มนัส สัตยารักษ์ เล่าไว้ในตอน “รวมเรื่องลาออก” จากอาชีพตำรวจ และเหตุผลที่ให้ลูกรีบๆเลย

นายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก รองสารวัตรแผนกสถิติ กก.ข่าว บช.น. เขาเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบรุ่นเดียวกับลูกชายผม เราจึงเรียก “พ่อ-ลูก” กันอย่างสนิทใจไม่ขัดเขิน ผมเอาใจใส่เขามากกว่าเพื่อนของลูกคนอื่นอยู่บ้าง ตรงที่เขาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจจากสามพราน และช่วยงานผมมากในเรื่องคอมพิวเตอร์

วันหนึ่งเขามาปรึกษากับผมว่า “จะลาออกดีไหม พ่อ”

หัวหน้าหน่วยงานที่จู่ๆ ผู้ใต้บังคับบัญชามาขอลาออกย่อมกระเทือนใจอย่างยิ่ง วินาทีแรกอดคิดไม่ได้ว่ามีบางอย่างเราทำผิดพลาดมหันต์จนลูกน้องขอลาออก และผู้บังคับบัญชาที่ดีควรต้องรับผิดชอบในการลาออกของลูกน้องด้วย

ครั้งหนึ่งผมเคยพูดในที่ประชุมผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ผมไม่อยากเห็นใครมาสิ้นใจในบ้าน เพราะฉะนั้น อย่าทำอะไรที่ผิดร้ายแรงให้ผมต้องเอาเรื่องถึงย้ายหรือออก

นายตำรวจหนุ่มรีบชี้แจงเมื่อเห็นผมออกอาการตะลึงงัน “ผมสอบเป็นนักบินของสายการบินได้ครับ แต่ลังเลตัดสินใจไม่ถูก มาปรึกษาพ่อก่อน”

“รีบลาออกเร็วๆ เลยลูก เดี๋ยวจะเปลี่ยนใจ” ผมตอบทันทีเมื่อทราบเหตุผล

 

นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นผม (ปีเข้า พ.ศ.2498) มีเรื่องลาออกเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงเรียนเลยทีเดียว

คุณแม่ของ อนันต์ เสนาขันธ์ นั่งรถเก๋งส่วนตัวตามรถโรงเรียนจากสโมสรกรมตำรวจ ปทุมวันจนถึงสะพานโพธิ์แก้ว อำเภอสามพราน แล้วท่านก็ได้เห็นการ “ซ่อม”

อย่าว่าแต่ท่านเลยที่ตกตะลึงกับการต้อนรับของรุ่นพี่ แม้แต่พวกเราเองก็ไม่นึกฝันว่าจะเข้มข้นถึงขนาดนั้น รุ่นพี่สั่งเราเข้าแถวแล้ววิ่งกลางแดดจากสะพานโพธิ์แก้วเข้าโรงเรียน วิ่งอย่างเดียวก็นับว่าสาหัสอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่พี่ๆ สั่งให้เรากลิ้งตัวไปบนพื้นถนนลาดยางมะตอยที่ถูกแดดละลายเยิ้ม

คุณแม่ของอนันต์ไขกระจกรถตะโกนบอกลูกชาย

“โรงเรียนบ้าๆ อย่าไปเรียนมันเลยลูก ลาออกเถอะ!”

อนันต์ไม่ฟังแม่และไม่ลาออก

คนที่ลาออกจริงมี 2 คน หลังจากเรียนไปได้ประมาณครึ่งปี เราไม่ได้ข่าวคราวและไม่ได้พบกันอีกเลยเหมือนตายจาก เราพยายามเรียกเพื่อนกลับมาเป็นเพื่อน (โดยไม่ต้องเป็นตำรวจก็ได้) แต่ไม่ได้ผล ผมคิดว่า เขาไม่ชอบชีวิตตำรวจที่ขาดอิสระเสรี

คนหนึ่งเป็นหม่อมหลวง อีกคนเราเรียกเขาว่า “คม” ทั้งคู่มีดีอย่างอื่น

คมหุ่นดีและหน้าตาหล่อเหลา พูดได้ว่าเขามีลักษณะท่าทางคล้าย เจมส์ ดีน ครั้งที่มีคณะตำรวจของชาติตะวันตกมาดูงาน คมเป็นคนหนึ่งที่ถูกเลือกเป็นนายแบบเพื่อแต่งเครื่องแบบชุดเต็มยศให้ฝรั่งชม

วันที่คมออกจากโรงเรียน เขาหิ้วกระเป๋าเดินทางลงมาจากตึกนอน กองร้อย 1 สวนกับผมที่บันได เป็นที่รู้กันว่าเขามีปํญหาอะไรสักอย่างมาก่อนและพยายามจะลาออก ผมกางแขนกั้นเขาไว้ พูดแบบออกคำสั่งซื่อๆ เซ่อๆ ว่า “ไม่ให้ไป”

เขาหยุดชะงักนิดหนึ่ง แต่แล้วส่ายหน้า ผลักผมให้พ้นทางแล้วเดินจากไป

 

หลายคนลาไม่ลับ

คนหนึ่งเชื้อสายตำรวจมาแต่ดึกดำบรรพ์ ปู่ พ่อ เป็นตำรวจใหญ่ รวมทั้งน้องๆ และญาติในตระกูลเดียวกันก็ทยอยกันเป็นตำรวจ เพื่อนคนนี้ออกไปจากโรงเรียนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แล้วไม่กลับมาเป็นเวลาหลายวัน จนผู้ปกครองต้องเอาตัวมาส่ง

