เพ็ญสุภา สุขคตะ : โรเมโอ-จูเลียต เช็กสเปียร์ได้แรงบันดาลใจจากตำนานรักบาบิโลน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บ้าน “จูเลียต” ที่เวโรนา

ฤดูร้อนต้นปีที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินทางไปเที่ยวเมืองเวโรนา ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี มีโอกาสแวะชมพิพิธภัณฑ์ “บ้านจูเลียต” ด้วยความฉงนฉงายยิ่งนัก

เหตุที่ “จูเลียต” เป็นเพียงตัวละครในวรรณกรรมที่ “วิลเลียม เช็กสเปียร์” (ค.ศ.1564-1616) มหากวีชาวอังกฤษแต่งขึ้นในปี ค.ศ.1595 หาใช่บุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตตัวเป็นๆ อยู่จริง

ดังนั้น จะมีบ้านของเธอหลังจริงได้อย่างไรเล่า

นอกจากนี้แล้ว ยุคที่เช็กสเปียร์แต่งเรื่อง “โรเมโอ-จูเลียต” ก็เป็นงานเขียนในรูปแบบของบทละครที่นำไปแสดงโอเปร่าเท่านั้น ยังไม่ได้มีการยกกองถ่ายภาพยนตร์มาใช้ฉากของเมืองเวโรนาแต่อย่างใดเลย

กล่าวให้ง่าย ท้องเรื่องของโศกนาฏกรรมรักเรื่อง “โรเมโอ-จูเลียต” ที่เช็กสเปียร์กำหนดให้เป็นเมืองเวโรนาในอิตาลีนั้น เป็นการสมมติขึ้นมาเอง มิใช่เรื่องจริงอิงประวัติศาสตร์

เพียงแต่ว่า เลขที่บ้านและชื่อถนนที่เช็กสเปียร์ระบุว่าเป็นบ้านของจูเลียตแห่งเมืองเวโรนานั้น ดันมีอยู่จริง! ตรงตามที่เช็กสเปียร์พรรณนาว่าเป็นบ้านในยุคกลาง มีระเบียงพลอดรักยื่นออกมาที่หน้าบ้านบนชั้นสอง ซึ่งโรเมโอเคยปีนกำแพงขึ้นไปลอบพบจูเลียต

นายกเทศมนตรีผู้ดูแลเมืองเวโรนาตัดสินใจซื้อคฤหาสน์โบราณหลังนี้ มาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านจูเลียต แถมที่นี่ยังมี “จูเลียตคลับ” ให้คนหัวใจร้าวรานเขียนจดหมายมาร่ำระบาย อาจรวมไปถึงเรื่อง “เสพสมบ่มิสม” โดยมีอาสาสมัครกูรูด้านความรักแวะเวียนมานั่งเปิดซองอ่านทุกฉบับ พร้อมตอบคำถามส่งคืนทางไปรษณีย์ให้อีกด้วย

ส่วนบ้านโรเมโอนั้น ตามท้องเรื่องบอกว่า “ไม่ใกล้ไม่ไกล” จากบ้านของจูเลียตเท่าใดนัก เทศบาลทำได้แค่พอจะอนุมานชี้จุดแนวรั้วกำแพง ทว่าเจ้าของบ้านยังไม่พร้อมที่จะขายให้รัฐบาลจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเสียทีเดียว

ประเด็นที่อยากจะชวนคุยวันนี้ก็คือ เรื่องที่ได้ยินหนาหูมาตลอดว่าเช็กสเปียร์ไม่ได้คิดพล็อตเรื่อง “โรเมโอ-จูเลียต” ด้วยตัวเองนั้น เป็นความจริงหรือไม่ที่เช็กสเปียร์นำพล็อตมาจากตำนานรักบาบิโลน หรือนิทานปรัมปรายุคโรมันเรื่อง “พีรามุสและทิสบี”?

 

Pyramus-Thisbe
นิทาน 1,400 ปีก่อนยุคเช็กสเปียร์

เช็กสเปียร์เขียนเรื่องโรเมโอ-จูเลียตเมื่อราวเกือบ 500 ปี โดยที่ก่อนหน้านั้นย้อนหลังไปอีก 1,400 ปี (หรือนับจากปัจจุบันก็ประมาณ 1,900 ปีมาแล้ว) เคยมีพล็อตเรื่องทำนองนี้มาก่อนแล้ว

ลองอ่านเรื่องย่อของ “Pyramus and Thisbe” นิทานที่ประพันธ์โดยชาวโรมันนาม Ovid ดูนะคะ ว่าจักมีความละม้ายคล้ายคลึงกับโรเมโอ-จูเลียต หรือไม่อย่างไร

โอวิดเป็นชาวโรมันก็จริง แต่ฉากในนิทานเรื่องนี้กลับเป็นเมือง “บาบิโลน” อาณาจักรโบราณที่เกิดขึ้นก่อนโรมันเล็กน้อยแต่ถือว่าร่วมสมัยกัน ซึ่งเขาระบุในนิทานว่าเป็นเรื่องของ “คู่รัก-คู่กรรม” หนีไม่พ้นอิทธิพลแห่งดวงดาวที่ลิขิตมาแล้ว โดยโอวิดใช้คำว่า Star-crossed Lovers สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ของชาวตะวันตกยุคโบราณ

ตัวละครฝ่ายชายคือ “พีรามุส” หนุ่มน้อยอาศัยอยู่ในบ้านที่ประชิดติดกันกับบ้านของตัวละครฝ่ายหญิง “ทิสบี” บ้านทั้งสองมีเพียงกำแพงอิฐขวางกั้น แต่ “ใกล้ก็เหมือนไกล” เพราะครอบครัวของทั้งสองเป็นศัตรูกัน จึงขัดขวางไม่ให้ทั้งคู่คบหาพูดคุยกัน

ความรักแตกกอผ่าน “รอยแยกของกำแพง” ซึ่งทั้งสองแอบคุยกระหนุงกระหนิงผ่านผนังอิฐผืนนี้ รวมทั้งลอบจุมพิตกัน (เพราะในนิทานใช้คำว่า kiss) ถ้าเช่นนั้นรอยร้าวของกำแพงคงเป็นช่องโหว่ใหญ่พอสมควร

กระทั่งทั้งสองตกลงปลงใจว่าจะหนีไปอยู่ด้วยกัน จึงนัดแนะพบกันที่ราวป่า ปรากฏว่าฝ่ายหญิงไปถึงที่หมายก่อน ขณะที่รอพีรามุสอยู่นั้นทิสบีต้องเผชิญหน้ากับสิงโตตัวหนึ่ง ปากของมันยังเปรอะเลือดสดๆ ด้วยเพิ่งสวาปามเหยื่อมาหมาดๆ อารามตกใจกลัว ทิสบีหุนหันพลันแล่นวิ่งหนี ไม่ทันเห็นว่าเธอได้ทำผ้าคลุมไหล่ตกที่พื้น จนเจ้าสิงโตตะครุบเอามาไว้ในปาก

ครั้นพระเอกของเรามาถึง ไม่พบยอดยาหยี มีแต่เพียงสิงโตคาบผ้าคลุมไหล่ที่เปื้อนเลือด พีรามุสถึงกับเข่าทรุดเข้าใจว่าทิสบีถูกสิงโตกัดกินไปเรียบร้อยแล้ว พีรามุสคิดว่าเขาไม่อาจมีชีวิตอยู่ตามลำพังได้ จึงขอตายตามหญิงที่ตนรัก ด้วยการใช้มีดปักอกตัวเองตาย

เมื่อทิสบีกลับมาที่เดิมอีกครั้ง ได้เห็นพีรามุสกลายเป็นศพ เธอรู้ว่าเขายอมตายเพราะคิดว่าเธอตาย จึงเอามีดเล่มเดียวกันนั้นมาฆ่าตัวเองตายตาม

ตอนจบของเรื่อง ยังมีการระบุว่าต่อมากระดูกเถ้าของเขาและเธอได้นำมาเก็บบรรจุไว้ในโกศใบเดียวกัน และแต่เดิมลูกหม่อน หรือ mullberryเคยเป็นผลไม้ที่มีสีขาว แต่เลือดแห่งรักอันบริสุทธิ์ของสองหนุ่มสาวได้ชโลมทาทั่วแนวป่าที่มีต้นหม่อน ทำให้ผลไม้นี้จึงเปลี่ยนเป็นสีแดง

ลูกหม่อนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความพิศวาส มีคำกล่าวถึงผลไม้ชนิดนี้ว่า “ทุกครั้งที่เธอกินลูกหม่อน รสฝาดของมันคือเลือดของพีรามุสและทิสบีที่หลอมรวมกันอยู่ในทุกอณู”

ทีนี้ลองไปดูเนื้อเรื่องย่อของโรเมโอ-จูเลียตว่า เลียนแบบพล็อตจากพีรามุส-ทิสบี จริงล่ะหรือ?

 

ครอบครัวกีดกัน แอบนัดพาหนี
ฆ่าตัวตายด้วยความเข้าใจผิด

เช็กสเปียร์ผูกเรื่องให้ตระกูลของโรเมโอกับจูเลียตเป็นอริกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้มีบ้านอยู่ประชิดกัน แถมทั้งคู่ยังไม่ใช่รักแรก โรเมโอเป็นชายเจ้าชู้เคยมีเพื่อนหญิงที่คบหาดูใจมาก่อนแล้ว ส่วนจูเลียตเองก็กำลังมีคู่หมั้น

แต่ครั้นเมื่อทั้งคู่ได้ “แรกพบประสบพักตร์ ผิวรักจะขาดใจ” ขึ้นมาในบัดดลและนิรันดร จึงพากันวางแผนทำทุกวิถีทางที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่จับพลัดจับผลู โรเมโอไปฆ่าญาติของฝ่ายจูเลียต ทำให้ต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง

ฝ่ายจูเลียตเมื่อถูกบังคับให้แต่งงาน ก็วางแผนดื่มยานอนหลับที่ทำให้ดูเสมือนว่าเธอตาย แต่หากรอไปสักระยะก็จะฟื้น เธอถูกนำร่างไปฝังยังสุสาน เมื่อโรเมโอรู้ข่าวรีบตามมาเห็นจูเลียตนอนตาย จึงกินยาพิษตาย

พอจูเลียตฟื้นขึ้นมาเห็นโรเมโอตาย จึงใช้กริชของโรเมโอฆ่าตัวเธอให้ตายตาม

เมื่ออ่านวรรณกรรมทั้งสองเรื่องเปรียบเทียบกันพบว่ามีความละม้ายกันหลายอย่าง อาทิ พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายไม่ถูกกัน ทำให้ต้องวางแผนพากันหนี แต่เรื่องโรเมโอ-จูเลียตไม่ทันได้หนี เกิดเรื่องที่โรเมโอไปฆ่าน้องชายของจูเลียตเสียก่อน (เนื่องจากน้องจูเลียตมาฆ่าเพื่อนรักของโรเมโอ) และสุดท้ายจบแบบ Tragedy หรือ Sad Ending ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิด

นักวิชาการด้านวรรณกรรมต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เช็กสเปียร์รับอิทธิพลมาจากโอวิดชัดๆ เพียงแต่นำมาเพิ่มอรรถรสด้านภาษาและเนื้อหาให้สนุกมากยิ่งขึ้น แต่ Theme เรื่องหยิบยืมมาจากนิทานโรมันโบราณ

 

“คู่รัก-คู่กรรม” Star-crossed Lovers
ยังมีอีกหลายดวง

อันที่จริง นอกเหนือไปจากเรื่องพีรามุสและทิสบีแล้ว พล็อตเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏอีกชิ้นในงานวรรณกรรมอิตาเลียน นั่นคือบทละครอีกเรื่อง “Mariotto and Giannoza” (มาริย็อตโตและยานโนซา) เขียนขึ้นก่อนโรเมโอ-จูเลียตประมาณ 150 ปี

นักเขียนอิตาเลียนชาวเซียนาผู้นี้มีนามว่า Masuccio Salernitano (มาชัคโช ซาแลร์นิตาโน) มีอายุระหว่าง ค.ศ.1410-1475 เขาผูกพล็อตเรื่องในลักษณะที่ว่า หนุ่มสาวที่ครอบครัวไม่กินเส้นกัน ต่างตกหลุมสิเนหาซึ่งกันและกัน แอบลักลอบแต่งงานกันโดยความช่วยเหลือของนักบวช ต่อมาถูกจับพราก ฝ่ายชายถูกใส่ร้ายป้ายสีให้มีคดีความ

สุดท้ายทั้งสองต้องสังเวยชีวิตให้แก่ความรักในลักษณะคล้ายกับโรเมโอ-จูเลียต กล่าวคือฝ่ายหญิงดื่มยานอนหลับที่ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าดื่มยาพิษ เพื่อให้บาทหลวงพาเธอหนีไปอยู่อเล็กซานเดรีย (อียิปต์) เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่กับชายคนรัก โดยเธอเขียนจดหมายให้มาริย็อตโตรอเธอที่นั่น แต่จดหมายไปไม่ถึงตัวเขา มาริย็อตโตเข้าใจผิดสวนทางกันรีบมาตามหาเธอที่เซียนาด้วยข่าวการตายของเธอแพร่สะพัด ในที่สุดฝ่ายชายถูกจับประหารชีวิต ส่งผลให้ยานโนซาตรอมใจตาย จากนั้นมีการนำศพทั้งคู่ไปฝังในหลุมเดียวกัน

นักวิจารณ์วรรณกรรมมองว่า บางทีเช็กสเปียร์อาจเอาวรรณกรรมสองเรื่องนี้ คือ “พีรามุส-ทิสบี” กับ “มาริย็อตโต-ยานโนซา” มาผสมผสานกันแล้วปรุงรสชาติใหม่จนกลายเป็น “โรเมโอ-จูเลียต” อันอมตะก็เป็นได้

ส่วนแนวคิดเรื่อง Star-crossed Lovers “คู่รัก-คู่กรรม” ที่ดวงดาวลิขิตชะตามาให้แล้วนั้น ต้องถือว่าเป็นความเชื่อที่ค่อนข้างสากลทีเดียว ไม่จำกัดเวลา สถานที่ เชื้อชาติ หรือชั้นวรรณะ

ดังจะเห็นว่า วรรณกรรมแนวนี้ยังสามารถพบได้ในโศกนาฏกรรมระหว่าง “พระลอ-พระเพื่อน-พระแพง” และ “ซมพลา-ลำหับ-ฮเนา” ในเรื่อง “เงาะป่า” ของไทยเราอีกด้วย