วงค์ ตาวัน : อุ้มหายและอุ้มฆ่า

วงค์ ตาวัน

เกิดคดีอุ้มฆ่าเป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นมาอีกแล้ว แถมยังมีนายตำรวจระดับ พ.ต.อ. ตำแหน่งผู้กำกับฯ หัวหน้าโรงพัก ตกเป็นผู้ต้องหา ฐานเป็นผู้ใช้จ้างวาน อีกทั้งผู้รับงานไปลงมืออุ้มเหยื่อนั้น บางรายยังเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอีก เลยยิ่งเป็นข่าวดังเข้าไปใหญ่

ปมเหตุตามการสืบสวนสอบสวนของตำรวจชุดคลี่คลายคดี พบว่าเป็นเรื่องชิงรักหักสวาท โดย “สาวทอม” เหยื่อที่ถูกอุ้มฆ่านั้น ไปติดพันนักร้องสาวสวย ซึ่งนักร้องสาวคนนี้สนิทสนมใกล้ชิดกับนายตำรวจระดับ ผกก. ดังกล่าว เลยกลายเป็นเรื่องขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ ตำรวจยุค พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ภายใต้การสืบสวนสอบสวนของนครบาลยุค พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ยกโขยง ส่วนใครจะถูกผิดหรือต้องรับโทษขนาดไหน ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไป

“แต่สำคัญว่า คดีนี้ตำรวจสามารถตามศพเหยื่อสาวทอมจนพบ แม้คนร้ายพยายามอำพรางด้วยการนำไปฝัง นี่ทำให้สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมได้!”

ประเด็นที่ควรนำมากล่าวถึงสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ กระบวนการอุ้มฆ่าคน ยังไม่หมดสิ้นไปจากบ้านเมืองเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยเป็นอันมาก

ที่เรียกว่าอุ้มนั้น คือ กระบวนการที่ใช้กลุ่มชายฉกรรจ์ไปดักจับตัวเหยื่อ แล้วเอาตัวไปบังคับกักขังก่อนฆ่า หรือไม่ก็เอาไปสังหารทิ้งในทันที

จากนั้นจะต้องมีการทำลายศพหรืออำพรางศพ เพื่อไม่ให้มีใครพบศพ

เพราะตามกฎหมายของบ้านเรานั้น หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีศพ คดีนั้นไม่อาจเอาความผิดฐานฆาตกรรมได้

จะกลายเป็นคดีลักพาตัวแล้วหายสาบสูญ ซึ่งโทษจะลดลงไปมาก

“ดังนั้น กลุ่มฆาตกรที่รอบรู้กฎหมาย จึงมักจะต้องทำลายหรืออำพรางศพ อันถือเป็นหลักฐานในการชี้ขาดรูปคดี”

การอำพรางก็เช่น การนำศพไปฝังในสถานที่ที่ค้นหาได้ยาก หรือเอาไปโยนทิ้งในหุบเหวป่าเขาที่ห่างไกล

แต่วิธีนี้ หลายครั้ง หากเจอตำรวจที่มีความสามารถสืบสวนสอบสวนแกะรอยได้ดี สุดท้ายก็สามารถตามหาศพจนพบได้ ก็จะกลายเป็นคดีที่ตั้งข้อหาฆาตกรรมได้

“ดังนั้น พวกที่เหนือชั้นจริงๆ จะมีการทำลายศพ จนสุดท้ายไม่สามารถตามหลักฐานอะไรได้เลย!”

วิธีทำลายศพที่เหนือเมฆที่สุด ก็คือ การเผาร่างจนป่น เหลือแค่เศษกระดูกบางส่วนกับขี้เถ้า จากนั้นก็นำเศษกระดูกที่เผาไม่หมดกับขี้เถ้า ไปเททิ้งลงไปในแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ ให้กระจายหายไป จนไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้อีก

กระบวนการทำลายศพเช่นนี้ น่ากลัวที่สุด เพราะจะทำให้กลุ่มที่ก่อเหตุลอยนวล ด้วยเกินกว่าที่กฎหมายจะทำอะไรได้

จนมีการรณรงค์เคลื่อนไหวผลักดันให้แก้กฎหมาย เพื่อป้องกันการลักพาตัวทำให้สูญหายอยู่ในขณะนี้

 

แต่การฆ่าเผาป่นทำลายศพนั้น ต้องเป็นกระบวนการของกลุ่มคนที่มีศักยภาพพอสมควร เชื่อได้ว่าผู้ก่อเหตุอุ้มคนไปฆ่า ไม่ว่าใครต้องอยากทำลายศพทิ้งไม่ให้เหลือหลอ เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการถูกดำเนินคดีที่ดีที่สุด แต่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ

“นี่จึงยังพอเป็นโอกาสให้ฝ่ายกฎหมายติดตามหาศพพบได้ในหลายๆ คดี”

ที่ว่ากลุ่มอุ้มฆ่าเผาต้องมีศักยภาพพอสมควรนั้น เริ่มจากต้องมีกลุ่มคนที่ไปดักอุ้มเหยื่อก่อน จากนั้นต้องนำตัวไปยังสถานที่ที่เป็นอาณาเขตเฉพาะ ไม่มีคนนอกเข้ามาได้ และต้องเป็นที่กว้างใหญ่ จนคนนอกไม่สามารถเห็นขั้นตอนการฆ่าและเผาทำลายได้

