‘อั๋น ภูวนาท’ กับคำถาม, คำตอบ, ความเชื่อ “การเมือง” ไม่ใช่ไม่ควรพูด แค่ “สุภาพ-ปัญญาชน” ต่างหาก

คําเตือนที่ส่งต่อกันมาแบบเงียบๆ แต่ไหนแต่ไรในวงการบันเทิง คือเป็นดาราพยายามอย่าพูดเรื่องการเมือง เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบเยอะนัก

หากดูเหมือนหลายคนจะเห็นว่า นั่นเป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่” ในยุคปัจจุบัน

หนึ่งในนั้นคือ อั๋น-ภูวนาท คุณผลิน ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้โพสต์อินสตาแกรมเปรียบเทียบคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร และยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน พร้อมตอบคำถามจากผู้เข้าไปแสดงความเห็นที่ว่า “แล้วคุณอั๋นต้องการคนแบบไหนหรอคะที่ว่าดีกว่านี้ ประเทศไทยสงบถือว่าเป็นบุญแล้วนะคะ” ได้โดนใจ จนมีคนแชร์กันกระจายในโลกออนไลน์

“คำถามคือทำไมล่ะ อยากถามกลับว่าเพราะอะไร ทำไมดาราแสดงความคิดเห็นไม่ได้ มีความคิดเห็นที่ดี แล้วทำไมพูดไม่ได้ ทำไมพูดเรื่องอื่นได้ แต่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้”

“ในความคิดผม เราควรแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่องด้วยซ้ำ ซึ่งประเทศเรายังห่างไกลจากตรงนั้นมาก ยังมีอีกหลายเรื่องเลยที่เรามีความคิดเห็น แต่พูดไม่ได้”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเขาว่า เรื่องต่างๆ หากพูดกันด้วยความจริงใจ พูดด้วยความเคารพ น่าจะส่งผลดีเสียด้วยซ้ำ

“แต่ถ้าหากว่าพูดสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ พูดสิ่งที่โกหก พูดสิ่งที่เจตนาไม่ดี พูดสิ่งที่ชี้นำให้สังคมเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นคนในอาชีพใด แล้วพูดถึงสิ่งใดก็ตาม อันนั้นไม่ควรพูด”

“แต่ไม่ควรมาแบ่งแยกว่า ดารา ไม่ดารา หรือคนในวงการบันเทิงเท่านั้นที่ห้ามพูด”

“แล้วถ้าดาราคนนั้นพูดในสิ่งที่ไม่จริง เขาก็จะต้องรับผลกรรมจากสิ่งที่เขาพูดโกหก หรือถ้าเขาไม่ได้โกหก แต่พูดด้วยความเข้าใจผิด เขาก็จะมีโอกาสรับฟังคำอธิบายที่ถูกต้องและเข้าใจถูก ดีกว่าเขาเข้าใจผิดอยู่เงียบๆ เหมือนกับที่ประเทศเรามีความไม่เข้าใจกันอยู่เงียบๆ ซึ่งผมว่าเข้าใจผิดเงียบๆ อันตรายกว่าเสียงดังแล้วมีโอกาสได้คุยกันเสียอีก”

“ผมเชื่อแบบนั้น”

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อดารา คนดัง แสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วได้รับผลกระทบเรื่องงาน เขาก็ว่า “เข้าใจผู้ชมนะ เพราะในที่สุดแล้วเราก็เป็นมนุษย์ เรามีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แล้วเมื่อเราเจอคนที่ไม่เห็นด้วยเยอะๆ บางครั้งมันแยกแยะไม่ได้ แต่มันจะเกิดความไม่ชอบไปเอง”

“แต่ผมคิดว่าที่สำคัญ คือเราควรแสดงความคิดเห็นกันเถอะ มารณรงค์ดีกว่า ว่าควรแสดงความคิดเห็นอย่างไร และความคิดเห็นแบบไหนที่ไม่ควรแสดง”

“นั่นเป็นสิ่งที่เราควรให้การศึกษากับสังคม ดีกว่ามาบอกว่าอย่าแสดงความคิดเห็น”

สําหรับเขาเองที่โพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องของบ้านเมือง ก็ยืนยันว่าโพสต์ด้วยเจตนาดี

“ทุกอย่างที่ตอบ ก็ตอบด้วยความจริงใจ ไม่ได้พูดในสิ่งที่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง”

“มีคนถามด้วยซ้ำว่าจะลงการเมืองเหรอ ยืนยันว่าไม่มีความคิดนั้นอยู่ในหัวเลย อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ว่าแล้วเจ้าตัวก็หัวเราะ

ส่วนผลที่ตามมาหลังโพสต์ดังกล่าว เขาบอกยังไม่เจออะไรที่รุนแรง หรือไม่ดี

“แล้วก็ไม่ได้อยากเจอนะครับ”

“อาจจะเพราะว่าเราพูดสุภาพ และใช้หลักการในการตอบ ฉะนั้น ถ้ามีใครมาโจมตีด้วยอะไร คิดว่าเดี๋ยวก็จะมีคนที่มาตอบแทนอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้ใครมาตอบแทนด้วยการมาปกป้องโดยใช้อารมณ์ ถ้าอยากจะปกป้องก็อยากให้มาด้วยแนวคิดเช่นกัน”

“ส่วนตัวเป็นคนเคารพความแตกต่าง และก็ชอบฟังความคิดที่แตกต่างด้วย”

“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แล้วเราไม่อยากให้รู้สึกกันว่าไทยนั้นรักสงบ ก็เลยหุบปากเงียบสนิท”

อย่างไรก็ดี ถ้าจะ “เปิดปาก” ก็ให้เป็นอย่างข้างต้นที่พูดไว้ คือ ต้องสุภาพ และมีหลักการ

“ทุกเสียงมีความสำคัญ เพราะฉะนั้น เราต้องประณีตกับสิ่งที่เราคิด ที่สำคัญคือต้องไม่ยอมเงียบอย่างสุภาพชนและปัญญาชน”