โลกร้อนเพราะมือเรา ตามไปดู อนาคตธุรกิจท่องเที่ยว “สวิส”

คราวที่แล้ว เกริ่นถึงรัฐบาลสวิสแสดงความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา “โลกร้อน” อย่างมากถึงขั้นประกาศเซ็นสัญญากับสหประชาชาติที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศแรกของโลก พร้อมกับตั้งเป้าภายในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณที่เคยปล่อยเมื่อปี 2533

ความจริงแล้ว สวิสเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศน้อยมากแค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยทั่วโลก

แต่สวิสกลับแสดงความรับผิดชอบมากกว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐหรือจีนที่ปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด

สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่า เป็นดินแดนสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

บางคนถึงกับยกย่องให้เป็นสวรรค์บนดิน ด้วยทำเลที่ตั้ง มีทั้งเทือกเขาเอลป์โอบล้อม กลาเซียร์บนยอดภูผา ทะเลสาบและแหล่งน้ำลำธารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศใสสะอาด บ้านเรือนออกแบบวางผังสร้างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เศรษฐกิจของสวิสมีเสถียรภาพมาก เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนเพราะการเมืองมั่นคง ผู้คนมีการศึกษาดี รักษาวินัย เคารพกฎหมาย ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสุขภาพ

เหตุที่รัฐบาลสวิสให้ความสำคัญและกระตือรือร้นกับภาวะโลกร้อน ก็เพราะรู้ว่า ถ้าชาวโลกไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมๆ ยังปล่อยให้โรงงานพ่นควันพิษ รถยนต์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากอยู่อีก

ชาวสวิสจะต้องเจอกับมหันตภัยที่มาจากภาวะโลกร้อนเหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ

 

“บรูโน โอเบอร์เล่” (Bruno Oberle) ผู้อำนวยการสำนักงานสหพันธรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อม เขียนบทนำในรายงานการศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนของสวิตเซอร์แลนด์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในสวิตเซอร์แลนด์ด้วย

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนฟ้าที่แปรปรวน มีผลกับผิวน้ำ ระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ

ธารน้ำแข็งกำลังละลาย หุบเขาของเทือกเขาเอลป์ย่อมได้รับแรงกระเทือน อนาคตจะไม่มีความมั่นคง

ในฤดูร้อน อากาศร้อนทอดยาวนานและเกิดบ่อยครั้ง สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปะปนกับสัตว์และพืชประจำถิ่น

ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งแวดล้อมในสวิตเซอร์แลนด์กำลังเปลี่ยนไป

 

เช่นเดียวกันกับ ดร.เคธี่ ริคลิน ประธานคณะที่ปรึกษาว่าด้วยสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวในบทบรรณาธิการของรายงาน “สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและสวิตเซอร์แลนด์ 2050” ไว้ดังนี้

“เมื่อราวๆ 45 ปีที่แล้ว ดิฉันยังเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในฤดูหนาวพวกเราเด็กๆ พากันเล่นล้อเลื่อนจากถนนเอ็กเคอร์มานน์มุ่งหน้าไปที่ซูริกแบร์กซึ่งเป็นเนินเขาสูงล้อมรอบด้วยป่าสน มองลงมาเห็นทะเลสาบซูริก ปัจจุบันซูริกแบร์กเป็นที่ตั้งของสถาบันอุตุนิยมวิทยาสวิส

เวลาผ่านไป การเล่นล้อเลื่อนในซูริก หรือเนินเขาเอลป์ แทบจะเป็นไปได้ยากมาก

คำถามมีอยู่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สวิสจะเป็นอย่างไร? เด็กๆ ของเราจะมีโอกาสได้เล่นเหมือนเราเมื่อ 45 ปีก่อนหรือเปล่า?”

