วงค์ ตาวัน | จากการปกปิดหรือเพิกเฉยของรัฐ ตั้งแต่ 6 ตุลา มาถึงเหตุ 99ศพ และเหตุทำร้ายนักกิจกรรมในยุค คสช.

วงค์ ตาวัน

คำรับสารภาพของรัฐ

เพราะกระแสของผู้คนในสังคมไม่ยอมนิ่งเฉยอีกต่อไป เมื่อเกิดเหตุทำร้าย “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน โดยหนนี้กระทำอย่างรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายในระยะยาวได้

จึงเกิดเสียงเรียกร้อง การป่าวประณาม กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลให้มีคำตอบต่อเหตุการณ์คุกคามทำร้ายนักกิจกรรมประชาธิปไตย

“เราจึงได้เห็นฝ่ายรัฐเริ่มขยับ เริ่มสั่งการให้ตำรวจเร่งรัดคดี คุ้มครองดูแลเหยื่อที่ถูกกระทำ”

แต่ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุทำนองนี้กับนักกิจกรรมประชาธิปไตยหลายราย เกินกว่า 10 หน

ฝ่ายรัฐนิ่งเฉยหรือพูดจาเฉไฉมาโดยตลอด

“จนมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การที่รัฐเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับนักกิจกรรมการเมือง นั่นก็คือคำรับสารภาพในตัวมันเองที่ชัดเจนที่สุด!!”

ย้อนไปดูความรุนแรงที่เกิดกับนายเอกชัย หงส์กังวาน ทั้งส่งชายฉกรรจ์มารุมชกต่อย รุมทุบตี รวมทั้งคุกคามข่มขวัญอีกสารพัดถึง 7 ครั้ง แถมด้วยการเผารถถึง 2 ครั้ง

ยังมีนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ที่โดนกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้ายร่างกายเลือดตกยางออกถึง 2 ครั้ง

จนมาถึงจ่านิว ซึ่งโดนรุมทำร้ายไปก่อนหน้านี้ 1 ครั้ง

“จนกล่าวได้ว่า เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่าประมาณ 12 ครั้ง แต่ฝ่ายรัฐนิ่งเฉยอย่างชัดเจน!”

กระทั่งเกิดการรุมทุบตีด้วยอาวุธกับจ่านิวจนบาดเจ็บสาหัส ทำให้ทั้งสังคมลุกฮือแสดงความคับแค้นใจและคับข้องใจ

หนนี้แหละที่ภาครัฐชักนั่งไม่ติด เริ่มออกแอ๊กชั่น

“แต่ก่อนหน้านั้นนับสิบครั้งเพิกเฉยอย่างชัดเจน ก็ต้องมีข้อสังเกตว่า นั่นคือคำรับสารภาพในตัวเองที่ชัดเจน ใช่หรือไม่!?”

ไม่เท่านั้น ยังมีการดิ้นรนด้วยกระบวนการสร้างข่าวเท็จเพื่อเบี่ยงเบนอย่างเป็นระบบ ปล่อยข่าวและมีการให้สัมภาษณ์ขานรับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อ้างว่าอาจเป็นฝีมือแก๊งทวงหนี้นอกระบบ จนแม่ของจ่านิวต้องออกมาตอบโต้ว่าตนเองและจ่านิวใช้ชีวิตอย่างประหยัด ไม่เคยกู้หนี้ยืมสิน

“ถ้าจะมีก็มีแค่หนี้ “กยศ.” หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเท่านั้น ซึ่ง กยศ.คงไม่มีการทวงหนี้ด้วยวิธีนี้แน่นอน”

ถัดมาก็โหมข่าวอีกว่า จ่านิวเปิดปากกับตำรวจแล้วว่าจำหน้าคนร้ายได้ เป็นลูกน้องนักการเมืองพรรคตรงข้ามรัฐบาล ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายวัน อยู่บำรุง ต้องออกมาตอบโต้ข่าว

ที่แน่ๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในช่วงแรกจ่านิวไม่สามารถให้การใดๆ ได้ รวมทั้ง 4 คนร้ายที่ลงมือปิดบังอำพรางตัวมิดชิด ไม่มีทางเห็นหน้าตาได้เด็ดขาด

ทั่วทั้งสังคมจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า กรณีจ่านิวมีสาเหตุประการเดียวแน่นอนคือการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตย

ทั้งเมื่อรวมๆ กับกรณีนักกิจกรรมประชาธิปไตยอื่นๆ ที่ถูกกระทำลักษณะเดียวกันนี้รวมกว่าสิบหน ทำไมรัฐจึงนิ่งเฉยโดยตลอด!

มีการเปรียบเทียบบรรยากาศการรุมทำร้ายนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยในระยะนี้ว่า ไม่ต่างจากบรรยากาศยุคก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ออกคุกคามทำร้าย กระทั่งเอาชีวิตผู้นำนักศึกษา กรรมกร ชาวนา

เพียงแต่ยุคนั้นลอบยิงลอบฆ่ากันเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งก่อการล้อมฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและโจ่งแจ้งที่ธรรมศาสตร์ มีคำถามว่า มีภาพถ่ายและข่าวทีวี ที่เห็นหน้าผู้ก่อเหตุมากมาย ทั้งที่ลากศพไปบนสนามหญ้าสนามฟุตบอล ทั้งที่เอาลิ่มตอกศพ ทั้งที่ลากศพมาเผายางรถยนต์

ไปจนถึงเอาศพไปแขวนคอกับต้นมะขามสนามหลวง แล้วเอาไม้ฟาด เอาเก้าอี้ฟาด

“แต่ชายฉกรรจ์จำนวนมากที่กระทำทารุณกับนักศึกษาประชาในวันนั้น ไม่เคยมีแม้แต่รายเดียวที่ถูกดำเนินคดี ไม่มีการติดตามตัว เปิดเผยตัวตนคนเหล่านั้น”

รัฐบาลหลังเหตุการณ์วันนั้น ไม่เคยทำอะไรกับเหตุฆ่ากันโจ่งแจ้งกลางเมืองหลวงนี้

“แปลว่าอะไร!?!”

