เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พื้นที่วัฒนธรรม

ได้เห็นภาพวัดพระแก้วบนตู้ชุมสายไฟฟ้าใน กทม.แล้วก็ชื่นใจ ชวนให้คิดตามคิดต่อเรื่องงานวัฒนธรรมนี่แหละ คือ พื้นที่วัฒนธรรมที่เรายังขาดอยู่

ทำให้มองเห็นว่ายังมีที่ทางอีกมากมาย สามารถจะเติมเต็มส่วนที่ยังขาดอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมทำนองนี้

ที่ฝรั่งเศสและยอรมนีก็มีป้อมหรือเสาทำนองนี้เป็นพื้นที่ใช้สื่อสารงานด้านวัฒนธรรม ซึ่งประชาชนสนใจติดตามด^ตลอดเวลา

ทำให้ได้รู้ว่าชุมชนเรา เมืองเรามีเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมน่าภาคภูมิใจอะไรบ้าง ซึ่งจะนำเสนอสลับสับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เคยเห็นตามเสาตอม่อรถไฟฟ้าใน กทม.แถวย่านสยามและที่อื่นๆ เช่น ถนนลอยฟ้าย่านฝั่งธนฯ เป็นต้น ก็มีภาพและข้อความติดเสมออยู่เหมือนกัน แต่มักเป็นงานโฆษณาเชิงธุรกิจแหละเป็นหลัก

ทำไมไม่คิดให้ความสำคัญกับพื้นที่วัฒนธรรมบ้าง

พื้นที่วัฒนธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเดียวดังที่ทำกันอยู่เท่านั้น หากหมายถึงเรื่องราวน่าภาคภูมิใจให้คนได้รับรู้ ซึ่งบ้านเรามีอยู่มากมาย

ยกตัวอย่างไวๆ เท่าที่นึกได้ตอนนี้ เช่น เมี่ยงคำ

เมี่ยงคำของกินเล่นพื้นๆ ของไทย ที่เราไม่เห็นสำคัญนี่แหละ เป็นยอดโอชะของแผ่นดินไม่แพ้ผัดไทยหรือส้มตำเอาเลยทีเดียว…จริงนะเอ้า

มีอะไรบ้างล่ะ มะพร้าวคั่วนี่ก็สุดยอดของงานศิลปะเลยล่ะ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง พริกขี้หนู หอมแดง มะนาว ขิงหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ยังมีน้ำกะปิข้นรสเค็มหวาo รองด้วยใบชะพลูหรือใบทองหลางพับเป็นกระทงโรยละอันพันละน้อยเหล่านี้แล้วเหยาะด้วยน้ำกะปิหรือน้ำเมี่ยง ห่อเป็นคำ

แปดเก้าอย่างบนเสาตอม่อรถไฟฟ้าแปดเก้าต้น เสาที่สิบรวมภาคเป็นคำเมี่ยง ทำให้สวยอย่างมีศิลปะแค่นี้ แค่ผ่านหูผ่านตาแค่นี้…น้ำลายไหลแล้ว

เมี่ยงคำจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่แปรเป็นมูลค่ามหาศาลทันที ไม่เชื่อลองทำดู

ผู้ได้ผ่านพบจะตระหนักถึงคุณค่าของเมี่ยงคำ อาหารกินเล่นที่มากคุณค่าเพราะเป็นสมุนไพรล้วนๆ อันเราเหมือนจะลืมกันไปแล้วถึงสรรพคุณของโอชะแผ่นดินที่มีอยู่ในทุกคำเมี่ยงของเมี่ยงคำ

ยังมีอีกมากมายนักล้วนสิ่งดีงามพื้นฐานพื้นถิ่นของบ้านเรา โดยเฉพาะแต่ละจังหวัด แต่ละชุมชนล้วนมีของดีของงามที่เป็นภูมิปราชญ์ของแผ่นดินให้เราภาคภูมิได้จริง แต่ขาดการนำเสนออย่างมีศิลปะบนพื้นที่ที่เราไม่ให้ความสำคัญและไม่ใส่ใจเท่าที่ควร

อย่างตู้ชุมสายไฟดังเริ่มนำภาพวัดพระแก้วมาแสดง แทนที่จะปล่อยว่าง และปล่อยให้พวกมือบอนมาพ่นสีเล่นเปรอะไปทั่วจนเจนตาอยู่นั้น

ทุกเมืองทุกจังหวัดนี่แหละน่าจะทำขึ้นให้เป็นตัวอย่างได้เลย

นอกจากพื้นที่ว่างดังตู้ไฟฟ้าและเสาตอม่อต่างๆ แล้ว ยังมีพื้นที่สูงติดป้ายโฆษณานี่อีกเช่นกัน เคยเสนอความเห็นเรื่อง “ภาพประดับเมือง” โดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ควรทำอย่างยิ่ง

