จัตวา กลิ่นสุนทร : หลักประกันสุขภาพในราคาจับต้องได้-ไม่ต่อคิวนาน

ต้นทุนสำหรับการรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วย ทราบกันดีว่ามีราคาสูงมาก สำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะจับจ่ายใช้สอยได้ยังต้องเตรียมพร้อม เตรียมตัว เหมือนอย่างที่พ่อ-แม่มักจะพูดเตือนเราเสมอว่า ทำมาหาเงินได้ก็เก็บหอมรอมริบไว้บ้าง เพื่อใช้จ่าย “ยามเจ็บป่วย”

อันที่จริงคนนั้นไม่รู้ว่าวันไหนจะเกิดอะไรขึ้น

ขนาดผู้ตื่นรู้ทั้งหลายเตรียมพร้อมทั้งประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปียังหนีไม่พ้นโรคร้าย

แพทย์ผ่าตัด หรือศัลยแพทย์รักษาโรคหัวใจระดับมือหนึ่ง รักษาคนไข้ประเภทเฉียดตายมานักต่อนักกลับต้องมาเสียชีวิตก่อนคนไข้ด้วยมะเร็งร้าย

จะเอาอะไรแน่นอนไม่ได้สำหรับคนเรา

บางครั้งพยายามทำใจปล่อยวางให้มันเป็นไปตามวิถีบ้าง เจ็บป่วยก็รักษาไปตามอาการ ซึ่งนั่นย่อมหมายความถึงผู้ที่อยู่ในสภาพฐานะพอมีพอกินพอรักษาตัวได้

แต่ยังมีผู้ที่ฐานะยากจนจำนวนมาก บางครั้งจะซื้อหาอาหารกินยังลำบากยากเข็ญ ประเภทหากินไปวันๆ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงยามเจ็บป่วยว่าจะทำอย่างไร?

เพราะค่ายา ค่าแพทย์ผู้รักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถต่อรองกันได้

 

เหมือนดังที่กล่าวแล้วว่ายารักษาโรคส่วนใหญ่ผลิตมาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหลาย บ้านเราผลิตไม่ได้ รวมบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ “แพทย์” ต้องลงทุนสูงมากกว่าจะจบการศึกษาออกมาในแต่ละปี จนแทบไม่พอเพียงเมื่อเทียบอัตราส่วนกับจำนวนประชากรซึ่งเจ็บป่วย

เพราะฉะนั้น ใครที่เคยเดินทางไปรับการรักษายังโรงพยาบาลของรัฐย่อมจะทราบดีว่าในแต่ละวันนั้นคนไข้เยอะแยะมากมายขนาดไหน แพทย์ หรือคุณหมอ พยาบาล พนักงานเจ้าหน้าที่บุคลากรทั้งหลายต้องเข้าเวรทำงานหนักตลอดทั้งวัน บางท่านแทบไม่มีเวลาพักรับประทานอาหาร

เช้าต้องไปสอนนักศึกษาแพทย์ วิ่งกลับมาเข้าเวรตรวจคนไข้ทั่วไป บางทีเย็นต้องตรวจรักษายัง “คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ” เรียกกันสั้นๆ ว่าคลินิกนอกเวลา

ยิ่งกว่านั้นบางท่านยังเป็นแพทย์ประจำในโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย

แพทย์เหล่านี้ยังช่วยเรื่องการรักษาพยาบาลในรูปของการเปิด “คลินิกส่วนตัว” รักษาคนไข้ในระดับหนึ่งทั่วประเทศ นอกเหนือจากโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้บริการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้นจนน่าจะครบในทุกจังหวัด อย่างน้อยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐมากพอสมควร โดยเฉพาะจากกลุ่มคนชั้นสูง และชั้นกลางที่มีกำลังเพียงพอ

สถาบันสูงสุด สถาบัน สมาคมต่างๆ ของประเทศนี้ เอกชนทั่วๆ ไปที่อยู่ในฐานะที่จะหยิบยื่นทรัพย์สิน กลุ่มประชาชนที่มีชื่อเสียง เช่นศิลปินหลายสาขาต่างร่วมด้วยช่วยกันในทุกทางเพื่อจัดหางบประมาณมาก่อสร้างโรงพยาบาล เพิ่มอาคาร ขยายเตียง ซื้อหาอุปกรณ์ทางการแพทย์อันทันสมัย ยารักษาโรคร้ายราคาแพงเพื่อนำเข้ามาช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชาติ

กระทั่งคนต่างชาติซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง

 

ย้อนไปส่องดูตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ค่อนข้างจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชนน้อย

เพราะในจำนวนงบประมาณแผ่นดิน 2.9 ล้านล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขได้แค่ 1.3 แสนล้านบาท

น้อยกว่างบฯ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่มี 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่างบฯ ยุทธศาสตร์น้ำมากต่อมาก

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าเราจะบริหารจัดการน้ำของประเทศเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และแห้งแล้งขาดน้ำในฤดูแล้งจนกระทั่งเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตร อันเป็นอาชีพคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากันอยู่แทบทุกปี

รวมถึงปีนี้ เวลานี้ด้วย

 

ได้รับข่าวเพื่อนรักจะเข้ารับการผ่าตัดรักษาตรงส่วนหลังใกล้ๆ เอวเนื่องจากมีอาการเจ็บปวดเป็นประจำ เวลาเดินต้องใช้ไม้ค้ำยัน

เมื่อสอบถามรายละเอียดกลายเป็นว่าได้เคยผ่าตัดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกว่า 10 ปี อาการเจ็บปวดได้กลับมาอีก จึงต้องผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2

ฟังมาอย่างนี้จากแม่บ้านของเพื่อนย่อมเกิดอาการวิตกกังวลว่าบริเวณที่ผ่าตัดเป็นจุดสำคัญ แล้วยังเป็นการรื้อตรงแผลเก่าจะไม่เป็นการเสี่ยงเกินไปหรือ ในเมื่อคนไข้ก็เป็นผู้สูงวัยตัวเลขอายุผ่านหลัก 7 มาพอควร แต่มิได้เป็นแพทย์ ในเมื่อท่านคิดว่าไม่เป็นไรยินยอมผ่าตัดให้ย่อมสบายใจได้ไปขั้นหนึ่ง

ถึงกำหนดวันลงมีดผ่าตัดผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เราได้รับรายงานทางโทรศัพท์ ทั้งเสียงและภาพตามแบบฉบับการสื่อสารอันทันสมัยของโลกปัจจุบัน จึงคิดหาเส้นทางในการเดินทางไปเยี่ยมเพื่อเป็นกำลังใจ แต่ไม่ต้องการขับรถส่วนตัวไปเนื่องจากเบื่อการจราจรอันแออัดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่จอดรถ

เราใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ไปลงยังสถานีซึ่งมีเส้นทางใกล้เคียงกับโรงพยาบาลมากที่สุด แล้วต่อด้วยจักรยานยนต์รับจ้างสู่จุดหมาย

เดินทางไปถึงยังประตูทางเข้าโรงพยาบาลของรัฐเป็นเวลากว่าบ่ายสี่โมงเย็น ค่อนข้างแปลกใจเล็กน้อยเมื่อเห็นรถวีลแชร์ (Wheel Chair) จำนวนมากแน่นขนัดห้องโถงด้านหน้า

ซึ่งผู้ที่อยู่บนรถดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีครอบครัวลูกหลานญาติมิตรช่วยเข็น พวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนอยู่ในวัยสูงอายุแทบทั้งสิ้น นั่งรอรถรับจ้างเพื่อเดินทางกลับบ้านพัก หลังเข้ารับการตรวจรักษาพยาบาลแล้ว

 

