จัตวา กลิ่นสุนทร : คำปราศรัย (สัญญา) ตอนหาเสียง ประชาชนคงไม่ลืม

เชื่อว่า “พรรคการเมือง” ในประเทศนี้บางพรรคจะต้องสูญพันธุ์กันบ้าง (ถ้า) หากมีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปเกิดขึ้นอีกในเวลาต่อไป ส่วนจะเร็วจะช้าอยู่ที่รัฐบาลผสมชุดนี้จะยืนหยัดอยู่บริหารประเทศได้จนครบเทอมหรือไม่?

แต่การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผิดแผกแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์การเมืองแบบไทยๆ ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนว่ารัฐบาลจากอดีตครั้งไหนๆ ที่ต้องอาศัยจำนวนพรรคการเมืองเกือบ 20 พรรค แต่ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง (250 เสียง) มาแค่ 3-4 เสียง อย่างที่เรียกกันว่าปริ่มน้ำ

เป็นการทำลายสถิติรัฐบาลซึ่ง “อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์” เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) เมื่อปี พ.ศ.2518 โดยพรรค “กิจสังคม” ซึ่งมีจำนวนผู้แทนฯ 18 เสียง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ครั้งนั้นนับว่าเป็น “รัฐบาลผสม” จากพรรคการเมืองจำนวน 12 พรรค เรียกว่ารัฐบาล “สหพรรค”

 

ทั้งๆ ที่ร่วมกันพยายามคิดวางแผนเอาเปรียบคู่แข่งขันทุกเม็ดอย่างไม่ต้องละอายมาตั้งแต่การก่อตั้งพรรคการเมือง หาเงินทุนเข้าพรรค จนลงสู่สนามเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) ที่ผ่านมา กระทั่งได้ใช้อภินิหารทางกฎหมายดังที่เรียกขานกันจนติดปากไปแล้วทุกวันนี้ เพื่อขุดเอาพรรคขนาดจิ๋วขึ้นจากหลุมมาเพิ่มจำนวนเสียง มีทั้งรัฐธรรมนูญที่ออกแบบจนได้สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาและแต่งตั้งจำนวน 250 คน แต่ต้องใช้งบฯ เทไปกว่าพันล้านบาท

ถ้าหากไม่ได้พรรคการเมืองขนาดกลางๆ อย่าง “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) และพรรค “ภูมิใจไทย” (ภท.) ซึ่งยอมผิดสัญญาที่พูดจาบอกกล่าวไว้กับประชาชนว่าไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ สนับสนุนหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการ “ยึดอำนาจ”

สำหรับพรรค “ภูมิใจไทย” (ภท.) (หัวหน้าพรรค) พูดจาวกวนหลายครั้งหลายหนแต่ยังพอจับความได้ว่าไม่สนับสนุน “นายกรัฐมนตรี” ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่สุดท้ายกลับมีข้ออ้างเข้าไปกอดคอร่วมรัฐบาลกับเขาจนได้ ไม่เหมือนพรรค “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ซึ่ง (หัวหน้าพรรค) พูดจาชัดเจนว่าไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ร่วมกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ

เมื่อทางพรรค “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) โดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ใช้มติพรรคข้างมากเข้าร่วมรัฐบาล ท่าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” (อดีตหัวหน้าพรรค) จึงลาออกจากผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ (แต่ไม่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป.)

 

การปราศรัยเรื่องนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง คำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ได้พูดจากันไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประชาชนย่อมจดจำได้เสมอๆ คงไม่ลืมเลือนง่ายๆ เพราะฉะนั้น เชื่อว่าประชาชนส่วนหนึ่งที่ลงคะแนนให้พรรค “ภูมิใจไทย” (ภท.) และพรรค “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) น่าจะผิดหวังกับ 2 พรรคการเมืองนี้

พรรคภูมิใจไทยคงจะไม่กระไรนักเพราะเป็นพรรคการเมืองเพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่นาน (พ.ศ.2551) เป็นการรวมตัวของนักการเมืองที่โยกย้ายเปลี่ยนแปลงมาจากพรรค “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” และพรรคอื่นๆ รวมทั้งกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” (เนวิน ชิดชอบ) เชื่อว่านโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองยังไม่หนักแน่นฝังรากลึก หรือนำไปปฏิบัติอย่างเห็นผลมาแล้วในการบริหารประเทศ โดยนโยบายเรื่อง “กัญชาเสรี” เพิ่งมาประกาศในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นเดียวกับคำประกาศของ (เสี่ยหนู) อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ว่าเขา “เลือกข้างประชาชน”?

ไม่เหมือนพรรค “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ซึ่งก่อตั้งมา 73 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย แต่ไม่เคยได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว ส่วนมากมักจะเป็น “ฝ่ายค้าน” เพราะถนัดพูดจาปราศรัยกันเก่งเป็นส่วนมาก พรรคประชาธิปัตย์ประกาศต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร-เผด็จการทุกรูปแบบ” มาตลอด ล้มลุกคลุกคลานมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่บอกว่าไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์

เมื่อปี พ.ศ.2522 เกิดความขัดแย้งขึ้นในพรรคเก่าแก่พรรคนี้ อาจารย์ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” (เสียชีวิต) หัวหน้าพรรค ประกาศลาออก และ “พ.อ.ถนัด คอมันตร์” (เสียชีวิต) เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค (2522-2525) พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำอย่างมากถึงขนาดการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2522 สมาชิกของพรรคซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมใจกันสอบตกจนเกือบหมด เหลือเพียงเขต 2 (พญาไท ป้อมปราบฯ) คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งคนเดียว

แต่ถึงอย่างไรย่อมไม่เท่ากับครั้งนี้ ซึ่งผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่หลายๆ เขตมาอย่างต่อเนื่อง กลับสอบตกกันพร้อมหน้า จนกระทั่งหัวหน้าพรรคลาออกตามสัญญา (สัญญาว่าทั้งพรรคไม่ต่ำกว่า 100 คน)

ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีการวิเคราะห์ว่าการ “สอบตกยกทีม” เป็นเพราะเหตุอะไร?

