สมุนไพรเพื่อสุขภาพ /โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเองมูล/ดอกเข้าพรรษา สุขภาวะทางปัญญา

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ /โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเองมูล/นิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ดอกเข้าพรรษา

สุขภาวะทางปัญญา

 

เดือน 8 มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา 2 วันติดต่อกันสืบเนื่องมายาวนาน วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และต่อเนื่องรุ่งขึ้นวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งนับเป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนไปสิ้นสุดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

สำหรับวันอาสาฬหบูชา พระไพศาล วิสาโล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวเตือนให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 2607 ปีที่แล้วว่า

“เป็นครั้งแรกที่พระบรมศาสดาทรงเปิดเผยหนทางสู่อิสรภาพแก่มนุษย์ กล่าวคือ แม้ทุกคนยังต้องแก่ เจ็บ พลัดพราก และยังต้องตาย แต่ก็สามารถยกจิตให้เป็นอิสระเหนือสิ่งเหล่านั้นได้ ทุกข์กายไม่มีใครหนีพ้น แต่ใจไม่เป็นทุกข์ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถอยู่เหนือการเกิดและการตาย หลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ในที่สุด

พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า อิสรภาพที่แท้จริงนั้นบรรลุได้เมื่อจิตละตัณหา และมีปัญญามาแทนที่อวิชชา ทั้งนี้ ด้วยการฝึกตนให้ตั้งมั่นในความดี และเปิดใจให้เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง จนรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้เลย วิถีการฝึกตนดังกล่าวเป็นทางสายกลางที่นำไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ปฐมเทศนาที่ทรงแสดงในวันนั้น ได้กำจัดธุลีในดวงตาของท่านโกณฑัญญะ จนบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลท่านแรก และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกในพุทธศาสนา วันนั้นจึงมีพระรัตนตรัยครบองค์สามเป็นครั้งแรกในโลก การใคร่ครวญสาระของวันอาสาฬหบูชา ช่วยเตือนใจให้ตระหนักว่าชีวิตนี้มีค่าเกินกว่าที่จะอยู่ไปวันๆ หรือมัวเสพสุข ไล่ล่าหาทรัพย์ เพียงเพื่อจะถูกความทุกข์บีบคั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสิ้นลมไปในที่สุด เราทุกคนมีศักยภาพมากกว่านั้นและสามารถเข้าถึงภาวะที่ประเสริฐกว่านั้นมาก”

 

รุ่งขึ้นวันเข้าพรรษา พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกัน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยตลอด 3 เดือน และพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็ใช้โอกาสดี ๆ นี้ ทำกิจกรรมบำเพ็ญกุศลต่างๆ เช่น เข้าวัดฟังธรรม ทำบุญตักบาตร เป็นต้น และยังมีพิธีถวายเทียนพรรษาหรือปัจจุบันประยุกต์เป็นถวายหลอดไฟ

ในอนาคตน่าจะร่วมกันถวายแผงโซลาร์เซลล์ให้ความสว่างไสวไร้มลพิษกันทุกวัดเลย

นอกจากสิ่งของที่ร่วมกันนำไปถวายวัดในเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาถวายพระด้วย คือ ดอกเข้าพรรษา ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่อยู่ในวงศ์ขิง สกุล Globba พืชในสกุลนี้ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง 45 ชนิด ในจำนวนนี้มีชื่อว่าเรียก ดอกเข้าพรรษาถึง 4 ชนิด

เชื่อกันว่าที่ได้เรียกชื่อ ดอกเข้าพรรษา เพราะพืชในกลุ่มนี้ออกดอกก่อนช่วงเข้าพรรษาเล็กน้อย เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาก็นำไปถวายพระ โดยเฉพาะที่อำเภอพระพุทธบาท สระบุรี ซึ่งน่าจะเป็นที่แรกของประเทศไทยที่นำเอาดอกเข้าพรรษาไปร่วมในพิธีตักบาตร จนกระทั่งมีชื่อเสียงไปทั่ว

ทำให้ดอกเข้าพรรษาได้รับความสนใจมาก ขณะนี้จึงมีผู้ปลูกและพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

 

ดอกเข้าพรรษามีถิ่นกำเนิดที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย แต่ดอกเข้าพรรษาที่มีรายงานจากหอพรรณไม้กรมป่าไม้ของประเทศไทยมี 4 ชนิด ได้แก่ Globba annamensis Gagnep., Globba flagellaris K. Larsen, Globba marantina L.และ Globba xantholeuca Craib