รายงานทั้งสองเล่มนี้ จะนำเสนอในบทความ “โลกร้อนเพราะมือเรา” ตอนต่อๆ ไป

 

แต่คราวนี้ขอกลับมาพูดถึงการเปลี่ยนสภาวะอากาศกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสวิส

อย่างที่ทราบกันดีว่า ยุโรปเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก

แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนยุโรปราวๆ 460 ล้านคน หรือเทียบเท่า 55 เปอร์เซ็นต์ของการท่องเที่ยวโลก

สวิสเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสวิส ทำรายได้ราว 2.8-2.9 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นแหล่งสร้างงานที่สำคัญ และนักท่องเที่ยวซื้อสินค้า “สวิส เมด” เช่น นาฬิกา คิดเป็น 5.3% ของมูลค่าการส่งออก

ทุกๆ ปีนักท่องเที่ยวราว 60-80 ล้านคนจะมุ่งหน้าขึ้นเทือกเขาเอลป์เชื่อมต่อระหว่างสวิส ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรีย เพื่อชมทิวทัศน์อันสวยงาม เล่นสกี พักบนรีสอร์ตที่สร้างอยู่ตามริมผาสูงหรือกลางหุบเขา

เทือกเขาเอลป์มีที่สกีรีสอร์ตมากกว่า 600 แห่ง

กิจกรรมท่องเที่ยวบนยอดเขาเอลป์ทำรายได้ปีละ 50,000 ล้านยูโร (ราวๆ 1.8 ล้านล้านบาท)

เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูเช่นนี้ รัฐบาลสวิสจึงให้ความสำคัญมากและหาทางพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนพร้อมกับป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบในทางลบ

การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นปัญหาที่รัฐบาลสวิสจับตามองเป็นลำดับแรก เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ในงานวิจัยประเมินว่าสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางตรงนั้น ได้แก่ คุณภาพน้ำเสื่อม สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความสวยงามของภูมิทัศน์หายไป สินค้าเกษตรกรรมมีคุณภาพตกต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงอันตรายอันเนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมีมากขึ้น เช่น เกิดภัยพิบัติร้ายแรงจากฝนถล่ม ทำให้มีน้ำท่วมใหญ่ ดินโคลนทะลักล้น เชื้อโรคแพร่ระบาด

ผลกระทบทางตรงดังกล่าวกระทบชิ่งไปยังอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวเกิดอาการหวาดผวาไม่กล้าเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงอันตรายของสวิส

ไร่องุ่นแหล่งผลิตไวน์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจตามไหล่เขา หากเจอกับอากาศร้อนหรือพายุฝนกระหน่ำ ทำให้ต้นองุ่นเหี่ยวเฉา พื้นที่ดังกล่าวจะสูญเสียรายได้ทั้งการผลิตไวน์และการท่องเที่ยว

 

เช่นเดียวกัน ในฤดูหนาว ปริมาณหิมะตกน้อยลง มีผลต่อแหล่งสกีรีสอร์ต เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสอากาศเย็นๆ หิมะตกหนาๆ จนขาวโพลน ได้เล่นสกีอย่างสนุกสนาน ยกเลิกแผนการเดินทางไปยังสกีรีสอร์ตดังกล่าว

ในการสำรวจพบว่า ถ้าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส หิมะตกน้อยลงในฤดูหนาวจะเล่นสกีได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์

เมื่อหิมะตกน้อยลง ขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้น แผ่นน้ำแข็งบางลงและละลายเร็ว โอกาสที่จะเกิดหินถล่ม ดินสไลด์มีมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่นิยมปีนเขา เดินท่องป่า ไม่กล้าเสี่ยงตายหลีกเลี่ยงไปเที่ยวถิ่นอื่น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในฤดูหนาวของสวิสได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รัฐบาลสวิสจึงหาทางวิจัยและพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น คิดสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสวิสตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องกังวลกับสภาวะอากาศแปรปรวน

พัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ในช่วงฤดูร้อน และวิจัยเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำหิมะเทียมให้มีประสิทธิภาพรองรับกิจกรรมในฤดูหนาว

นี่เป็นแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์