พสกนิกรปีติ-ทรงห่วงใย น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

นํามาซึ่งความปลื้มปีติแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวจังหวัดภาคใต้

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในขณะนี้อย่างมาก

ทุกข์สุขราษฎรล้วนอยู่ในสายพระเนตรพระกรรณ ดังเห็นได้จากเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา 3 องคมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ นายวิรัช ชินวินิจกุล

เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือหลายเรื่องสำคัญ

หนึ่งในนั้น คือการอัญเชิญพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยประชาชนภาคใต้ ที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งใหญ่

พระองค์ได้พระราชทานแนวทางให้รัฐบาล ที่กำลังยากลำบากในการช่วยเหลือประชาชน อย่างเช่น การส่งเงินไป ประชาชนก็ไม่สามารถนำไปซื้อข้าวของได้

ส่งข้าวสารไป ก็ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ สำหรับใช้หุงต้ม

ทรงห่วงใยว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร เนื่องจากอาหารแจกจ่ายไม่ทั่วถึง แต่ละอำเภอมีปัญหาแตกต่างกัน

บางแห่ง 2-3 หมื่นคน ต้องอพยพไปอยู่ในโรงแรมหรือโรงเรียนที่เดียวกันชั่วคราว กินอาหารวันละ 3 มื้อ ต้องใช้งบประมาณเลี้ยงดูวันละ 1 ล้านบาท

ตรงนี้รัฐบาลจึงรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมาพิจารณาว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ว่า

“องคมนตรีน้อมนำกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ดูแลเรื่องน้ำท่วมให้ดีที่สุด โดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่พระองค์ทรงดูแลอยู่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถติดต่อได้โดยตรงกับทางมูลนิธิ พระองค์ท่านพระราชทานแนวทางมาให้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันเวลา และให้สรุปถวายรายงานให้พระองค์ทรงทราบ”

 

อุทกภัยภาคใต้นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

ก่อผลกระทบเสียหายครอบคลุมพื้นที่ทั้งภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ รวมถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์

เป็นอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 4 แสนครัวเรือน กว่า 1.18 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย

พื้นที่ปลูกพืชการเกษตรถูกน้ำท่วมเกือบ 1 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวราว 2.5 แสนไร่ พืชไร่ พืชสวนและอื่นๆ กว่า 7 แสนไร่

ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เสียหายเกือบ 3 หมื่นไร่ ด้านปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบมากกว่า 5.7 ล้านตัว ตายหรือสูญหายกว่า 5 หมื่นตัว

โรงเรียนเสียหายเกิน 2 พันแห่ง สถานพยาบาลได้รับผลกระทบมากกว่า 100 แห่ง

ถนนทางหลวงชนบท เสียหาย 111 เส้นทาง รถไฟ สายการบินในหลายเส้นทางต้องชะงัก หรือหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

สถานประกอบการเกือบ 9,000 แห่งหยุดทำการ แรงงานลูกจ้างได้รับผลกระทบนับแสนคน

สภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประเมินตรงกันว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้น น่าส่งผลกระทบเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นในวงจำกัดระยะสั้น

คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1-1.5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป็นตัวเลขต่างจากที่ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า

ผลจากน้ำท่วมภาคใต้ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน การสูญเสียรายได้ของประชาชน และภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม

ไม่ต่ำกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท ถึง 1.2 แสนล้านบาท

ไม่รวมความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ยังต้องรอสำรวจภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย

 

จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยียนพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม

นอกจากแจกถุงยังชีพ 2,000 ชุด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในภาพรวม ไม่ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ต้องรักษาระบบนิเวศน์ให้ได้มากที่สุดพร้อมกันไปด้วย

การพัฒนาการเกษตร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม ผลักดันศูนย์กลางอาหารฮาลาลของอาเซียน การค้าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การสร้างสนามบิน ถนนหนทาง การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน พัฒนาการศึกษา ฯลฯ

โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลมีแผนงานแล้วทั้งหมด เช่นเดียวกับแผน “ดับไฟใต้” ก็มีอยู่แล้วเช่นกัน

“ขอบคุณชาวใต้ทุกคนที่อดทนสู้กับภัยธรรมชาติมาอย่างแสนสาหัส สู้จนชิน อะไรที่ตัวเองลำบาก ก็ลำบากจนชิน จนไม่รู้สึกลำบาก แต่รัฐบาลรู้ ถึงผมจะไม่ได้เป็นคนใต้ แต่รู้เพราะเคยเป็น ผบ.ทบ. มาก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง

รัฐบาลได้ประกาศยกระดับการจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ระดับ 3 จากที่มีการกำหนดไว้ 4 ระดับ

ระดับ 3 หมายถึงสาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์พิเศษ

โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้าขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

ทำหน้าที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน

ผู้บัญชาการสามารถจัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานภาวะฉุกเฉิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม ร่วมกันทำงานให้เกิดความรวดเร็ว

ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม สิ่งที่ภาครัฐดำเนินการไปแล้ว เช่น การเร่งอพยพผู้ประสบภัยออกนอกพื้นที่ การจัดสถานที่พักพิงชั่วคราว การแจกถุงยังชีพ อาหาร น้ำ และยารักษาโรค

รวมทั้งดูแลให้คำปรึกษาด้านจิตใจ

 

เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ อย่างเป็นทางการ

เปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี “กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี” เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 รับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วไป โดยผู้บริจาคสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้ ยังมีมติขยายเวลาการยื่นแบบจ่ายภาษีอากรไปถึงวันที่ 31 มีนาคม สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ตอนหนึ่งว่า การอพยพประชาชน ปัญหาอยู่ที่หลายคนไม่อยากย้าย อยากอยู่ที่บ้าน แต่ขอให้มีอาหารไปส่งทุกมื้อ

“เป็นปัญหาต้องแก้ไขให้ได้เพราะบ้านมีหลายหลัง ต้องมีเรือไปส่งอาหาร จะให้หุงข้าวก็ไม่ได้เพราะน้ำท่วม ให้ไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ไป เป็นนิสัยของคนไทย นี่คือปัญหายากในการทำงาน ต้องเห็นใจรัฐบาล”

นอกจากการขุดลอกช่องทางระบายน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ไขสถานการณ์ระยะเฉพาะหน้า

ระยะต่อไปรัฐบาลยังมีแผนปฏิรูปกฎหมายผังเมือง ควบคุมไม่ให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ซึ่งได้รับการระบุว่าคือ 1 ในสาเหตุสำคัญของการเกิดน้ำท่วมใหญ่แต่ละครั้ง

 

วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “มหาอุทกภัย” ปี 2554 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่ง “มวลน้ำ” มหาศาลได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์

และเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านขณะนั้นยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเวลาต่อมา

ครั้งนี้ถึงแม้ขนาดของปัญหาจะไม่ใหญ่เท่า อีกทั้งไม่มีนักการเมืองฝ่ายค้านคอยทำหน้าที่ตรวจสอบ

แต่ข้อเท็จจริงก็คือรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2558-2560

ทั้ง 3 ฉบับ รัฐบาลบรรจุแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ทุกฉบับ ด้วยเงินงบประมาณ 69,310 ล้านบาท 79,165 ล้านบาท และ 55,820 ล้านบาท ตามลำดับ

รวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 204,000 ล้านบาท

เป็นตัวเลขสะท้อนถึงฝีมือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล คสช. ได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่าคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน

กับงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มลงไป