จับตานโยบายรัฐบาล นโยบาย แก้ไข รธน. พลังประชารัฐ-ปชป. ลงเอยแบบ วิน-วิน?

รัฐบาลใหม่ผสม 19 พรรคภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อย

ขั้นตอนต่อไปเพื่อให้การเข้าบริหารราชการแผ่นดินสมบูรณ์ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งล่าสุดมีการกำหนดให้การแถลงนโยบายดังกล่าวมีขึ้นวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้

สำหรับการจัดทำร่างนโยบายเพื่อแถลงต่อรัฐสภาครั้งนี้ พลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำ “ประยุทธ์ 2” ต้องประสบปัญหาความยุ่งยากไม่น้อย เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มีพรรคผสมมากถึง 19 พรรค

ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเขียนนโยบายให้ลงตัวเป็นที่พอใจของทุกพรรค เพราะแต่ละพรรคล้วนต้องการผลักดันนโยบายหลักที่ตนเองใช้หาเสียงเลือกตั้งให้ได้รับใส่บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรค ซึ่งถูกนำเสนออย่างหลากหลายในช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” คือหัวข้อหนึ่งที่พรรคหลักๆ ไม่ว่าเพื่อไทย อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ หาเสียงให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มีประเด็นนี้ แต่สังคมก็เข้าใจได้ว่าทำไมไม่มี นั่นก็เพราะ

“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

จวบจน “ประยุทธ์ 2” ก่อรูปขึ้น ผ่านขั้นตอนพิธีการต่างๆ กระทั่งเข้าสู่โหมดจัดทำร่างนโยบายรัฐบาล ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถูกจับตาจากสังคมว่าจะได้รับการบรรจุไว้ในร่างด้วยหรือไม่ อย่างไร

สำหรับพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูลนั้น แม้ในการหาเสียงเลือกตั้งจะพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการพูดแบบแตะๆ โหนๆ ที่เน้นหนักจะอยู่ในเรื่องของ “กัญชาเสรี” อย่างที่รู้กัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ภาระผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านนโยบายรัฐบาล

จึงตกอยู่บนสองบ่าไหล่พรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มๆ

หลังตกเป็นข่าวขัดแย้งอึมครึมพักใหญ่

นับเป็นเรื่องน่าโล่งใจของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่เจ้าตัวเปิดเผยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม วันแรกของการเข้าทำเนียบรัฐบาล ถึงข้อสรุปที่ว่า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว

“ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในส่วนนโยบายเร่งด่วน ช่วงระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถือว่านโยบายของพรรคถูกบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว”

และว่า

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นไปตามที่พูดคุยกันไว้กับพรรคแกนนำในช่วงจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่านโยบายการประกันรายได้เกษตรกร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ที่น่าโล่งใจนั้นก็เพราะก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวระบุถึงร่างนโยบายรัฐบาล จากการหารือกับพรรคร่วมและจัดส่งไปถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 กรกฎาคม เบื้องต้น 41 หน้า นำเสนอในกรอบกว้างๆ รวบรวมนโยบายและความเห็นจากทุกพรรคเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้นายกฯ พิจารณาปรับปรุงแก้ไข

โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่สังคมจับจ้อง เช่น กัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้รับการบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาล แต่ได้เขียนถ้อยคำกำกับไว้ชัดเจนว่า

“สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และให้นำไปใช้ช่วยเหลือในทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้ในเชิงสันทนาการ หากจะนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีในกระทรวงพิจารณา”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปลาบปลื้มยินดีที่นโยบายกัญชาเสรีของพรรคได้รับการตอบสนองจาก พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคแกนนำรัฐบาล

นายอนุทินยอมรับว่า ด้วยนโยบายกัญชาเสรีนี้ทำให้พรรคได้รับโอกาสเข้าสภา ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีพรรคภูมิใจไทยสมัยหน้า

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ในอารมณ์ตรงกันข้าม

เนื่องจากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างนโยบายฉบับเบื้องต้นที่ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์

