฐานใหม่ดังกล่าว

ก่อแรงสั่นสะเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ว่าตำรวจที่เป็น “ต้นน้ำ” “กลางน้ำ” อย่างอัยการ อันนำไปสู่ “ปลายน้ำ” คือคำพิพากษาศาล

ความหวังของครูจอมทรัพย์ ในการร้องขอความเป็นธรรม และสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืน

เริ่มเห็นเค้าโครงความจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น สืบพยานตามคำร้องขอของครูจอมทรัพย์

ศาลจังหวัดนครพนมกำหนดเปิดศาลสืบพยานนัดแรกวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่า นายสับ วาปี พยานสำคัญฝ่ายผู้ร้อง ที่ยอมรับว่าเป็นคนขับรถชน กับ นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ พยานผู้เห็นเหตุการณ์คืนวันเกิดเหตุ 11 มีนาคม 2548

ไม่ได้มาปรากฏตัวต่อศาล

ประกอบกับฝ่ายอัยการจังหวัดนครพนมยื่นคัดค้านการสืบพยานใหม่ พร้อมแจ้งต่อศาลว่ามี “หลักฐานสำคัญ” มานำสืบ

นั่นทำให้จุดเริ่มต้นนับ 1 กระบวนการรื้อฟื้นคดีตามขั้นตอน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดี 2526 ต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์

นายสับ วาปี ถึงจะไม่ได้มาศาลในวันนั้น แต่ก็ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวทีวีดิจิตอลช่องหนึ่ง ยืนยันว่า ตนเองเป็นคนขับรถชนคนตายจริง

ส่วนที่ไม่ออกมารับสารภาพแต่แรก เพราะไม่รู้ว่าครูจอมทรัพย์ต้องติดคุกแทน

มีรายงานข่าวว่านายสับ วาปี ถูกนำตัวไปไว้ในเซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งตามกระบวนการคุ้มครองพยาน

ขณะที่ นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยืนยันเห็นกับตา ว่าคนขับรถกระบะคันเกิดเหตุ เป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าใช่ นายสับ วาปี หรือไม่

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แสดงความมั่นใจว่า จากการทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานใหม่ของกระทรวงยุติธรรม

จะสามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลฎีกาได้

 

สําหรับการ “หักล้าง” ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เบื้องต้นได้มีการสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ร.ต.อ.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง อดีตพนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร ผู้ทำสำนวนคดีครูจอมทรัพย์ เมื่อปี 2548 ปัจจุบันคือ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง รอง ผกก.สอบสวน สภ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมาย พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบความเป็นมาเรื่องราวทั้งหมด พบว่า

การทำคดีเมื่อปี 2548 การปฏิบัติงานทั้งฝ่ายสอบสวน นิติวิทยาศาสตร์ ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ตอนนั้น ทำอย่างครบถ้วน ถูกต้องตามระเบียบ

เมื่อตรวจสอบลึกลงไปในประเด็นครูจอมทรัพย์ อ้างว่าตนเองเป็นแพะ โดยมี นายสับ วาปี ออกมายอมรับเป็นผู้ต้องหาตัวจริง ก็ยังพบพิรุธผิดปกติหลายอย่าง

นอกจากหลักฐานการตรวจสอบทะเบียนรถยนต์กระบะ บค 56 มุกดาหาร ที่ นายสับ วาปี อ้างว่าขับไปชนคนตาย ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง

ที่สำคัญยังพบว่าเบื้องหลังกรณีครูจอมทรัพย์มี “ขบวนการรับจ้างรับผิด” เกี่ยวข้อง

พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น เปิดเผยว่า ช่วงปลายปี 2556 หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา มีกลุ่มคน 7 คนไปพบตำรวจ พร้อมนำบุคคลซึ่งไม่ใช่ นายสับ วาปี มากล่าวอ้างแสดงตัวเป็นคนขับรถชนคู่กรณีเสียชีวิตเมื่อปี 2548 ไม่ใช่นางจอมทรัพย์ ซึ่งตำรวจได้มีการสอบปากคำชายคนแรกนี้ไว้แล้ว

เป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไปในการเปิดโปงโฉมหน้า”ขบวนการรับจ้างรับผิด” ที่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

รวมถึงประเด็นว่าครูจอมทรัพย์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวขนาดไหน

สำหรับกระบวนการรื้อฟื้นคดี เมื่อศาลจังหวัดนครพนม สืบพยานฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้านเสร็จสิ้น ต้องส่งสำนวนการสืบพยานให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า

จะยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีหรือจะยกคำพิพากษาเดิมของศาลฎีกา

นั่นเท่ากับว่ายังต้องรอเวลาอีกพอสมควรในการชี้ชัดได้ว่าระหว่าง “ครูจอมทรัพย์” กับ “ตำรวจ”

ใครคือ “แพะ” ใครคือ “แกะ”

นายสับ วาปี ใช่ผู้ต้องหาตัวจริงหรือไม่ หรือมี “ชายปริศนา” รายอื่น ที่เป็นต้นเรื่องเหตุการณ์ความยุ่งเหยิงทั้งหมด

อีกด้านหนึ่ง ยังเป็น “เดิมพัน” ครั้งใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน