AI ตรวจจับมะเร็งเต้านม ล่วงหน้าสูงสุดถึง 5 ปี/รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

AI ตรวจจับมะเร็งเต้านม

ล่วงหน้าสูงสุดถึง 5 ปี

 

มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

ไม่มีวัคซีนป้องกัน 3 ใน 4 ของผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือ “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้”

มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

ดังนั้น การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็ก และก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น

เมื่อเทียบกับการตรวจพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว

เต้านมคนเราเปลี่ยนแปลงตามอายุและตามรอบประจำเดือน การที่เราหมั่นคลำเต้านมตัวเองจะทำให้เรารู้ลักษณะปกติของเต้านม เราสามารถพบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เต้านมตั้งแต่แรกๆ

 

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งเต้านม เช่น การมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ประวัติญาติสายตรง (แม่ พี่ น้อง) เป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นญาติใกล้ชิด ผู้หญิงที่รอบเดือนมาเร็วและหมดช้า หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี

ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านมส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ ควรเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ซีสต์มักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ การเป็นซีสต์ที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีสต์มักจะเจ็บที่ก้อน

ผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ

พบว่าร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลายๆ คนมีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไร

และทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้

 

จากการสังเกต ถ้าก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะแข็งและขรุขระ แต่อาจเป็นก้อนเรียบๆ ได้

อาการอื่นๆ อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือมีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม หรืออาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม บางรายคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนานๆ ครั้งจะพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม

นอกจากอาการผิดปกติที่เต้านมแล้ว การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) ยังสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อนหรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้

การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็กเพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมจะไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก

ส่วนในคนอายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) มีข้อเด่นที่สามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

การตรวจเต้านมโดยใช้รังสีปริมาณน้อย หรือ Mammogram นั้นถือเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดทางหนึ่ง

ระบบ AI นี้มีหน้าที่หลักๆ ในการตรวจภาพจากการฉายรังสี เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมให้พบได้เร็วขึ้น และทำให้ทีมแพทย์สามารถทำการรักษาหรือดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในด้านบทบาททางการแพทย์หลังจากผลวิจัยล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า AI มีความสามารถในการวิเคราะห์มะเร็งเต้านมได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นักวิจัยจาก MIT พัฒนาโมเดล Deep Learning ที่สามารถตรวจจับมะเร็งเต้านมได้ล่วงหน้าสูงสุด 5 ปี ผลการวิจัยดังกล่าวจาก AI ยังสามารถทำงานได้กับทั้งผู้ป่วยทุกผิวสี ความสำเร็จการพัฒนาระบบ AI ในการใช้ข้อมูลแมมโมแกรม วิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผลการตรวจของผู้ป่วย

งานวิจัยล่าสุดที่ทีมวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของห้องแล็บ CSAIL และโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital เผยถึงผลสำเร็จในการพัฒนาระบบ AI ดังกล่าวด้วยการใช้ข้อมูลจากแมมโมแกรม (ภาพเอ็กซเรย์เต้านม) และผลการตรวจของผู้ป่วยมากกว่า 60,000 รายให้ AI ตรวจสอบ

ซึ่งระบบ AI ก็สามารถตรวจสอบได้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น

 

ต้องยอมรับเลยว่า AI กำลังเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการแพทย์หลังจากผลวิจัยล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า AI มีความสามารถในการวิเคราะห์มะเร็งเต้านมได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซะอีก

ในโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital โดยระบบ Deep Learning จะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อมองหาสัญญาณเตือนที่มนุษย์อาจไม่เข้าใจ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้าน AI ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ กับวงการแพทย์ สามารถทำนายออกมาว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งหรือไม่ได้ล่วงหน้าสูงสุดถึง 5 ปี และคณะวิจัยก็ค้นพบว่าโมเดลนี้มีความแม่นยำสูงกว่า

ทำให้เห็นได้ชัดว่า AI จะสามารถเข้ามาช่วยงานทีมแพทย์ได้จริง

โมเดลนี้สามารถวินิจฉัยโรคในคนไข้ผิวสีด้วยโดยปราศจากอคติ

ปกติแล้วผู้หญิงผิวสีนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงผิวขาวถึง 42%

การพัฒนาระบบนี้ นักวิจัยได้ทำการคัดเลือกข้อมูลที่มีความครอบคลุมสำหรับกลุ่มสตรีทั้งสองสีผิว

ดังนั้น เมื่อนำ AI มาช่วยตรวจสอบให้ได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น จะทำให้ช่วยรักษามะเร็งของผู้ป่วยได้รวดเร็ว และสามารถรู้ล่วงหน้าในการดูแลสุขภาพที่จะเกิดความเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดมะเร็งเต้านมเพื่อลดการสูญเสียงบประมาณการรักษาได้มากในอนาคต

 

ที่มา

MIT AI tool can predict breast cancer up to 5 years early, works equally well for white and black patients