ขอบคุณข้อมูลจาก | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
---|---|
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มกราคม 2560 |
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
ยูเครนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องด้วยมีประชากรประมาณ 47 ล้านคน ถือว่าเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ ยูเครนยังมีทางออกสู่ทะเล เหมาะแก่การขนส่งสินค้าทางทะเลที่มีความสะดวกและมีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางอากาศหรือขนส่งโดยผ่านประเทศที่สาม
จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปขยายตลาดสินค้าในยูเครนมากขึ้น
เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย นายอันดรีย์ เบชตา กล่าวถึงการค้ากับไทยว่า
“สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับ 1 ของประเทศยูเครน โดยเฉพาะ ค.ศ.2015 การค้ามีมูลค่าเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเชิงบวกในปีต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้กลายเป็นตลาดที่กำลังเติบโตใหญ่เป็นอันดับสองสำหรับการส่งออกของยูเครนรองจากสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้”
“การส่งออกของเราในอดีต ส่วนใหญ่เป็นเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะแต่ขณะนี้กลับกลายเป็นสินค้าทางการเกษตร”
“ยูเครนเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็นตะกร้าขนมปังของยุโรป (breadbasket of Europe) เพราะมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสีดำและความเป็นธรรมชาติสูงมาก นับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป ปีที่ผ่านมายูเครนได้กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดแก่ประเทศไทย (ประมาณ 1.5 ล้านตัน)”
“ในทำนองเดียวกัน สินค้าที่ยูเครนนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 35-40 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ได้แก่ ปลา และอาหารทะเล สัตว์ปีก ผลไม้สดและผลไม้กระป๋อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิของไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก และเป็นที่นิยมมากในยูเครน สินค้าส่งออกของไทยอื่นๆ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์”
“เรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนไทย คือศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของยูเครน เนื่องจากเรามีเกือบ 1,500 สถาบันและองค์กร ซึ่งประมาณ 500 สถาบันและองค์กรอยู่ในภาควิชาการในขณะที่อีก 1,000 สถาบันและองค์กรอยู่ในภาคอุตสาหกรรม คนจำนวน 126,000 คนมีส่วนร่วมโดยตรงในงานด้านการวิจัยและวิศวกรรม ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์นี้ช่วยยูเครนในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคต่างๆ ของอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยานและการบิน การต่อเรือ การขนส่ง พลังงาน ชีวเคมี และไอที เป็นต้น”
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือจุดเด่นของยูเครน ซึ่งผมในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตต้องการที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่สามารถเพิ่มมูลค่าอย่างสูงสุดของตลาดสินค้าและบริการ”
“ตัวอย่างด้านบวกของความร่วมมือในอดีตระหว่างยูเครนกับไทย ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง เราได้มีการพัฒนาความร่วมมือที่ดีทั้งในทางทหารและวิชาการ อาทิ เมื่อปี ค.ศ.2012 รัฐบาลยูเครนได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการป้องกัน ปี ค.ศ.2008 ยูเครนได้จัดส่งยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 8 ล้อ BTR-3E1 (APC-Armored Personnel Carrier : BTR-3E1) และรถถังหลัก OPLOT ให้แก่กองทัพบกไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องกันประเทศของไทย”
“ซึ่งเรามีความพร้อมที่จะพิจารณาเพื่อการผลิตร่วมกันในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในราชอาณาจักร”
“อีกตัวอย่างหนึ่งในปี ค.ศ.2008 คือการปล่อยดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือดาวเทียมธีออส (THEOS : Thailand Earth Observation Satellite) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทยสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยจรวดนำส่ง เนปเปอร์ (Dnepr) ของบริษัท ISC Kosmotras ประเทศยูเครน และส่งขึ้นจากฐานยิงของประเทศรัสเซีย”
“ตัวอย่างของความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน บรรษัทของยูเครน “แองโทนอฟ” (Antonov) ได้สร้างหน่วยงานกว่า 22,000 แห่ง และมีรูปแบบในการปรับเปลี่ยนเครื่องบินมากกว่า 100 แบบทั้งเครื่องบินโดยสาร เครื่องบินขนส่ง เครื่องบินทหารและเครื่องบินที่ใช้ในวัตถุประสงค์พิเศษ”
“เครื่องบินบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ AN-124 “Ruslan” และ AN- 225 “Mriya” เป็นตัวนำความภาคภูมิใจเป็นพิเศษมาสู่นักออกแบบเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
“และเมื่อไม่นานมานี้เครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก AN- 225 “Mriya” ได้เริ่มเที่ยวบินในภารกิจการส่งมอบที่ไม่ได้มีบ่อยนักข้ามทวีปยุโรปและเอเชียแล้วบินสู่ประเทศออสเตรเลีย ความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของ Antonov AN-225 “Mriya” สามารถนำมาใช้สำหรับการจัดส่งสินค้าพิเศษ (กังหัน ตู้รถไฟ หัวรถจักร) ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และเราสามารถผลิตเครื่องบินในประเทศไทยในกรอบของการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นตามนโยบายการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ”
ไทยมีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบเพราะอยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาค และมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม และยังเป็นประตูสู่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา
นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันซึ่งเอื้อแก่การขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ รวมไปถึงมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับคุณภาพเป็นจำนวนมาก และเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค
“ยูเครนสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ทุกอย่างสำหรับการสร้างเครือข่ายดังกล่าว” ท่านทูตกล่าว
“เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมดิจิตอลประเทศไทย (Conference Digital Thailand) จากคำกล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นถึงความสำคัญเป็นอย่างสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศไทยในด้านต่างๆ ผมสามารถกล่าวว่า ภาคไอทีในยูเครนได้กลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นลำดับที่ 3 ในโลก ปัจจุบัน มีผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ที่ได้รับการรับรองในประเทศถึง 100,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2020”
“ผมจึงขอเชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนในยูเครน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเกษตร และการบริการ นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังจะได้รับการต้อนรับให้มีส่วนร่วมในการแปรรูปที่จะเกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งในยูเครน”
“ในระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.2016 ในโอกาสที่ผมมารับหน้าที่ใหม่ในประเทศไทย เราทั้งสองแสดงความสนใจในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา เช่นเดียวกับการยอมรับว่า มีศักยภาพที่สูงมากต่อการพัฒนาความร่วมมือกันต่อไปในอีกหลายด้าน” ท่านทูตเบชตา กล่าวส่งท้ายว่า
“ดังนั้น ผมจึงมองในแง่ดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและไทย โดยจะมีการพัฒนาความร่วมมือที่นำไปสู่ความสำเร็จอีกหลายด้านต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติและประชาชนเพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน”