ต่างประเทศอินโดจีน : ในนามของ “ความมั่นคง”

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวหารัฐบาลนายกรัฐมนตรี สมเด็จอัครมหาเสนาบดี ฮุน เซน แห่งกัมพูชาว่า ดำเนินความพยายามในทุกๆ ทางเพื่อ “ปิดปาก” ฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมือง รวมถึงบรรดาผู้ที่เรียกร้อง รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

เชื่อมโยงกับการที่สหภาพยุโรปเริ่มต้นกระบวนการเพื่อยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าที่เคยมอบให้ต่อกัมพูชา ด้วยสาเหตุจากพฤติกรรมทางด้านมนุษยชนและประชาธิปไตยที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

กรณีที่กล่าวหากันว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดการขั้นเด็ดขาดกับฝ่ายค้าน ถูกร้องเรียนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) และมีการหยิบขึ้นมาพิจารณาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้

คำกล่าวของนายกฯ ฮุน เซน ต่อที่ประชุมคณะมนตรีฯ เพื่อ “ดีเฟนด์” การกระทำของรัฐบาลกัมพูชาน่าสนใจมาก

น่าสนใจเพราะนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของกัมพูชาแล้ว

ยังท้าทายอย่างยิ่งต่อความคิด ความเข้าใจที่เชื่อถือกันเป็นสากล

 

ฮุน เซน เริ่มต้นจากการยืนกรานว่า ชาวต่างชาติรายใดก็ตามที่กล่าวหารัฐบาลกัมพูชาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กดขี่และไม่เป็นประชาธิปไตย กำลังนำพากัมพูชาไปสู่ความ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการหวนกลับไปสู่ภาวะ “สงคราม” อีกครั้ง

เพราะสิ่งที่เรียกร้องและกล่าวหาต่อกัมพูชานั้น ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และล้มล้างระบอบการปกครอง

ฮุน เซน “สั่งสอน” กัมพูชาตลอดมาว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องธำรงรักษา “ความมั่นคง” ของสังคมเอาไว้ให้ได้ในทุกวิถีทาง

“ประชาธิปไตย” โดยปราศจากการบังคับใช้กฎหมาย รังแต่จะนำไปสู่สภาวะ “อนาธิปไตย” นายกฯ กัมพูชาบอกอย่างนั้น

ทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม ที่มี “บทบาท” อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย ควรต้องดำเนินการใดๆ ด้วย “ความรับผิดชอบ” และเสริมว่า “ควรวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์, ไม่ยั่วยุ และก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ, ไม่ยอมจำนนต่อผลประโยชน์ที่ต่างชาติหยิบยื่นให้”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ก่อให้เกิดความร้าวฉานจงเกลียดจงชังกันขึ้นระหว่างเขมรกับเขมรด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง”

 

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสำทับเอาไว้ว่า บางกลุ่ม บางสถาบัน ยัง “คงวาระทางการเมืองเพียงหนึ่งเดียวเอาไว้ตลอดมา นั่นคือการทำทุกทางเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของกัมพูชา”

คนเหล่านี้ “กล่าวหารัฐบาลกัมพูชาเสมอว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา แม้ว่าสิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเองยังเต็มไปด้วยความหวาดระแวงชาวต่างชาติ, เลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ และกระทำต่อผู้อพยพอย่างผิดๆ” อยู่ในเวลาเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้สิทธิมนุษยชนเป็น “ตัวประกัน” เมื่อมาหารือให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับกัมพูชา

คนพวกนี้มีแต่แสวงหาหนทางที่จะบ่อนเซาะ ทำลายพัฒนาการของกัมพูชา และทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของชาตินี้เท่านั้น

 

ฮุน เซน อวดอ้างว่าเพราะสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา กัมพูชาเติบใหญ่จากประเทศยากจนกลายเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางระดับล่างแล้ว และสามารถตั้งเป้ากลายเป็นระดับบนให้ได้ภายในปี 2030

ว่ากันตรงไปตรงมา คงมีไม่กี่ชาตินักบนโลกใบนี้ที่ผ่านประสบการณ์สงความหนักหนาสาหัสและยาวนานเหมือนกับที่กัมพูชาเคยพานพบมา ฮุน เซน มีสิทธิเต็มที่ที่จะปลูกฝังความเกลียดชังสงครามให้กับคนของตนเอง

แต่สิทธิมนุษยชน ไม่เกี่ยวกับสงคราม หากเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี พึงได้ อันเป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล

เช่นเดียวกันกับการอ้างความมั่นคง ที่ทำให้เกิดคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นความมั่นคงของใคร ของฮุน เซน หรือของชาติและประชาชนกันแน่?