“นางบำเรอ” บาดแผลประวัติศาสตร์ยากเยียวยา

AFP PHOTO / YONHAP / STR

การเรียกตัว นายยาสุมะสะ นางามิเนะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้กลับประเทศ และสั่งถอนกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำเมืองปูซาน รวมถึงการแจ้งระงับการเจรจาหารือถึงข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ไว้ก่อนชั่วคราว ถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้แสดงความไม่พอใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อเกาหลีใต้

ในกรณีปล่อยให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวนำรูปปั้น “นางบำเรอ” สัญลักษณ์ของการกระทำอันสุดอัปยศในอดีตของทหารญี่ปุ่นที่กวาดต้อนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมาเป็นทาสบำเรอความใคร่ของตนเอง มาตั้งประจานอยู่ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในเมืองปูซานเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

เป็นการฉุดลากบรรยากาศความสัมพันธ์ของสองประเทศที่คลอนแคลนมาโดยตลอด ให้ตกอยู่ในห้วงความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลังจากกรณีพิพาทในประเด็น “นางบำเรอ” (comfort woman) หรือ ทาสทางเพศ ดูจะผ่อนเบาลงไปได้

หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ของประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ ในช่วงเวลาที่ยังไม่เผชิญมรสุมทางการเมืองรุมกระหน่ำหนักเหมือนเช่นเวลานี้ สามารถบรรลุความตกลงกันได้กับรัฐบาล ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่จะเยียวยาบาดแผลทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน จากที่สร้างความเจ็บปวดต่อกันมายาวนานหลายทศวรรษ

AFP PHOTO / YONHAP / STR
AFP PHOTO / YONHAP / STR

รูปปั้นนางบำเรอ ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ นำมาตั้งไว้หน้าสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในเมืองปูซาน เป็นตัวจำลองรูปปั้นนางบำเรอ ที่เป็นรูปปั้นหญิงสาว มีนกตัวหนึ่งเกาะอยู่บนบ่า ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวมาตั้งไว้บนถนนเส้นฝั่งตรงข้ามสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล เมื่อกว่า 5 ปีก่อน เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อต้านการกระทำอันโหดร้ายต่อเพศแม่ของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จนต่อมาพื้นที่บริเวณนั้นได้ถูกใช้เป็นจุดชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาแสดงการต่อต้านญี่ปุ่นและสนับสนุนอดีตเหยื่อทาสทางเพศของทหารญี่ปุ่นชาวเกาหลีใต้ที่ยังมีรอดชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้

นักประวัติศาสตร์ในกระแสหลักหลายคน ที่สืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานั้นบอกว่า มีผู้หญิงมากกว่า 200,000 คน ส่วนใหญ่มาจากเกาหลีและพื้นที่อื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงจีนและฟิลิปปินส์ ที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นเกณฑ์มาบำรุงบำเรอความใคร่ให้ทหารญี่ปุ่น ซึ่งยังอาจย้อนไปถึงในช่วงยุคจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นรุกยึดครองคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี 1910-1945

ขณะที่ชนวนเหตุพิพาทล่าสุดเริ่มต้นขึ้นหลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวนำรูปปั้นนางบำเรอ ที่จำลองขึ้นให้เหมือนตัวแรก มาตั้งไว้ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในเมืองปูซาน เพื่อแสดงการคัดค้านข้อตกลงที่รัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่น บรรลุความเห็นพ้องร่วมกันได้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2015 ในกรณีพิพาทเรื่องนางบำเรอ

ซึ่งข้อตกลงนี้ถูกระบุว่า “เป็นข้อตกลงสุดท้ายและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” ของทั้งสองฝ่าย

ภายใต้ข้อตกลงนี้ญี่ปุ่นเสนอที่จะขอโทษเกาหลีใต้ในประเด็นนี้อย่างเป็นทางการ พร้อมจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายให้กับเหยื่อทาสทางเพศชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ เป็นเงินจำนวนรวมกัน 1 พันล้านเยน (ประมาณกว่า 300 ล้านบาท)

นอกเหนือไปจากที่ตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะเลิกขุดคุ้ยเรื่องนี้มาวิพากษ์โจมตีกันอีกไม่ว่าจะในรูปแบบใด

ทว่า ในความเห็นของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตเหยื่อทาสทางเพศและกลุ่มนักวิจารณ์มองว่าข้อตกลงนี้ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นรับผิดชอบมากพอต่อการกระทำอันเลวร้ายของตนเองในช่วงสงคราม

 AFP PHOTO / YONHAP / STR
AFP PHOTO / YONHAP / STR

อย่างไรก็ดี ทางการเกาหลีใต้ได้ให้เคลื่อนย้ายรูปปั้นดังกล่าวออกไปจากหน้าสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในเมืองปูซานแล้วในตอนแรก แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวนำรูปปั้นนั้นกลับมาตั้งประท้วงใหม่

หลังจาก นางโทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ที่เป็นนักการเมืองสายเหยี่ยวกล้าชน เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ในกรุงโตเกียว

จนทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวไม่พอใจ เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ตั้งสุสานทหารรวมถึงร่างของอาชญากรสงคราม ซึ่งชาติที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกรานมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายความกระหายสงครามของญี่ปุ่น

การไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ถูกตีความว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของญี่ปุ่นอีกครั้ง!

 

ไม่กี่วันก่อน อาเบะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้เคารพในข้อตกลงที่รัฐบาลทั้งสองทำไว้ระหว่างกัน แม้อาจจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเกิดขึ้นก็ตาม ท่าทีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลว่าปัญหาการเมืองภายในของเกาหลีใต้ จะยิ่งทำให้รอยร้าวที่มีต่อกัน ยิ่งทรุดหนัก

โดยประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายญี่ปุ่นกังวลคือหากเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลเกาหลีใต้ขึ้นมาแทนที่รัฐบาล ปาร์ก กึน เฮ ก็หวั่นใจว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจะฉีกข้อตกลงข้างต้นที่ทำไว้กับญี่ปุ่น แล้วจะเรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดใช้ให้เกาหลีใต้ในประเด็นนี้มากกว่าที่เคยตกลงกันไว้ก็เป็นได้

แต่หากตัดประเด็นการเมืองภายในของเกาหลีใต้ ที่อาจมีกลุ่มการเมืองหยิบประเด็นพิพาทนี้มาเป็นหมากหนึ่งในการเดินเกมหาเสียงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองออกไปแล้ว ถึงอย่างไรปัญหา “นางบำเรอ” ก็จะยังคงเป็นรอยร้าวที่สามารถจุดชนวนพิพาทระหว่างคู่กรณีขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

หากต่างฝ่ายต่างยังไม่แสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการกระทำของตนเองอย่างจริงใจ หรือการอภัยให้กันอย่างแท้จริง…จริงๆ