เกษียร เตชะพีระ | จินตนาการปลายอุโมงค์ : ความเป็นไปได้และปัญหาของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

เกษียร เตชะพีระ

จินตนาการปลายอุโมงค์ (2)

(เรียบเรียงจากการนำเสนอของผู้เขียนในงานเสวนา “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ณ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันที่ 15 มิถุนายน ศกนี้)

2)ความเป็นไปได้และปัญหาในปัจจุบัน

อะไรคือความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่พอมองเห็น?

ตอบ : ผมคิดว่าคือการปรากฏตัวทางการเมืองของเสียงข้างมากใหม่ (the new majority) ในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งและการลงประชามติรัฐธรรมนูญครั้งต่างๆ ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาดังนี้ :

– การเลือกตั้ง 2544 : 11 ล้านเสียงของพรรคไทยรักไทย

– การเลือกตั้ง 2548 : 19 ล้านเสียงของพรรคไทยรักไทย

– การเลือกตั้ง 2549 : 16 ล้านเสียงของพรรคไทยรักไทย

– ประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 : 10.7 ล้านเสียงไม่รับ vs. 14 ล้านเสียงรับ

– การเลือกตั้ง 2550 : 12.3 ล้านเสียงของพรรคพลังประชาชน vs. 12.1 ล้านเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

– การเลือกตั้ง 2554 : 15.7 ล้านเสียงของพรรคเพื่อไทย vs. 11.4 ล้านเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

– ประชามติรัฐธรรมนูญ 2559 : 10.6 ล้านเสียงไม่รับ vs. 16.8 ล้านเสียงรับ

ภาพสรุปโดยรวมก็คือมีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งราว 10 กว่าล้านคนดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยที่มีแบบแผนการออกเสียงสม่ำเสมอคงเส้นคงวา ได้แก่ สนับสนุนแนวนโยบายประชานิยมของพรรคทักษิณ และคัดค้านระเบียบโครงสร้างการเมืองและแนวนโยบายที่นำเสนอโดยฝ่ายต่อต้านประชานิยมของพรรคทักษิณ

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ผลคะแนนมหาชนก็สะท้อนให้เห็นการปรากฏตัวซ้ำอีกครั้งของเสียงข้างมากใหม่ดังกล่าว :

7 พรรคประกาศไม่เอานายกฯ ประยุทธ์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง = 20.3 ล้านเสียง (ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, อนาคตใหม่, ประชาธิปัตย์, เสรีรวมไทย, เศรษฐกิจใหม่, ประชาชาติ, เพื่อชาติ)

พรรคพลังประชารัฐที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี = 8.4 ล้านเสียง

คำถามที่น่าสนใจคือกว่า 10-20 ล้านเสียงนี้มาจากไหน?

ความพยายามตอบคำถามนี้ทางวิชาการปรากฏเป็นครั้งแรกในงานของ Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, “Thaksin”s Populism”, Journal of Contemporary Asia, 38 : 1 (February 2008), 71.

ดังแผนภูมิด้านล่างนี้

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ เสนอว่าคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคทักษิณมีฐานชนชั้นมาจากแรงงานภาคเกษตร (41%) และแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (26%) จากกำลังแรงงานทั้งประเทศในปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) ซึ่งได้ประโยชน์จากแนวนโยบายประชานิยมของพรรคทักษิณ (เช่น แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, กองทุนหมู่บ้านละล้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ฯลฯ) และเมื่อรวมกันเข้าก็เป็นเสียงข้างมาก (67%) ของกำลังแรงงาน

ตัวเลขที่ชัดเจนยิ่งขึ้นปรากฏในงานวิจัยของอภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ ซึ่งแจกแจงข้อมูลว่าชนชั้นกลางล่างไทยผู้ได้ประโยชน์จากแนวนโยบายประชานิยมและน่าจะเป็นฐานเสียงสนับสนุนของพรรคทักษิณได้กลายเป็นเสียงข้างมากของประชากรไปแล้ว (36 ล้านคนในปี พ.ศ.2556)

โดยมีจำนวนมากกว่าชนชั้นกลางบนและกลุ่มคนจนรวมกันเสียอีก (13.3 + 14.3 = 27.6 ล้านคน)

นอกจากนี้ เมื่อเราพิจารณาดูมิติการจำแนกประชากรในแง่อายุ/รุ่นคน (generation) ซึ่งกลายเป็นเส้นแบ่งสำคัญใหม่ที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

โดยที่คนหนุ่ม-สาวโดยเฉพาะตามมหาวิทยาลัยมักลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ที่ต่อต้านเผด็จการทหาร คสช. เป็นส่วนใหญ่อย่างมีนัยสำคัญแล้ว

ก็จะพบว่าคนช่วงอายุระหว่าง 25-54 ปีกำลังกลายเป็นกลุ่มวัยข้างมากที่สุด (46.32%) ของประชากรไทยพอดี

นำมาสู่การตีความของผมจากสถิติข้อมูลข้างต้นว่ากลุ่มพลังใหม่เสียงข้างมาก (the new majority) ในสังคมการเมืองไทยคือพลังรองรับความเป็นไปได้ใหม่ที่มากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม 3 มิติด้วยกันได้แก่ชนชั้น, รุ่นคน, อุดมการณ์/วัฒนธรรม กล่าวคือ :

ในแง่ชนชั้น จากชนชั้นนำกับชนชั้นกลางระดับบนและกลาง -> ชนชั้นกลางระดับล่าง

ในแง่รุ่นคน จากคนรุ่นที่เติบโตมาในระหว่างสงครามเย็น -> คนรุ่นที่เติบโตมาหลังยุคสงครามเย็น

ในแง่อุดมการณ์วัฒนธรรม จากความเป็นไทยเดิมแบบอนุรักษนิยม -> ความเป็นไทยใหม่แบบเสรีนิยม

พวกเขาเหล่านี้แหละที่ประกอบกันขึ้นเป็น = ฐานคะแนนเสียง/ฐานมวลชนของพลังฝ่ายประชาธิปไตย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)