การเผาป่น มักจะนำร่างเหยื่อที่ลงมือฆ่าแล้ว ไปใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งมีตะแกรงไว้รองรับกระดูกและชิ้นส่วนที่ไม่เผาไหม้ การลงมือเผาต้องใช้น้ำมันจำนวนหนึ่งเป็นเชื้อเพลิง และต้องใช้เวลาเผากันหลายชั่วโมง เพื่อให้มอดไหม้จนไม่เหลือ

ขั้นตอนเหล่านี้ ต้องมีคนดำเนินการหลายคน และต้องเฝ้ากันยาวนาน

สุดท้ายเมื่อเผาร่างจนหมด จะต้องนำเศษกระดูกและขี้เถ้า ไปละลายในแหล่งน้ำ หรือถ้าจะให้เอาแน่นอนมากขึ้น ก็ต้องทำลายถังที่ใช้เผานั้นด้วย เพื่อไม่ให้เหลืออะไรเลยแม้แต่น้อยนิด เพราะถังใบนั้นอาจนำไปตรวจพบดีเอ็นเอของเหยื่อ กลายเป็นหลักฐานก็ได้

“นี่คือวิธีทำลายศพที่แนบเนียนสุด!”

นอกนั้นจะมีการนำไปเผานั่งยางในป่าก็มี แต่วิธีนี้มักจะเหลือร่องรอยทิ้งเอาไว้

ยังมีวิธีเผาทำลายอีกแบบ ก็คือ นำเอาร่างเหยื่อไปว่าจ้างสัปเหร่อวัด เพื่อเพิ่มศพเข้าเตาเผา ในวันที่มีพิธีฌาปนกิจศพ แล้วรอรับกระดูกไปทำลายทิ้งในภายหลัง

“แต่การไปว่าจ้างแบบนี้ ไม่ใช่ไปว่าจ้างสัปเหร่อได้ง่ายๆ หรือทุกคน”

ต้องเป็นสัปเหร่อที่รู้จักมักคุ้นกับผู้จ้างวาน โดยมักเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสัปเหร่อใกล้ชิดเกรงอกเกรงใจ

ถึงที่สุดแล้ว การทำลายศพทิ้งจนไม่เหลือ ถือเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่อันตรายอย่างยิ่ง!

 

หากกล่าวถึงคดีอุ้มฆ่าที่โด่งดังที่สุด ไม่พ้นคดี 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ถูกดำเนินคดี แต่ก็ชดใช้ความผิดจนถึงที่สุดไปแล้ว โดยคดีนี้พยายามจะอำพรางศพ ด้วยการนำร่างนั่งอยู่ภายในรถเบนซ์ แล้วเข็นไปให้สิบล้อพุ่งชน เพื่อให้กลายเป็นคดีตายด้วยอุบัติเหตุรถชน แต่สุดท้ายก็อำพรางไม่สำเร็จ

ทั้งเมื่อมีศพเป็นหลักฐาน จึงกลายเป็นคดีฆาตกรรมที่โด่งดังแห่งยุคสมัย

มีคดีอุ้มฆ่าและทำลายศพเกิดขึ้นอีกหลายคดีในบ้านเรา จนทำให้หลายต่อหลายรายกลายเป็นคนสูญหาย

“แม้จะรู้ว่าถูกฆ่าแน่นอน แต่ลงเอยเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดสำหรับญาติมิตร เพราะไม่มีแม้แต่ร่างเพื่อนำมาประกอบพิธีศพตามหลักศาสนา”

การอุ้มฆ่าเผาทำลายศพ เกิดขึ้นมากมาย เหยื่อเป็นอาชญากรก็มี เป็นนักธุรกิจพ่อค้าที่ขัดแย้งผลประโยชน์ก็มี ชิงรักหักสวาทก็ไม่น้อย

“แต่ที่เป็นผลสะเทือนอย่างมาก ก็คือ การอุ้มหายที่เกิดกับนักสิทธิมนุษยชน ผู้นำการต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีผู้ห่วงหาอาลัยเป็นจำนวนมาก และเรื่องราวได้รับการบันทึกไว้ไม่ลืมเลือน!”

อย่างเช่น คดีการหายตัวของบิลลี่ ผู้นำกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอุทยานฯ นำตัวไปสอบสวน จนบัดนี้ยังไม่มีใครพบร่างหนุ่มนักสู้ของชาวกะเหรี่ยง

“แต่แน่นอนว่า การทวงถามคดีของบิลลี่จะต้องดังต่อเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด”

ยังมีการปราบปรามประชาชนในทางการเมือง เช่น การสังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หรือแม้แต่ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ยังมีผู้ถูกปราบปรามเข่นฆ่า แล้วไม่พบศพไม่พบร่างอีกจำนวนไม่น้อย

เหล่านี้เป็นกระบวนการทำลายศพทิ้งโดยฝีมือของฝ่ายรัฐอย่างแน่นอน เพราะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหาร

แต่ก็นั่นแหละ การสังหารหมู่ทางการเมืองที่เห็นๆ พบศพพบร่างไร้วิญญาณเกลื่อนถนน เกลื่อนวัด นั่นคือ คดี 99 ศพ เมื่อปี 2553

แม้จะไม่มีการทำลายศพ อำพรางศพ แต่จนบัดนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด!?!