 

ถ้าเป็นภาษาของนักมวยเขาเรียกว่าเก็บอาการ เนื่องจากพรรคนี้ค่อนข้างเจ็บปวดจนต้องทบทวนกันมากมายหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อนโยบายที่ยึดมั่นกันมาตลอดกว่า 7 ทศวรรษ ขณะเดียวกันก็คงต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นว่าสมาชิกขาดความสามัคคี เกิดความแตกแยกกันไม่แตกต่างจากที่ผ่านๆ มา จะเห็นได้จากการเลือก “หัวหน้าพรรค” คนใหม่

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในวัย 63 ปีเพื่อนพ้องน้องพี่เคยร่วมงานกันมาบ้างถ้าหากไม่ลืมเลือนด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่สามารถเรียกได้ว่าไม่ห่างไกลกันก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมาและเป็นผู้แทนฯ ผูกขาดของจังหวัดพังงา (11 สมัย) เป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 กระทรวง

กระทั่งถึงคิวต้องขึ้นสู่บัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 แทนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กับความมุ่งมั่นและประสบการณ์ เขาย่อมต้องตั้งเป้าหมายว่าจะ “กอบกู้พรรค” ให้ฟื้นคืนกลับอย่างแน่นอน

แต่เป็นเรื่องอันน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เฝ้าติดตามการเมืองรวมทั้งรู้จักพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนหลายทศวรรษ ไม่ค่อยมั่นใจนักกับการเข้าร่วมรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คราวนี้ พรรคเก่าแก่พรรคนี้จะสามารถเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืนกลับมาได้

พรรคประชาธิปัตย์อาจต้องเรียวทรุดลงต่อไปอีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมารองรับสืบทอดอุดมการณ์

มีความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้านของสังคมประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการเชื่อมต่อรับรู้การแสดงออก รวมทั้งการศึกษาเรื่องการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลกย่อมสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้คนรุ่นใหม่ขึ้น

ดังปรากฏการณ์การเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้จนสร้างความตื่นตกใจให้กับเผด็จการและคนรุ่นเก่า นักอนุรักษนิยม ชนชั้นกระฎุมพีทั้งหลายแบบตั้งตัวทัน จึงได้แต่คิดจะทำลาย

ซึ่งเป็นตัวอย่างให้ได้คิดกันเสียใหม่ว่าอย่าประมาทความคิดและพลังของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

มิได้ดูถูกดูแคลนความสามารถของพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคที่เข้าร่วมผสมโอบอุ้มให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ว่าอาจไม่มีโอกาสได้ดำเนินนโยบายในส่วนของพรรคตนตามที่เสนอไว้กับประชาชนระหว่างการหาเสียงได้ถนัด

และการร่วมรัฐบาลครั้งนี้น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พรรคทั้ง 2 พรรคการเมืองดังกล่าวอาจจะไม่มีโอกาสเติบโตได้รับเลือกมากขึ้นกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ตรงกันข้ามอาจตกต่ำเตี้ยลงเพราะ “ผิดคำพูด” กับประชาชน จำนวนผู้แทนฯ จะลดน้อยถอยลงไปอีก อันสืบเนื่องมาจากคำปราศรัยหาเสียงกับประชาชน

 

ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 87 ปี มี “รัฐธรรมนูญ” มีการเลือกตั้ง กับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจด้วยการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” โดย “คณะทหาร” มากมายหลายครั้ง สลับกันไปกับการฉีก “รัฐธรรมนูญ” ทิ้ง แล้วใช้เวลาจัดทำด้วยเวลานาน มีการเรียกร้องจนถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” เรียกกันว่ายุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” เป็นยุคนักศึกษาเป็นใหญ่ แต่มันแค่ประเดี๋ยวเดียว

“เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ตามมาไม่ห่าง แทบเรียกกันว่าเป็นการเอาคืนของเผด็จการเพียงเวลาผ่านไปแค่ 3 ปี เข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดร้ายทารุณกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง ในข้อหา “คอมมิวนิสต์” สุดท้ายนักศึกษา ปัญญาชนต่างหนีหายเข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ

นักการเมืองระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ ส่วนใหญ่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้ว จำเป็นต้องมีอุดมการณ์ (บ้าง) พร้อมปลูกฝังส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยให้งอกงามเบ่งบาน จะเริ่มเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไทยๆ ที่ได้เคยสัมผัสมาบ้างอย่างไร? ก็ว่ากันไป แทนที่จะเปลี่ยนใจไปให้ความร่วมมือกับฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” ไปสนับสนุนยืนเคียงข้าง “เผด็จการ”

พูดจาปราศรัยหาเสียง (สัญญา) อะไรไว้กับ “ประชาชน” เขาคงไม่ลืมง่ายๆ