คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความหมายแห่ง “มนตราภิเษก” ในวัชรยานวิถี

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้เล่าไปว่าท่านพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช ได้เดินทางมามอบคำสอนที่สำคัญให้กับพวกเรา ที่จริงนอกจากการให้คำสอนแล้ว ทางมูลนิธิพันดารายังได้เชิญท่านให้เป็นผู้ประกอบพิธีอภิเษก หรือเรียกให้จำเพาะเจาะจงว่า “มนตราภิเษก” ด้วย

ผมเคยกล่าวถึงการอภิเษกในประเพณีพราหมณ์ไปแล้ว คำนี้โดยพยัญชนะหมายถึงการรดน้ำ แต่การรดด้วยน้ำเป็นเพียงกิริยาอาการของพิธีกรรมเท่านั้น ที่จริงมีความหมายถึงการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ดังที่เราย่อลงเป็นภาษาปากจากคำว่าอภิเษกก็เหลือแค่ “เสก”

แต่นอกจากความหมายข้างต้น การอภิเษกโดยเฉพาะในคติทางพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ยังหมายถึงการเพิ่มพูนพลังอำนาจทางจิตวิญญาณ (Empowerment) ซึ่งมอบจากคุรุแด่ศิษย์

และในการมอบนี้ก็จะได้มอบบทปฏิบัติให้ศิษย์ไปภาวนาและอนุญาตให้สวดมนตร์ถึงพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์บางพระองค์ จึงเรียกว่า การมนตราภิเษก

ซึ่งในพิธีมนตราภิเษกนั้นก็ประกอบด้วยมนต์เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่นอีกด้วย

 

ผมอาจอธิบายแบบนี้ก่อนครับ ในฝ่ายเถรวาทของเรา แม้จะมีการปฏิบัติที่เรียกว่า “พุทธานุสติ” คือการระลึกถึงพระพุทธะ แต่เป็นการระลึกโดยนอบน้อมมีศรัทธาต่อพระพุทธะภายนอก (ซึ่งมิใช่ตัวเราเอง) เพราะในฝ่ายเถรวาทมักถือว่า พระพุทธะเป็นบุคคลพิเศษอันหาได้ยาก และมักหมายถึงพระพุทธะที่เป็นบุคคลในประวิติศาสตร์ เช่น พระศากยมุนี

ส่วนในฝ่ายมหายานนั้น ถือว่า “พุทธะ” เป็นคุณสมบัติ หรือเป็น “ภาวะ” ที่สรรพสัตว์มีอยู่แล้ว อุบายต่างๆ ของการภาวนา คือการทำให้ภาวะนี้ปรากฏอย่างชัดแจ้งขึ้นมา เช่น การขัดเกลา “ฝุ่นละออง” คือกิเลสอาสวะต่างๆ ที่ปกปิดพุทธภาวะไว้

ดุจขจัดฝุ่นละอองออกไป กระจกก็สะอาดแวววาวดีตามธรรมชาติของมัน

ในฝ่ายวัชรยานนั้น แม้จะมีพื้นฐานคำสอนไม่ต่างจากเถรวาทและมหายาน แต่มีเทคนิคหรืออุบายพิเศษ ที่เรียกว่า “ตันตระ” ที่จริงตันตระในแง่เทคนิควิธีการทางจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในศาสนาต่างๆ ของอินเดีย เพราะมีพัฒนาการมาจากวิธีการของชาวบ้าน ซึ่งผมจะได้พูดถึงตันตระต่อไปในอนาคต หลังจากบ่ายเบี่ยงมานาน

(ที่ผมบ่ายเบี่ยงจะพูดเรื่องนี้มาหลายปี ก็เพราะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตันตระปรากฏอยู่แล้วในบ้านเรา รวมทั้งหากไม่อธิบายให้ดี ก็อาจเพิ่มความเข้าใจผิดมากเข้าไปอีก)

 

ตันตระในแง่เทคนิควิธีการนั้น คือการนำเอาผลมาเป็นเหตุหรือเป็นวิธีการปฏิบัติ อธิบายคร่าวๆ คือ โดยปกติ เราปฏิบัติธรรมก็เพื่อจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คือเป็นพระพุทธะ (พูดจากกรอบมหายานและวัชรยาน ซึ่งมีอุดมคติที่จะบรรลุพุทธภูมิ)