ไม่เท่านั้น ผู้นำนักศึกษาถูกจับกุมดำเนินคดีในเหตุการณ์นี้ 18 คน โดนตั้งข้อหาร้ายแรง เช่น ก่อกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างสถาบันเบื้องสูง ซ่องสุมกำลังอาวุธ ต้องตกเป็นจำเลยสู้คดีในศาลทหาร

แต่ในระหว่างการสืบพยานในศาลทหารนั่นเอง ทนายความของ 18 จำเลยนักศึกษาได้ซักถามพยานของโจทก์ที่มาเบิกความ ซึ่งบางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการถามถึงผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้พยานมาทำหน้าที่ในวันดังกล่าว แล้วซักถามพยานไล่ไปตามลำดับชั้นไปเรื่อยๆ จากชั้นประทวน ต่อไปถึงนายร้อย ต่อไปถึงนายพัน แล้วไปถึงนายพล

ขณะที่การดำเนินคดีมุ่งเอาผิด 18 จำเลยนักศึกษา กลับถูกฝ่ายจำเลยซักพยาน จนกลายเป็นการเปิดเผยผู้สั่งการเป็นทอดๆ

“ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องชิงออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาคม”

โดยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ก่อรัฐประหารซ้ำในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วพลิกนโยบายจากขวาจัดมาเป็นประชาธิปไตย เพื่อคลี่คลายบรรยากาศสังคม เพราะยิ่งเผด็จการ ยิ่งกดก็ยิ่งต้าน

พร้อมกับนิรโทษกรรมเพื่อปล่อย 18 จำเลย 6 ตุลาฯ สร้างความสามัคคีปรองดองกับฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน แต่พร้อมๆ กันก็เป็นการนิรโทษกรรมฝ่ายก่อเหตุไปในตัว

รวมทั้งยุติคดีในศาลทหาร ที่กำลังโดนเปิดเผยผู้สั่งการในวันนั้นเป็นทอดๆ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้คืออะไร คือคำรับสารภาพในตัวมันเองจากฝ่ายรัฐนั่นเอง!

เหตุการณ์ 99 ศพ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งผู้มีอำนาจในยุคนั้นพูดจาเสียงแข็งว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธ เพื่อฆ่าผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงแล้วป้ายสีฝ่าย ศอฉ. ซึ่งขัดแย้งกับภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ที่เห็นชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐชุดพราง สังกัด ศอฉ. ใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมในหลายจุดหลายพื้นที่

กระทั่งมีผลไต่สวนชันสูตรศพในชั้นศาล ซึ่งศาลได้ชี้เอาไว้แล้วจำนวน 17 ศพว่าตายด้วยกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ. หรือบางศพระบุเลยว่ายิงโดยเจ้าหน้าที่ ศอฉ.หน่วยไหน สังกัดไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ในค่ำวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมเสื้อแดงสลายหมดแล้ว แกนนำถูกควบคุมตัวไปหมดแล้ว

คดีนี้ผลไต่สวนชันสูตรศพระบุเลยว่ายิงโดยเจ้าหน้าที่ ศอฉ.บนรางรถไฟฟ้า และอีกชุดยิงจากพื้นราบหน้าวัด

“แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่สามารถนำคดีขึ้นพิสูจน์ในศาลอาญาได้เลย!”

ฝ่ายรัฐได้ใช้เทคนิคทางข้อกฎหมาย ต่อสู้เพื่อไม่ให้คดีนี้สามารถนำขึ้นศาลอาญาได้ อ้างว่าต้องส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเท่านั้น ต่อมาศาลตัดสินยกฟ้องตามนั้น แล้วเมื่อคดีย้อนกลับไปที่ ป.ป.ช. ก็ไม่มีการดำเนินการอะไรอีก

“ทำไมฝ่ายรัฐฝ่ายผู้มีอำนาจในเหตุการณ์นี้จึงพยายามต่อสู้เพื่อไม่นำคดีขึ้นสืบพยานเบิกความพิสูจน์พยานหลักฐานในศาล!?”

ตรงกันข้าม ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่ามีมือปืนชายชุดดำร่วมอยู่ในผู้ชุมนุมยิงใส่เจ้าหน้าที่บ้าง หรือฆ่ากันเองบ้าง

ฝ่ายที่ถูกภาครัฐกล่าวหาว่าฆ่ากันเองนี่แหละ พยายามทุกทางเพื่อขอนำคดีขึ้นพิสูจน์ในศาล

“พฤติกรรมเช่นนี้บ่งบอกอะไร!?”

ใครที่ไม่ยอมพิสูจน์ความจริงด้วยกระบวนการศาลยุติธรรม ทำไมไม่ยอมพิสูจน์

จากการปกปิดหรือเพิกเฉยของรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาถึงเหตุ 99 ศพปี 2553 และเหตุทำร้ายนักกิจกรรมประชาธิปไตยในยุค คสช.

ราวจะมีคำรับสารภาพต่อหน้าประชาชนแล้ว!!