ดอกเข้าพรรษาชนิด Globba annamensis Gagnep. มีช่อสั้น กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบประดับเป็นสีม่วง ชนิด Globbaflagellaris K. Larsen มีกลีบดอกสีเหลืองไม่มีกลับประดับ

ดอกเข้าพรรษาชนิด Globba marantina L. มีดอกสีเหลืองเช่นกัน แต่กลีบประดับสั้น มีสีเขียว มีรายงานว่าเหง้าของดอกเข้าพรรษาชนิดนี้กินได้ มีรสเผ็ด ร้อน กินได้ทั้งสดและตากแห้ง ซึ่งน่าจะใช้ได้เหมือนใช้กระวาน (Round Siam cardamom, Best cardamom, Clustered cardamom และ Camphor seed) กระวานเป็นเครื่องเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum krervanh Pierre อยู่ในวงศ์ขิงเช่นเดียวกัน เพราะมีกลิ่นหอม ไม่ฉุน หน่ออ่อนใช้เป็นยากระตุ้นให้มีความอยากอาหารได้

และดอกเข้าพรรษาชนิด Globba xantholeuca Craib เป็นชนิดที่พบเฉพาะในประเทศไทยดอกสีขาว ดอกเข้าพรรษาชนิดดอกสีขาวนี้ น่าจะเข้ากับบรรยากาศนำไปถวายพระภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้งแม่ชีต่างๆ ในวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆ ให้สีขาวช่วยสร้างบรรยากาศให้สว่าง สงบ และพบความสุขอันประณีตด้วย

 

เรื่องดอกเข้าพรรษาไม่มีเพียงเท่านี้ ในปัจจุบันได้มีการเรียกต้นกล้วยชนิดหนึ่งว่า ดอกเข้าพรรษาด้วย คือ ต้นกล้วยจะก่าหลวง หรือข่าเจ้าคุณวินิจ มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า dancing ladies หรือ dancing ladies ginger มีชื่อวิทยาศาสตร์ Globba winitii C.H. Wright) ต้นกล้วยจะก่าหลวง ยังมีชื่อท้องถิ่นว่า กลางคาน (กลาง) และว่านสาวหลง (กลาง) ต้นกล้วยจะก่าหลวง มีดอกเป็นช่อสีเหลือง มีเหง้าใต้ดิน กาบใบห่อขึ้นมาเป็นลำต้นเทียม ใบเดี่ยว ดอกช่อ มีริ้วประดับรูปไข่แกมรีสีม่วงแดงหรือสีขาวรองรับดอกย่อยสีเหลือง ผลรูปไข่มีสามพู ออกดอกช่วงมิถุนายน-ตุลาคม พบในภาคเหนือและภาคกลาง พบครั้งแรกในไทยเมื่อ 4 กันยายน พ.ศ.2467 ที่บ้านแม่ก้อ จังหวัดลำพูน โดยพระยาวินิจวนันดร โดยให้ชื่อสปีชีส์ตั้งเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

ในฐานข้อมูลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ยังมีการเรียกพืชอีกชนิดหนึ่งว่า ดอกเข้าพรรษา พืชชนิดนี้อยู่ในวงศ์ขิงเช่นเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smithatris supraneanae W.J.Kress & K.Larsen ส่วนเหนือดินสูงได้ถึง 120 ซ.ม. ใบมี 5-7 ใบ ก้านใบยาว แผ่นใบรูปใบหอก สีเขียวปนเทา ช่อดอกเกิดที่ยอด ก้านช่อยาว ใบประดับสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและหลอดกลีบดอกสีขาว แฉกกลีบดอก กลีบปากและเกสรเพศผู้สีเหลือง

สำหรับชาวบ้านทั่วไปน่าจะเรียกพืชในสกุล Globba เกือบทั้งหมดว่า ดอกเข้าพรรษา ปัจจุบันกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการพัฒนาสายพันธุ์จำนวนมาก ให้มีลักษณะช่อดอกแตกต่างกัน มีสีสันที่หลากหลาย ไม่เพียงประเทศไทยที่ใช้ดอกเข้าพรรษาในงานบุญเท่านั้น

ที่ประเทศเมียนมาก็มีการใช้ดอกเข้าพรรษาทำบุญในวันเข้าพรรษาเช่นกัน