ปกติผมเดินทางไปพบแพทย์ตามระยะเวลาที่ท่านนัดหมายอย่างน้อย 2-3 เดือนโดยประมาณเพื่อรับการตรวจและรับยา โดยพยายามจัดเวลาหลีกเลี่ยงการตรวจรักษาในเวลาราชการไปเป็นคลินิกนอกเวลาราชการ ซึ่งจะเปิดทำการตรวจรักษาหลัง 4 โมงเย็นเป็นต้นไป

ทุกครั้งจะไปรับการเจาะเลือดตามคำสั่งของหมอไว้ก่อนในตอนเช้า และนัดหมายมารับผลในตอนบ่ายเพื่อพบหมอในตอนเย็น เนื่องจากเส้นทางเดินทางจากบ้านสู่โรงพยาบาลที่รับการตรวจรักษาประจำมีรถไฟฟ้าผ่าน จึงไม่ค่อยได้เห็นสภาพอันแน่นขนัดในเวลาราชการตอนเช้าตรู่

วันหนึ่งมีความจำเป็นต้องไปรอต่อคิวเพื่อรับการตรวจตามคำสั่งแพทย์ เป็นการนัดล่วงหน้าไว้หลายเดือนในช่วงเช้า การเดินทางครั้งนี้ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเนื่องจากไม่มีทางเบียดแทรกขึ้นรถไฟฟ้าได้ในเวลาเร่งด่วนเช้าตรู่ ซึ่งกว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนจนถึงกดบัตรคิว รอชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ส่วนสูง ต้องยืนรอกระทั่งได้พบแพทย์ก็เลยเวลาเที่ยงไปแล้ว

สภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยที่ไปรอพบแพทย์ด้วยโรคภัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นมากมายเกินกว่าแพทย์จะตรวจรักษาได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่จำนวนหมอแต่ละท่านทำงานกันหนักมาก

ภาพเหล่านี้เป็นชีวิตประจำวันที่โรงพยาบาลซึ่งเราไม่ได้พบเห็นเองต่างหาก

แน่นอนมีผู้ป่วยหลายหลากวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ (Wheel Chair) จอดกันแออัดแน่นห้องเพื่อรอเข้าพบแพทย์

ทั้งที่เป็นห้องใหญ่พอสมควรยังต้องยืนรอนั่งรอเรียงกันตามขั้นบันไดขึ้น-ลงไปอีก 2-3 ชั้น ตรงชั้นนั้น เป็นการรอเพื่อตรวจโรคทางเดินอาหาร ลำไส้ ฯลฯ ในห้องรอตรวจโรคอื่นๆ ในทุกๆ ชั้นของโรงพยาบาลคนไข้มากมายแค่ไหนเพียงไรในแต่ละวัน

อยากรู้ต้องไปเห็นด้วยตา หรือไปค้นหาสถิติยังโรงพยาบาลของรัฐเอาเอง

 

ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนพ้องญาติมิตร ผู้ใหญ่ที่เคารพรักนับถือมาแล้วไม่น้อยครั้ง รวมทั้งเคยรับบริการรักษาทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ได้เห็นความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ทั้งทางด้านบริการ ห้องพักรักษาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โรงพยาบาลเอกชนมาตรฐานชั้นหนึ่งนั้นเป็นธุรกิจย่อมจัดหาแพทย์ผู้มีความสามารถเฉพาะทางมาทำการรักษา ค่าบริการรักษาพยาบาลจึงต้องสูง

ขณะเดียวกันยังรับตรวจรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยต่างชาติซึ่งมีกำลังทรัพย์สูงพอด้วย โรงพยาบาลเอกชนระดับมาตรฐานเหล่านี้เป็นธุรกิจบริการทางด้านสุขภาพ ความเจ็บป่วยเป็น “บริษัทมหาชน” จดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

บ้านเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในวัยชราภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในยามเจ็บป่วยซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สังคมย่อมต้องเอื้ออาทรในทุกๆ ด้านมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีสวัสดิการของรัฐ สวัสดิการอื่น และประกันสังคม

รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง