พิศณุ นิลกลัด : เคล็ดลับในการหาเทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัว

พิศณุ นิลกลัด

เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ฟิตเนส คลับ มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการแน่นสุดขีด

แต่จากสถิติพบว่า 75% ของคนที่สมัครสมาชิกฟิตเนส จะเลิกเข้าฟิตเนสภายใน 3 เดือนแรก

สาเหตุหลักๆ ของคนที่สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนส แล้วไม่ใช้บริการก็คือ

ขี้เกียจ

ผัดวันประกันพรุ่ง

ฟิตเนสอยู่ไกลจากบ้าน

รู้สึกไม่มั่นใจเพราะใช้เครื่องออกกำลังไม่เป็น

อายรูปร่างตัวเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนรูปร่างดีในฟิตเนส

ดังนั้น การเลือกฟิตเนสที่สะดวกแก่การเดินทางไปออกกำลัง และมีอุปกรณ์การออกกำลัง หรือคลาสต่างๆ ที่เหมาะกับเรา เข้าไปออกกำลังแล้วมีความสุข เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ช่วยให้เราออกกำลังกายเป็นกิจวัตร

สำหรับคนที่อยากเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย แต่หาเพื่อนเข้าฟิตเนสด้วยกันเป็นประจำไม่ได้ หรือไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นออกกำลังอย่างไร ทำถูกท่าทางหรือเปล่า การจ้างเทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัวหรือ Personal Trainer ก็เป็นแนวทางที่ดี หากมีงบประมาณพอในการจ่ายค่าจ้าง

Personal Trainer ที่มีความรู้ มีจิตวิทยาในการสอน สามารถช่วยให้เรามีพื้นฐานในการออกกำลังได้อย่างถูกต้อง ยกน้ำหนักได้อย่างถูกท่าทาง ช่วยให้เห็นพัฒนาการของร่างกาย และจัดโปรแกรมการออกกำลังที่ไม่ซ้ำซากจำเจ ทำให้เราออกกำลังโดยไม่เบื่อ ออกกำลังอย่างมีเป้าหมาย


สําหรับคำแนะนำในการเลือกเทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัวมีดังนี้

1. มีประกาศนียบัตรในการฝึกอบรมการเป็นเทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัวจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

อย่าลังเลที่จะถามเทรนเนอร์ว่าผ่านการอบรมอะไรมาบ้าง มีประสบการณ์มานานขนาดไหน เพราะเรื่องสุขภาพของเรานั้นสำคัญมาก หากเทรนเนอร์ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ที่มากพอ อาจทำให้ร่างกายของเราเป็นอันตรายได้

2. ขอชื่อและเบอร์ติดต่อของลูกค้าคนก่อนหน้าของเทรนเนอร์ส่วนตัว หากลูกค้ายินดีที่จะพูดคุยกับเราถึงคุณภาพการสอนของเทรนเนอร์ว่าน่าพอใจหรือไม่ มีแนวการสอนอย่างไร เทรนเนอร์ชำนาญด้านไหนเป็นพิเศษ เช่น ด้านลดน้ำหนัก หรือด้านสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อเราจะได้นำมาช่วยประกอบการตัดสินใจว่าจะจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวคนนั้นหรือคนนี้ดี

3. ไม่ควรเซ็นสัญญากับเทรนเนอร์ออกกำลังกายส่วนตัวทันที ควรใช้เวลาในฟิตเนสอย่างน้อยสองสัปดาห์ เพื่อสังเกตเหล่าเทรนเนอร์ส่วนตัวในฟิตเนสว่าสอนลูกค้าอย่างไร ใส่ใจดูแลลูกค้าขนาดไหน เป็นเทรนเนอร์ที่พูดให้กำลังใจลูกค้า หรือดุดัน รุนแรง ซึ่งบางคนอาจชอบเทรนเนอร์แนวดุดัน

การสังเกตการณ์ก็ควรทำอย่างเนียนๆ ไม่ใช่ไปยืนจ้อง เพราะเป็นการเสียมารยาท แต่อาจทำได้ด้วยการเดินบนเครื่องวิ่งสายพานใกล้กับเครื่องที่เทรนเนอร์กำลังสอนลูกค้า

4.อย่าตัดสินว่าเทรนเนอร์คนไหนดีกว่ากันที่รูปร่างของเทรนเนอร์ เพราะแม้เทรนเนอร์จะมีรูปร่างดีมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวที่ดี มีทักษะในการสอนคนอื่นให้มีรูปร่างเหมือนกับเทรนเนอร์

5. ใช้เวลาพูดคุยกับเทรนเนอร์ส่วนตัวที่สนใจจะจ้าง เพื่อจะได้ทราบนิสัยใจคอว่าไปด้วยกันได้มั้ย คุยกันถูกคอหรือเปล่า

เพราะหากนิสัยไม่เข้ากัน ไม่ว่าเทรนเนอร์จะเก่งแค่ไหน มีคุณวุฒิสูงเท่าไหร่ การออกกำลังก็จะไม่ได้ผลดี

ว่าไปแล้วการเลือกเทรนเนอร์ก็เหมือนกับการเลือกช่างผมคู่ใจสื่อสารกันรู้เรื่องว่าต้องการตัดผมทรงไหน เช่นเดียวกับเทรนเนอร์ส่วนตัวที่เข้าใจเราว่าต้องการออกกำลังเพื่อลดไขมันส่วนนั้นส่วนนี้ และจะเพิ่มกล้ามเนื้อส่วนไหน

6.หลังจากพูดคุยกันถูกคอ นิสัยเข้ากันได้ เรื่องสำคัญมากอีกอย่างก็คือเรื่องสัญญาค่าจ้าง ว่าคิดราคาอย่างไร มีส่วนลดหรือไม่ หากจะยกเลิกสัญญาจ้าง มีขั้นตอนอย่างไร พูดกันตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม

7. ถามเรื่องตารางการสอนของเทรนเนอร์ว่าตรงกับช่วงเวลาที่เราสามารถเข้าฟิตเนสหรือไม่ หากเราทำงานประจำ 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ซึ่งช่วงเช้าตรู่ก่อนเริ่มงาน และช่วงเย็นหลังงานเลิก อาจจะเป็นช่วงที่เทรนเนอร์ส่วนตัวมีคิวแน่น ดังนั้น ต้องตกลงเรื่องตารางวันเวลาในการฝึกซ้อมให้เรียบร้อยก่อนเซ็นสัญญา

เพราะการเข้าฟิตเนสอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ขอให้มีความสุขและได้ประโยชน์เต็มที่จากการเข้าฟิตเนสครับ