แสดงว่าการเป็นพระพุทธะเป็นปลายทางหรือผล เราผู้ยังไม่บรรลุค่อยๆ ขัดเกลาตนเองไปเรื่อยๆ จากนาย ก. ผู้มีมลทิน ค่อยๆ บรรลุไปตามลำดับจนถึงพุทธภูมิ

แต่ในตันตระ เราเพ่งภาวนาเห็นตนเองเป็นพระพุทธะในทันทีทันใด ไม่ว่าทั้งกายวาจาและใจของเรา มีคุณสมบัติทุกประการของพระพุทธะองค์ที่เราภาวนาถึง เราทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณสมบัติดังกล่าวปรากฏอย่างชัดแจ้ง

เทคนิคในการภาวนานี้ มีหัวใจหลักอยู่ที่การ “ตั้งนิมิต” (visualization) และการสลายนิมิต เราตั้งนิมิตเห็นตนเองเป็นพระพุทธะองค์นั้น ซึ่งในทางวัชรยานเรียกว่า “พระยีตัม” (ภาษาทิเบต) นักโบราณคดีอาจคุ้นในชื่อว่า “ธยานิพุทธะ” หรือที่วิจักขณ์เรียกว่า “สมาธิพุทธะ” และชาวฮินดูอาจเข้าใจว่าหมายถึง “อิษฏเทวตา” หรือเทวดาที่เราโปรดปรานเป็นพิเศษ

พระธยานีพุทธะหรือสมาธิพุทธะเหล่านี้มีมากมายหลายหลาก เช่น พระอวโลกิเตเศวร (ในคติแบบวัชรยาน ท่านได้บรรลุพุทธภูมิ แต่ยังปรากฏในรูปพระโพธิสัตว์ เพื่อเน้นการฉุดช่วยสรรพสัตว์) พระแม่ตารา พระมัญชุศรี พระวัชรปาณี พระวัชรโยคินี พระวัชรวราหี พระวัชรกิลายะ พระเหวัชระ พระจักรสัมวระ พระคุรุปัทมสัมภวะ ฯลฯ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นปางสันติ ปางกึ่งพิโรธ และปางพิโรธ

อธิบายในระดับลึก ที่จริงพระพุทธะเหล่านี้ คือทุกแง่มุมของ “จิต” เรานั่นเอง ไม่ว่าด้านไหนก็ตาม ดังนั้น จึงปรากฏในทุกรูปลักษณะ ทั้งสันติและพิโรธ ทั้งปรากฏอย่างโดดเดี่ยวและพร้อมกับคู่ธรรม

เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดครับ แต่ขอข้ามไปก่อน ไว้จะอธิบายโดยละเอียดอีกครั้ง

 

นอกจากการตั้งนิมิตและสลายนิมิตไปสู่ศูนยตาอันไพศาลแล้ว ยังต้องมีการภาวนามนตราหัวใจของพระพุทธองค์นั้นๆ และการปฏิบัติตามบท “สาธนา” หรือบทปฏิบัติที่สืบทอดกันลงมา

อ่อ ผมต้องบอกอีกด้วยครับว่า ก่อนจะถึงขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความแม่นยำในเรื่องการพินิจศูนยตาทั้งในมิติสติปัญญาและการภาวนา รวมทั้งจะต้องยึดโพธิจิตไว้อย่างมั่นคงที่สุด ว่าการบรรลุของเราไม่ใช่เพียงเพื่อตนเอง แต่เพื่อสรรพสัตว์

ในอดีตก่อนการปฏิบัติในระดับตันตระ ผู้ปฏิบัติจะต้องทำ “บุพกิจ” หรือกิจเบื้องต้น (ภาษาทิเบตเรียก เงินโดร) เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับคำสอนเสียก่อน เช่น การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ แสนครั้ง ถวายมณฑลแด่พระพุทธแสนครั้ง สารภาพอกุศลกรรมแสนครั้ง ยึดพระรัตนตรัยแสนครั้ง สวดมนต์พระวัชรสัตว์ร้อยพยางค์แสนหรือล้านจบ เป็นต้น (ด้วยเหตุนี้ลูกประคำจึงเข้ามามีบทบาทในการนับจำนวนของการปฏิบัติ)