ถูกตัดคะแนนความประพฤติไปตามระเบียบก่อนเรียนต่อจนจบ

เพื่อนชื่อ จารึก เมฆวิชัย (พล.ต.ท.) เป็นนายตำรวจแล้วลาออกตอนเป็นนายพัน 2 ครั้ง ตอนเป็นนายพลอีกครั้ง (ตามประสาคนมีดีที่ไม่ง้องานราชการ) ครั้งที่ลาออกหนแรกผมตามไปถึงบ้าน แล้ววิงวอนขอร้องจนเขายอมเปลี่ยนใจ

ครั้งที่สองเป็น พ.ต.อ. (พิเศษ) ได้ยื่นใบลาออกไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเรียกไปบอกว่า การลาออกของเขาถูกบิดเบือนและปั้นเป็นข่าวว่าลาออกเพราะท่าน ทำให้ภาพพจน์ของท่านเสียหาย

หมายความว่าจารึกตกเป็นเครื่องมือของ “วิชามาร” ในกรมตำรวจ จารึกรีบไปถอนใบลาออกทันที

ตอนเป็นนายพลแล้วจารึกลาออกอีกครั้ง ผมไม่ทราบเบื้องหลัง เพียงแต่อ่านพบจากข่าวพาดหัวใน น.ส.พ. แต่ในที่สุดผู้ใหญ่ระดับสูงไม่อนุมัติให้ลาออก

 

อีกคนหนึ่ง สมัคร์ อภัยสุวรรณ (พล.ต.ต.) เมื่อครั้งเป็นรองสารวัตร ยศ ร.ต.ต. หรือ ร.ต.ท. อยู่โรงพักในนครบาล ถูกย้ายไปอำเภอนาแก สมัคร์ลาออกทันทีเพราะสาเหตุมาจากทะเลาะกับผู้บังคับบัญชา บังเอิญช่วงเวลานั้นอำเภอนาแกได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดง (คอมมิวนิสต์) หลายคนที่ไม่ทราบเบื้องหลังลึกๆ ตำหนิ และหาว่าเขา “หนี”

ผมซึ่งเป็นคู่หู-ชอบเขียนรูปเหมือนกัน-ทราบดีถึงสาเหตุการย้ายครั้งนี้ ยังแอบอิจฉาที่เขาได้งานใหม่เงินเดือนสูงในจัสแมก ขณะเดียวกันก็สมน้ำหน้ากรมตำรวจที่ต้องสูญเสียคนดีมีความรู้ไป

ผมเห็นเขาเดินนำหน้าทหารอเมริกันไปในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของจัสแมกในไทย เขาพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่งคนหนึ่ง

เขาบอกผมว่า “เราไม่ยอมให้นายสิบเดินนำหน้าเรา”

สมัครได้ข่าวจากที่ไหนสักแห่งว่าผมอยากลาออก เขามาห้ามผมถึงห้องพักที่กองปราบปราม โดยสาธยายถึงความรู้สึกอึดอัดของคนเป็นลูกจ้าง

เมื่อเมฆหมอกผ่านไป สมัครกลับมารับราชการตำรวจอย่างเดิม โตขึ้นก็สอนหนังสือน้องๆ หลานๆ และได้เป็นนายพลก่อนเกษียณหลายปี

 

เพื่อนนักเรียนนายร้อยของผมอีกคนหนึ่งชื่อ ธนเกียรติ วงศาโรจน์ ลาออกขณะมียศ “พันตำรวจตรี” ในตำแหน่งนักบินปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์) ไปเป็นนักบินของการบินไทย ได้บินไปทั่วโลกจนเกษียณอายุ

ผมใส่ไตเติ้ลหน้าชื่อของเขาในสมุดโทรศัพท์และทุกที่ที่เอ่ยชื่อเขาว่า “กัปตัน” หรือ “Capt.” ผมภูมิใจที่มีเพื่อนเป็นกัปตันมากกว่าที่เป็น พ.ต.ต.

ตอนที่ลาออกใหม่ๆ กัปตันชี้แจงกับเพื่อนถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนงาน พวกเราแม้จะเสียดายแต่ก็แสดงความยินดีและเข้าใจเหตุผลของเขา

นายตำรวจสมัยผมเป็นนายร้อย นายพัน ถ้าพ่อแม่ไม่ร่ำรวยมาก่อน (หรือร่ำรวยแต่ไม่ช่วยจ่าย) ต่างมีฐานะทางเศรษกิจย่ำแย่กันทั้งนั้น… บ้านหลวงก็ไม่มีให้อยู่ ค่าเช่าบ้านก็ไม่มีสิทธิเบิก รถหลวงก็ไม่มีให้ใช้ราชการ หรือมีให้ใช้ก็ต้องเดิมน้ำมันเอง ฯลฯ

รถยนต์ส่วนตัวเป็นความจำเป็นด้วยว่าต้องเดินทางเร่งรีบตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นไลฟ์สไตล์อย่างที่ถูกค่อนแคะ เราต้องกัดฟันซื้อแบบผ่อนส่งทำให้เป็นคนมีหนี้สินแต่ยังหนุ่ม และไม่สมควรมีครอบครัว

กัปตันเป็นเลขาฯ ของรุ่น แต่โดยพฤตินัยเขาเป็นทุกอย่าง… เป็นประธานรุ่น เป็นที่ปรึกษาหรือกูรูระดับกูเกิ้ล เป็นอาจารย์ภาษา ครูการนั่งสมาธิ ครูการใช้แก็ดเจดยุคใหม่ รวมทั้งเป็นพิธีกรและไวยาวัจกรในงานบุญ

เขาเป็น “คำตอบ” ให้ผมได้ใช้แนะนำลูกชาย ให้รีบลาออกไปเป็น “กัปตัน”