ถูกจับแขวนไว้ในหมวดการพัฒนาการเมือง

แม้ในที่สุดจะได้รับการผนวกรวมไว้ในนโยบายรัฐบาลเร่งด่วน

ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้พรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามต่อรองเอาจนได้ ถึงกระนั้นพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วยเท่าใดนักที่จะใส่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายที่ต้องทำใน 1 ปีแรก

ส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำ คือแก้ปัญหาปากท้องประชาชน อีกทั้งไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งจนกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลให้ง่อนแง่นมากขึ้น

หรือหากจะแก้ไขจริงๆ ก็ควรผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติและประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบในการใช้บังคับ

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญยังมีข้อกำหนดห้าม ส.ส.ถือหุ้นในกิจการสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านอยากให้แก้ไข เนื่องจากมีคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งหากนายธนาธรโดนตัดสินว่ามีความผิดในขณะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจส่งผลให้พ้นผิดได้หากในกฎหมายให้ยกเว้นโทษย้อนหลัง

“มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายค้านหวังใช้กรณีดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ หากตกหลุมพรางไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจเข้าทางฝ่ายค้านได้” ข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลระบุ

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ได้รับมอบหมายเข้าร่วมจัดทำร่างนโยบายรัฐบาลกับพรรคแกนนำ มีความเห็นสอดคล้องกับพลังประชารัฐและพรรคร่วมอื่นๆ ว่า

ถึงรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน แต่ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจเร่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุด ถ้าสร้างบ้านประชาธิปไตยให้สวยแต่คนในบ้านอดอยากตายกันหมดก็ไม่มีประโยชน์

จะอย่างไรก็แล้วแต่ คำพูดของนายจุติ นอกจากสะท้อนว่าภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความคิดไม่เป็นเอกภาพในเรื่องนี้

ยังสวนทางกับความคิดเห็นของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน

เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถทำควบคู่กันไปได้

รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกระบุให้เป็นฉบับแก้ไขได้ยากที่สุด เนื่องจากมีการ “ใส่ล็อก” แน่นหนาหลายชั้น

เริ่มตั้งแต่วาระแรกรับหลักการ นอกจากต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา ในจำนวนนี้ยังต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า 250 ส.ว.ในปัจจุบันมีที่มาจากใคร โดยใครและเพื่อใคร

ในวาระ 3 ยังใส่ล็อกด้วยว่า ในจำนวนเสียงเห็นชอบที่ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา ต้องมีเสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านทุกพรรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคดังกล่าวรวมกัน และเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด

หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ

ต้องจัดให้มีการทำประชามติ

และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

กับดักกลไก 4-5 ชั้น คิดค้นโดยกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ติดตั้งขึ้นเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากมาก หรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย

ต้องรอดูว่าการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ระบุขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องเริ่มที่หมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นการสะเดาะกุญแจสำคัญให้ประตูประชาธิปไตยเปิดออก เพื่อต่อไปใครจะแก้ไขอย่างไรก็ทำได้ง่ายขึ้น

ท่ามกลางแรงต้านจากคนในรัฐบาล และต้องไม่ลืมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ดีไซน์” เพื่อใคร

การสะเดาะกุญแจปลดล็อกแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นฉากใหญ่ท้าทายพรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง

นายอนุทินยอมรับ ถ้านโยบายกัญชาเสรีทำไม่ได้ ก็ไม่มีพรรคภูมิใจไทยสมัยหน้า

สำหรับนายจุรินทร์ หากนโยบายแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้ สมัยหน้าจะยังมีพรรคประชาธิปัตย์อยู่อีกหรือไม่ เป็นคำถามน่าสนใจ

เว้นเสียแต่การบรรจุประเด็นแก้รัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วน

จะเป็นการเล่นปาหี่ระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมที่สองฝ่ายมีแต่ได้กับได้ จบแบบวิน-วิน ฝ่ายหนึ่งแสดงความใจกว้าง ให้เกียรติพรรคร่วม ขณะที่อีกฝ่ายก็ไม่ต้องเสียหน้า ทั้งยังลดแรงกดดันจากสังคมไปในตัว

เพราะถึงที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอย่างไรก็แก้ไม่ได้อยู่ดี