อดีตทหารผ่านศึกอิรัก ใช้ความรุนแรงละลายความเครียด หลังสถิติฆ่าตัวตายสูงวันละ22คน

พิศณุ นิลกลัด

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิง ที่สายพานรับกระเป๋าที่สนามบิน เมืองฟอร์ต ลอเดอร์เดล (Fort Lauderdale) รัฐฟลอริดา มือปืนผู้กราดยิงคือ เอสเตบาน ซานติอโก้ (EstebanSantiago) ทหารผ่านศึกในอิรัก วัย 26 ปี มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 6 คน

เอสเตบาน ซานติอาโก้ เกิดที่สหรัฐอเมริกา เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายปอร์โตริกัน เคยประจำการที่อิรักเป็นเวลา 10 เดือนสังกัดหน่วยทหารช่างระหว่างเดือนเมษายน ปี 2010 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011

ป้าของเอสเตบาน บอกว่าหลังกลับมาจากประจำการที่อิรัก เอสเตบานมีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ทะเลาะกับคนอื่นไปทั่ว

เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เอสเตบานเดินเข้าไปในตึกทำการ FBI ด้วยตัวเอง และพร่ำพูดกับทาง FBI ว่า จิตใจเขาถูกสำนักงานข่าวกรองของสหรัฐ และ CIA บังคับให้เขาดูวิดีโอของ ISIS แต่เขาไม่มีจุดประสงค์ที่จะทำร้ายใคร

ทาง FBI ก็กังวลถึงพฤติกรรมแปลกๆ ของเอสเตบานจึงส่งตัวเขาไปยังสถานบำบัดทางจิตเพื่อวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตหรือเปล่า

หลังจากใช้เวลาเพียง 4 วันในการตรวจวินิจฉัย เอสเตบานได้รับการปล่อยตัวออกมา โดยสถานบำบัดสรุปว่าเขาไม่มีอาการทางจิต หลายคนเห็นว่าด่วนสรุปเร็วเกินไป

 

ที่สหรัฐอเมริกา ทหารผ่านศึกในอิรักและอัฟกานิสถาน ประมาณ 10-18% เมื่อกลับมาถึงอเมริกา จะมีอาการเครียดหลังสงคราม ซึ่งเป็นอาการเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยมีภาษาทางการแพทย์เรียกว่า โพสต์ ทรอมาทิก สเตรส ดิสออเดอร์ (Post-Traumatic Stress Disorder) เรียกสั้นๆ ว่า พีทีเอสดี (PTSD)

ในกรณีของเอสเตบาน ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเขามีอาการ PTSD จากการไปประจำการที่อิรักหรือเปล่า

ปัจจุบัน ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันกว่า 250,000 คน มีอาการเครียดที่ว่านี้

สาเหตุความเครียดมาจากประสบการณ์ที่โหดร้ายในสงคราม เห็นเพื่อนทหารด้วยกันถูกฆ่าตาย, เห็นลูกเด็กเล็กแดงเสียชีวิต หรือตัวเองบาดเจ็บ ส่งผลให้มีทหารผ่านศึกที่กลับมาใช้ชีวิตที่อเมริกามีอัตราฆ่าตัวตายแต่ละวันสูงถึง 22 คน

มากยิ่งกว่าเสียชีวิตในสนามรบ!

 

ท็อดด์ แวนซ์ (Todd Vance) หนึ่งในทหารผ่านศึกอิรักซึ่งประสบอาการเครียด PTSD กลายเป็นคนหวาดระแวงสิ่งต่างๆ รอบตัวจนมีความเครียดอย่างรุนแรง

ท็อดด์เข้าพบจิตแพทย์ ทานยาแก้เครียดแต่ก็ไม่ได้ผล เขากลายเป็นคนติดเหล้า หาเรื่องชกต่อยไปทั่ว จนท็อดด์ได้คิดว่าการชกต่อยช่วยระบายความเครียดได้ เขาจึงสมัครเรียนศิลปะป้องกันตัวมิกซ์ มาร์เชี่ยล อาร์ตส (Mixed Martial Arts) เรียกย่อว่า MMA

หลังจาก ท็อดด์ แวนซ์ เข้าเรียน MMA และเข้าแข่งขัน MMA ระดับสมัครเล่น อาการเครียดหลังสงครามลดลงอย่างมาก เขาจึงเกิดความคิดที่จะช่วยทหารผ่านศึกคนอื่นๆ ที่เป็นอย่างเขา

ท็อดด์ แวนซ์ ก่อตั้งโครงการพาว (POW) ย่อมาจากพิวจิลลิสติก ออฟเฟนซีฟ วอร์ริเออร์ (Pugilistic Offensive Warrior แปลว่า นักรบที่มีศิลปะการต่อยมวย) ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010

ค่ายซ้อมนี้อยู่ที่เมืองซาน ดิเอโก ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยทหารผ่านศึกด้วยกันที่มีอาการเครียดหลังการรบ สามารถเข้าฝึก MMA ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีทหารผ่านศึกเข้าร่วมโครงการอย่างล้นหลาม

หลายคนมองว่าเป็นเรื่องแปลกที่ใช้กีฬา MMA ซึ่งเป็นกีฬาที่รุนแรง ดุเดือด ทำร้ายคู่ต่อสู้ มาช่วยทหารผ่านศึกที่มีความเครียดจากความรุนแรงในสงคราม

แต่ ท็อดด์ แวนซ์ และเหล่าทหารผ่านศึกที่ร่วมโครงการพาว เห็นตรงกันว่า การซ้อม MMA ที่เป็นการซ้อมเตะ ต่อย ต่อสู้นั้น เป็นการชกต่อยระบายความเครียดในค่ายซ้อมที่ปลอดภัย ไม่ใช่ชกต่อยก่อเรื่องตามร้านเหล้า ตามบาร์

 

การฝึกซ้อม MMA ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายอีกครั้ง ไม่กินเหล้าหัวราน้ำ ต้องรีบเข้านอน เพื่อตื่นแต่เช้ามาฝึกซ้อม ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง

มีการฝึกร่วมกันสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังจากฝึกเสร็จจะมีการจับคู่ต่อสู้ MMA ในหมู่เพื่อนทหารผ่านศึกด้วยกัน ซึ่งบรรดาทหารผ่านศึกกล่าวว่า การได้มาฝึกซ้อมร่วมกัน ทำให้หายคิดถึงการใช้ชีวิตทหารที่ฝึกรบด้วยกัน ได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่เข้าใจชีวิตทหารผ่านศึก ช่วยลดอาการเครียดหลังสงคราม

ที่สำคัญคือเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจในการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากปลดประจำการ

ท็อดด์ แวนซ์ กล่าวว่า การฝึกซ้อมต่อสู้กีฬา MMA เปรียบเหมือนการใช้ชีวิต

โดยขณะที่ซ้อม MMA เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์คับขัน นอนหงายหลังบนผืนผ้าใบและคู่ต่อสู้กำลังจะต่อยหน้า เราต้องมีสติว่าจะหลบหลีกหมัดของคู่ต่อสู้อย่างไร เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของทหารผ่านศึกที่มีอาการ PTSD หากรู้สึกเหมือนมีคนจ้องหน้า และรู้สึกไม่พอใจ ก็รู้จักที่จะสูดหายใจเข้าปอดลึกๆ ใช้สติในการประเมินสถานการณ์

หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ชั่ววูบซึ่งมักจะจบลงด้วยการใช้ความรุนแรง