อดีต (บ่งบอก) อนาคต

การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ไม่ครบถ้วนกระบวนความ

เหมือน “รูเล็กๆ” กลาง “เขื่อนใหญ่”

เพราะเนื้อหาที่ต้องกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นมีเพียงแค่ 3-4 บรรทัด

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับกล่าวว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป”

เพิ่มคำว่า “ตลอดไป” ในตอนจบ

แต่ตกถ้อยคำเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

เรื่องที่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ จึงกลายเป็น “ปัญหา”

แม้จะพยายามหลบเลี่ยงตอบคำถามแบบ “ติ๊ดชึ่ง” ทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

และ พล.อ.ประยุทธ์

ตอบเหมือนไม่ตอบ

แต่สุดท้ายก็เหมือนว่า “ลุงตู่” จะยอมรับแล้วว่า “ผิดพลาด”

“เรื่องของการถวายสัตย์ผมก็พยายามจะแก้ปัญหาอยู่ในเรื่องนี้”

โดยนัยยะของคำตอบก็ค่อนข้างชัดเจน

คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณไม่ครบทุกถ้อยคำ

จะบอกว่า “ตื่นเต้น” จนอ่านผิด

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 ปีแล้ว

เคยกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณมาแล้ว

เรื่อง “ตื่นเต้น” ไม่น่าจะใช่

มีคนบอกว่าอาจจะอ่านข้ามไปโดยไม่เจตนา

เพราะถ้าใครดูข่าวในพระราชสำนักจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์อ่านข้อความจากกระดาษแผ่นเล็กๆ

ไม่เหมือนกับตอนปี 2557 ในการถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งแรกตอนรับตำแหน่ง

ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์อ่านข้อความจากเอกสารขนาดใหญ่

คนสายตายาวอาจจะอ่านข้ามไปได้

แต่มีคนแย้งว่า ถ้าอ่านข้ามไปจริงๆ

คำว่า “ตลอดไป” ที่ตบท้ายมาจากไหน

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณพระมหากษัตริย์ของทหารนั้นถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก

เหมือน “คำสาบาน”

ทำผิดจากที่พูดไว้ไม่ได้

ข้อความที่หายไปคือ เรื่องการ “รักษา” และ “ปฏิบัติตาม” รัฐธรรมนูญ

คำถามจาก “อดีต” จึงตามมาหลอกหลอน

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ คือหัวหน้า คสช.ที่ทำการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2557

“รัฐธรรมนูญ” ฉบับนั้นเขาไม่ได้สัญญาว่าจะ “รักษา”

ฉีกได้เพราะไม่ผิดคำถวายสัตย์ปฏิญาณ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาต้องกล่าวคำถวายสัตย์ว่าจะ “รักษา”

ฉีกเล่นไม่ได้

การกล่าวข้ามข้อความเกี่ยวกับการรักษา “รัฐธรรมนูญ” จึงมี “ความหมาย”

เพราะ “อดีต” บ่งบอก “อนาคต”