เรื่องของแม่หญิงลาว เด็กหญิง ยังคงตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมทางเพศ

ผู้หญิงในทุกสังคมทั่วโลก เหมือนกันอยู่ประการหนึ่งนั่นคือ ถูกผู้ชายรังแก

ไม่เว้นแม้แต่แม่หญิงส่วนหนึ่งของสังคมลาวในเวลานี้

“ผู้หญิงในลาวยังคงต้องทนทุกข์กับความรุนแรงจากน้ำมือของผู้ชาย เพราะผู้ชายบางคนยังคิดว่านั่นเป็นพฤติกรรมปกติสามัญ

“ผู้หญิงยังถูกละเลย ไม่ได้รับความเคารพ ผู้ชายบางคนยังคิดอยู่เลยว่า ผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตด้อยค่ากว่า สำคัญน้อยกว่า เหมือนความเชื่อดั้งเดิมตามวัฒนธรรม” เหล่านี้คือคำตอบของ สอนสะเดด มะนีจัน แม่หญิงที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางการลาวประจำวังเวียง อำเภอในแขวงนครเวียงจันทน์

แม่หญิงลาวยังคงรู้สึกเช่นนี้ แม้ว่า สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่า นโยบายของลาวที่ผ่านมาส่งเสริมและช่วยพัฒนาผู้หญิงและเด็กหญิง เพื่อพยายามให้แน่ใจว่าทุกๆ คนไม่ว่าชายหรือหญิงจะมีสิทธิเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน

ลีวะทา วงสมบัด ชายหนุ่มนักธุรกิจในเวียงจันทน์ คิดว่าแม่หญิงในลาวยามนี้ได้รับการปกป้องดีกว่าเมื่อก่อนเพราะได้รับการยอมรับในสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย และรัฐบาลยังดำเนินการหลายๆ อย่างเพื่อจำกัดความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ปัญหาก็ยังปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนการศึกษาและไม่เข้าใจว่าไม่ควรปฏิบัติต่อผู้หญิงแย่ๆ

“ผมเป็นผู้ชายแต่คิดว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องควรประณาม ไม่ควรมีใครใช้ความแข็งแรงกว่าทางร่างกายไปเพื่อทำร้ายผู้หญิง”

ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจ “สุขภาวะแม่หญิงลาว” เมื่อปี 2014 ยืนยันข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนเป็น “ความรู้สึก” ข้างต้นนี้

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วถูกกระทำรุนแรงจากชายผู้เป็นสามีอย่างน้อยที่สุด 1 ชนิด ราวๆ 7 เปอร์เซ็นต์ผ่านประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงทางเพศจากผู้เป็นสามี หรือคู่รัก อีก 12 เปอร์เซ็นต์ ต้องทนทรมานกับการถูกผู้ชายทำร้ายร่างกาย

ที่น่าเศร้าใจก็คือ เด็กหญิง ในลาวยังคงตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเราอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ผลสำรวจอีกชิ้นที่เน้นการสำรวจการกระทำรุนแรงต่อเด็กโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ พบว่า ทุกๆ ทารกที่คลอดออกมา 1,000 ราย จะเป็นทารกที่เกิดจากเด็กหญิงอายุระหว่าง 10-19 ปีมากถึง 94 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.4 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการคลอดบุตรของเด็กหญิงในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สุดไจ แม่หญิงกำแพงนครเวียงจันทน์ ร้องหากฎหมายที่มีการบังคับใช้โทษหนักต่อผู้ชายที่ทุบตีภรรยาหรือผู้หญิงอื่นใด

“ทั้งชายทั้งหญิงควรได้รับรู้กฎเกณฑ์เหล่านี้เหมือนๆ กัน ผู้หญิงเองจะได้รู้ว่าตัวเองได้รับการคุ้มครอง ผู้ชายก็จะได้กลัวการถูกลงโทษ ต้องให้ได้รับรู้ทั่วกันว่าเรื่องเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับและผิดกฎหมาย”

สอนสะเดด คาดหวังว่าทางการควรใส่ใจต่อปัญหานี้ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และสนับสนุนผู้หญิงด้วยการทำให้ทุกคนเข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายเป็นความผิด เธอยังเห็นว่า การศึกษา จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้

ลีวะทา เสนอทางแก้ให้มีที่ปรึกษาสำหรับผู้หญิงขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่า จากการสังเกตของตนเอง แม่หญิงลาวมักกลัวและอายที่จะพูดถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่กับเพื่อนๆ ที่ปรึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี จะสามารถให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำได้ดีกว่า

 

สอนไซ สีพันดอน ในนามของรัฐบาลลาว เรียกร้องเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ต่อทุกๆ ภาคส่วนในสังคมให้ร่วมมือกันพยายามยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยการรณรงค์ให้เข้มข้นขึ้น สร้างความตื่นตัวให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนทัศนคติเหยียดเพศแบบเดิมๆ หรือขนบประเพณีที่ล้าสมัยให้หมดไป

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลเองก็ต้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ และดำเนินการให้แน่ใจว่า แม่หญิงลาว สามารถเข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ การจ้างงานและบริการต่างๆ ได้อย่างเสมอภาค

แนวคิดดังกล่าวนี้ ไม่เพียงดีต่อสตรีทั้งหลายเท่านั้นยังดียิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย