นงนุช สิงหเดชะ : “หงุดหงิด” กันไปทั่วเมื่อโพลบอกว่า รบ.รัฐประหารดีกว่า รบ.เลือกตั้ง

เป็นเรื่องยอกแสยงใจสำหรับคนจำนวนหนึ่ง เมื่อโพลสวนดุสิต ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ “เปรียบเทียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 48.84% เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ดีกว่า” เพราะทำงานได้เร็ว คล่องตัว มีอำนาจพิเศษ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มีผลงานให้เห็น ฯลฯ

ส่วนประชาชนอีก 23.72% เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง “ดีกว่า” เพราะมาจากเสียงของประชาชน เป็นประชาธิปไตย รู้ปัญหา มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ฯลฯ

ขณะที่ 17.83% มองว่าดีพอๆ กัน เพราะไม่ว่าจะมาจากระบบใดก็สามารถบริหารบ้านเมืองได้ ทำงานได้ดี มีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน ฯลฯ ส่วนอีก 9.61% เห็นว่าแย่พอๆ กัน เพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนไม่ได้ ยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่โปร่งใส มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ เป็นต้น

เมื่อนำสัดส่วน 48.84% ที่เห็นว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารดีกว่า ไปหักลบกับอีก 23.72% ที่เห็นว่ารัฐบาลเลือกตั้งดีกว่า ก็จะพบว่าห่างกันมากถึง 25% ไม่ใช่ความต่างแบบสูสีแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข้อดีข้อเสียของรัฐบาลทั้งสองประเภท ประชาชนก็ตอบตรงไปตรงมาคือ ข้อดีของรัฐบาลรัฐประหารอันดับ 1 ได้แก่ มีอำนาจเด็ดขาด พูดจริงทำจริง รองลงมาคือ บ้านเมืองสงบ ไม่มีการชุมนุมประท้วง และทำงานคล่องตัว แก้ปัญหาได้เร็ว ส่วนข้อเสีย อันดับ 1 ได้แก่ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการยอมรับ รองลงมาคือ ขาดการคานอำนาจ ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ค่อยรับฟังความเห็น เผด็จการ

ส่วนข้อดีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันดับ 1 คือ มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกเอง รองลงมา คือมีประสบการณ์ รู้ปัญหา อยู่ในพื้นที่ ทำงานคล่องตัว แก้ปัญหาได้เร็ว ส่วนข้อเสีย อันดับ 1 คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น ซื้อสิทธิ ขายเสียง รองลงมา คือแบ่งพรรคแบ่งพวก ทะเลาะเบาะแว้ง นโยบายเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ หน้าเก่า

การสำรวจดังกล่าวจัดทำระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2559 จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,077 คน

ภายหลังจากผลสำรวจนี้ออกมาและสื่อส่วนใหญ่พาดหัวว่ารัฐบาลรัฐประหารดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ก็แน่นอนว่าย่อมมีคนที่ขัดเคืองใจ เกิดอาการแน่นอก จนกระทั่งพยายามหาเหตุผลมาหักล้างเพื่อให้ดูว่าผลโพลนี้ไม่น่าเชื่อถือ เป็นไปไม่ได้

นักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่าการสุ่มตัวอย่างได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งที่ในการทำโพลจะมีการแจกแจงอยู่แล้วว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นใครบ้าง เพียงแต่เนื้อหาฉบับที่สื่อมวลชนนำมาเสนอนั้นมักเป็นบทสรุปสาระสำคัญ จะไม่ใส่รายละเอียดกลุ่มตัวอย่างเพราะมีพื้นที่จำกัดและจะยาวเกินไป

ความขัดอกขัดใจของผู้วิจารณ์ทั้งหมดนั้นล้วนมาจาก “จุดยืน” ที่ไม่ชอบรัฐประหาร จึงพยายามจะนำเหตุผลด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกและอุดมการณ์ส่วนตัว มาหักล้างผลสำรวจที่เป็นวิทยาศาสตร์กว่า

หากผู้วิจารณ์ไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวมาผสมกับเรื่องนี้ เชื่อว่าหลักการทำโพลของสวนดุสิตครั้งนี้ก็คงไม่ต่างจากการทำโพลครั้งอื่นๆ ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าโพลนี้จะน่าเชื่อถือ 100% เป็นแต่เพียงว่าในเมื่อคุณเลือกที่จะเชื่อถือโพลสำนักนี้ที่จัดทำในยุครัฐบาลเลือกตั้งที่คุณชื่นชอบโดยเฉพาะโพลที่ยกยอรัฐบาลที่พวกคุณชอบ ก็ไม่ควรมาขอยกเว้นไม่เชื่อถือเฉพาะโพลในยุครัฐบาลนี้

ผลโพลนี้อาจไม่ขัดเคืองใจคนบางกลุ่มหากทำขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่โพลบางสำนักในยุครัฐบาลเลือกตั้งก็ถูกมองว่ามีมือจากคนในรัฐบาลเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาล

นักวิชาการด้านนักรัฐศาสตร์บางคน ยิ่งพูดตลกกว่านั้น บอกว่าการสุ่มตัวอย่างแค่ 1,000 กว่าคน ไม่น่าเชื่อถือ ถ้าจะให้น่าเชื่อถือต้องสำรวจ 10,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งก็แปลกดีเพราะยังไม่เคยเห็นโพลไหนในประเทศไทยหรือในโลกนี้จะใช้กลุ่มตัวอย่างถึง 10,000 คน ในการทำโพลแต่ละรอบในเวลาอันจำกัด

นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ยังบอกว่า “โพลคงไปถามชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำ ผลจึงออกมาว่าชอบรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลช่วยเหลือทุกอย่าง แจกประชารัฐไปทั่ว คนระดับล่างส่วนใหญ่ก็ต้องรู้สึกชอบเป็นธรรมดา แต่ถ้าไปถามคนทำงานออฟฟิศหรือคนจบปริญญาตรีอาจไม่ชอบรัฐบาลนี้”

ฟังตรรกะแล้วแปลกดีแท้ เพราะถ้ารัฐบาลนี้ได้รับเสียงชื่นชอบจากคนหาเช้ากินค่ำ คนระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาได้รับการช่วยเหลือ มันก็น่าจะดีแล้วไม่ใช่หรือเพราะแสดงว่ารัฐบาลเผด็จการใส่ใจประชาชนระดับล่างเท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการที่ประชาชนเหล่านี้ชอบใจเพราะนโยบายประชารัฐก็ไม่น่าจะผิดแปลกตรงไหนใช่ไหม เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ยังใช้ประชานิยมสร้างความชื่นชอบ

201506301903021-20021028190244

คนของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งก็ออกมาแสดงความหงุดหงิดเช่นเดียวกัน ตั้งคำถามว่าโพลนี้ไปสอบถามใคร สอบถามในบริบทการเมืองแบบไหน (ในทำนองที่เชื่อว่าผู้ถูกถามนั้นถูกบีบบังคับให้ตอบ) ฯลฯ ทั้งที่ก็น่าจะรู้แก่ใจว่าตอนที่พรรคตัวเองทำโพลบ่อยๆ นั้น ทำกันแบบไหน ดังนั้น โพลของสวนดุสิตก็ไม่น่าจะมีวิธีแตกต่างกัน

หากจะว่ากันไปแล้ว ในอดีตโพลสวนดุสิตถูกมองว่าเอาใจรัฐบาลในเครือข่ายคุณทักษิณด้วยซ้ำไป

ส่วนนักวิชาการสายสีแดงรายหนึ่งอ้างว่า เหตุที่โพลออกมาเช่นนี้เพราะรัฐบาลนี้สามารถใช้สื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านดีให้กับตัวเอง แต่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำแบบนั้นไม่ได้

แต่แน่ใจหรือว่ารัฐบาลเลือกตั้งไม่สามารถใช้สื่อมวลชนสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง

ลองย้อนไปทบทวนอดีตหน่อยได้ไหมว่า รัฐบาลไหนที่ขึ้นชื่อกระฉ่อนเรื่อง “แทรกแซง แทรกซื้อสื่อ” แบบหนักหน่วงที่สุด หรือก่อนหน้ารัฐประหาร มีรัฐบาลไหนไปแทรกแซงบีบบังคับให้รายการที่ตีแผ่รัฐบาล ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บางแห่งไม่ได้

พูดกันตามเนื้อผ้า ในยุคนี้ที่สื่อโซเชียลแพร่หลาย ประชาชนมีช่องทางรับรู้ข่าวสารหลากหลายกว่าเดิมและคนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงอินเตอร์เน็ต รัฐบาลไม่มีทางและไม่มีปัญญาไปปิดกั้นได้สนิทเลย ลองเปิดอินเตอร์เน็ต เปิดยูทูบ ก็ยังมีเว็บไซต์และรายการที่ยังหมิ่นเจ้า หมิ่นสถาบันกันเกร่อ แถมบิดเบือนข้อมูลกันหน้าด้านๆ แล้วระดับแค่รัฐบาลจะรอดพ้นจากการถูกวิจารณ์และบิดเบือนข้อมูลจากกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลได้หรือ

ขณะเดียวกันความคิดเห็นของนักวิชาการบางคนที่ว่านี้ ยังขัดแย้งกับจุดยืนของพวกเขาเองที่มักบอกว่าเคารพประชาธิปไตย เคารพเสียงประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อประชาชนลงความเห็นว่ารัฐบาลเผด็จการดีกว่าเลือกตั้งในแง่การทำงาน พวกเขากลับยอมรับไม่ได้และไม่เชื่อ

%e0%b8%9a%e0%b8%b4%e0%b9%8a%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b8%b9%e0%b9%882จากโพลนี้ประชาชนรับรู้หรือยอมรับว่ารัฐบาลเผด็จการมีข้อเสีย คือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขาดการคานอำนาจ เผด็จการ ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งข้อเสียเหล่านี้เป็นสูตรสำเร็จหรือเรื่องปกติของรัฐบาลเผด็จการอยู่แล้ว แต่หักลบข้อเสียกับข้อดีแล้วพวกเขาก็ยังเห็นว่ามีข้อดีมากกว่า ผลโพลจึงออกมาเป็นเช่นนั้น

แต่หากไปดูข้อเสียของรัฐบาลเลือกตั้งแล้วน่าสนใจและน่าอับอายกว่า ตรงที่ว่า “ทุจริตคอร์รัปชั่น ซื้อสิทธิ ขายเสียง แบ่งพรรคแบ่งพวก ทะเลาะเบาะแว้ง นโยบายเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ มีแต่หน้าเก่าๆ”

ตรงนี้ต่างหากที่พวกนักการเมืองที่กำลังเย้วๆ ให้รีบเลือกตั้งควร “กาดอกจัน” เตือนใจตัวเองว่า มีอะไรดีๆ ที่จะสร้างความหวังให้คนอยากเลือกตั้ง อยากมีประชาธิปไตยเน่าๆ เหมือนที่แล้วมาหรือไม่