ด้วยทุกวันนี้รกหูรกตานัก เพราะเต็มไปด้วยโฆษณาบ้าเลือด และที่มักนำภาพดาราคุ้นหน้าคุ้นตามาใช้ ที่เรียกพรีเซ็นเตอร์นั้น

ขอสักมุมเมืองได้ไหม นำภาพศิลปะดีๆ มาติดไว้บ้างโดยเปลี่ยนไปให้แปลกตาเป็นประจำ ยิ่งใช้งานศิลปะของศิลปินพื้นถิ่นนั้นๆ ได้ ก็ยิ่งจะเป็นการส่งเสริมกำลังใจ เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านชาวเมืองและผู้ผ่านพบโดยตรง

โดยเฉพาะงานศิลปะของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ยิ่งทำได้ง่าย ตัวอย่างเช่น งานของลูกหลานบ้านเรา พ่อแม่นี่แหละช่วยส่งเสริมด้วยการติดตั้งไว้หน้าบ้านร้านค้า ถ้าทำได้ทุกบ้านย่านนั้นๆ จะกลายเป็นนิทรรศการศิลปะเด็กที่น่ารักน่าสนุก ภูมิใจทั้งพ่อแม่ และสำคัญคือตัวเด็กเองนั่นแหละจะกลายเป็นผู้มีรสนิยมทางศิลปะ

รสนิยมทางศิลปะเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการทางจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ที่บ้านเรายังขาดอยู่

ไม่อยากยกตัวอย่างต่างชาติแต่ก็ต้องยก เช่น ที่วัดพุทธประทีป วัดไทยในอังกฤษ มีรูปเขียนผนังของศิลปินไทยสามคนคือ เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ ปัญญา วิจินต์ธนสาร และสมภพ บุตราช แทบทุกเช้าจะมีเด็กนักเรียนในละแวกนั้น นำโดยครูมาชมรูปเขียนฝาผนัง พระไทยในวัดจะคอยอธิบายให้คณะเด็กนักเรียนได้รู้เรื่องราวพุทธประวัติผ่านงานศิลปะ

ในหอศิลป์แห่งชาติลอนดอนก็จะพบภาพเช่นนี้ คือกลุ่มเด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถือเสื่อเล็กๆ มาคลี่นั่งดูรูปเขียนซึ่งครูจะบรรยาย เช่น รูปเรือรบโบราณถูกระดมยิงจากสองฝั่งช่องแคบ ครูทำมือยิงเข้าหากัน เด็กบางคนถึงกับสะดุ้งตามความรู้สึกจากภาพและคำบรรยาย

งานศิลปะนี่แหละหล่อหลอมให้คนมีรสนิยมที่ดีงามได้จริง ซึ่งบ้านเรายังขาดอยู่

จึงไม่แปลกที่งานนิทรรศการศิลปะของศิลปินบ้านเรานั้น วันเปิดก็คือวันปิด คือมีแขกรับชมคับคั่งเฉพาะในวันเปิดแสดงชั่ววันเดียว จากนั้นก็โหรงเหรงหรือแทบไม่มีเอาเลย

นี่เพราะเราขาดการปูพื้นหรือให้การศึกษาเรื่องรสนิยมในงานศิลปะเท่าที่ควรหรือแทบไม่มีเอาเลย จริงไหม

ขอเสนอให้มีพื้นที่วัฒนธรรมผ่านงานศิลปะอันพึงมีได้ในทุกที่ทุกย่าน ด้วยการเล่าเรื่องราวที่เรามีอยู่มากมายให้เป็นที่ปรากฏ อันจะยังความภาคภูมิใจได้แท้จริง มากกว่าแค่การโฆษณาชวนเชื่อให้รักความเป็นไทยดังวาทกรรมจำเจเหมือนจนตรอกกันอยู่นี้

ทำอย่างไรให้มีช่องโทรทัศน์สักช่องเสนอเฉพาะงานศิลปวัฒนธรรมล้วนๆ เท่านั้นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงได้ไหม อย่างช่องหนึ่งมีแต่งิ้วจีนล้วนๆ ทำไมเขาจึงทำได้

ฝากให้ท่านผู้มีหน้าที่และอำนาจดูแลงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจังและจริงใจด้วยเถิด อย่าเห็นงานวัฒนธรรมเป็นเรื่องท้ายแถวของการพัฒนาบ้านเมืองเลย

โลกวันนี้เขาใช้วัฒนธรรมนำการพัฒนา

รุดหน้าไปแล้ว