เมื่อคุรุเห็นศิษย์มีความพร้อมจึงจะมอบมนตราภิเษกให้ แต่ในปัจจุบัน โอกาสจะได้พบคุรุผู้มีคุณสมบัติจะมอบมนตราภิเษกได้มีน้อย อีกทั้งคุรุมีเมตตา จึงมอบมนตราภิเษกให้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติบุพกิจก่อน

ในพิธีมนตราภิเษก คุรุจะตั้งแต่งมณฑลบูชาของพระพุทธองค์ที่จะมอบให้ปฏิบัติ จากนั้นท่านจะภาวนาจนเห็นตนเองเป็นพระยีตัมองค์นั้น แล้วจึงทำพิธีมอบมนตราภิเษกและคำสอนให้ โดยมีสาระสำคัญที่การสอนให้ศิษย์เห็นตนเองเป็นพระยีตัมองค์นั้นๆ เช่นกัน

ในทางวัชรยานถือว่า หากปฏิบัติภาวนาในพระยีตัมโดยไม่รับมนตราภิเษก จะไม่สำเร็จผล หรือยากลำบาก และหากผู้เข้ารับมนตราภิเษกไม่ใช่ผู้ปฏิบัติภาวนา การเข้าพิธีก็เป็นแต่เพียงการได้รับพรเท่านั้น

 

ที่ผมเล่ามาข้างต้น อาจดูน่าตื่นตาตื่นใจชวนหลงใหล ดังนั้น หัวใจของการปฏิบัติในวัชรยานคือต้องมีคุรุที่คอยควบคุมดูแล มิฉะนั้นอาจหลงทาง ติดอยู่ในความทระนงตน แทนที่อัตตาจะถูกกำราบมันก็อาจเติบโตจนบดบังพุทธภาวะหมดสิ้น

จึงมีอุปมาว่า การปฏิบัติตันตระนั้น ดุจการลิ้มรสน้ำผึ้งบนใบมีดโกน มีอันตรายเป็นอย่างมาก ต้องมีทั้งศรัทธา การศึกษาหาความรู้ และคุรุผู้ชี้ทาง และด้วยวิธีการพิเศษเช่นนี้ ในอดีตคำสอนของวัชรยานหรือตันตระจึงเป็นเรื่อง “ลับ” จนได้รับการเรียกว่า “คุยหยาน” หรือยานลับ

ที่จริงการรับมนตราภิเษก บางท่านอธิบายว่า คือการที่คุรุได้เปิดใจของศิษย์ หรือช่วงเวลาที่จิตสองดวงได้มาพบกัน ในห้วงขณะนั้น คุรุก็อาจเปิดให้เห็น “แวบหนึ่ง” ของธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวศิษย์ ซึ่งคือธรรมชาติอันบริสุทธิ์ใสกระจ่างและไม่อาจถูกทำลายได้

ที่จริงเรื่องนี้ฟังดูประหลาดสำหรับผู้ปฏิบัติในสายเถรวาท แต่หากมองเห็นว่า พุทธะเป็น “สภาวะ” แล้ว และที่สำคัญ สภาวะนี้มิใช่สิ่งที่แปลกปลอมภายนอก แต่มีพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทั้งในตัวเราและโลกอันศักดิ์สิทธิ์ เรื่องนี้ก็อาจเข้าใจได้

การมนตราภิเษกจึงเหมือนการหย่อนเมล็ดพันธุ์ และเราจำต้องบำเพ็ญเพียรภาวนา คือ “มนตราภิเษกตนเอง” ดุจรดน้ำพรวนดิน จนกว่าเมล็ดพันธุ์นั้นจะออกดอกออกผล เมื่อนั้นมนตราภิเษกจะมีความหมายที่สำคัญต่อชีวิตและเส้นทางการปฏิบัติ

ผมเขียนเรื่องนี้ ด้วยเหตุว่า ในปัจจุบัน กระแสธรรมแห่งวัชรยาน ได้เดินทางมาถึงเมืองไทยแล้ว ในปัจจุบันมีสำนักการปฏิบัติหลากหลายสายธรรม และรูปแบบการปฏิบัติวัชรยานได้กลายเป็น “เทรนด์” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

หากเราได้ค่อยๆ สนทนาทำความเข้าใจกันไปทีละนิด

พุทธธรรมแห่งวัชรยานก็อาจหยั่งรากอย่างมั่นคงพร้อมด้วยความเข้าใจ

และเป็นอีกทางเลือกสำหรับการเผชิญความทุกข์ของผู้คนร่วมสมัย