ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /J.T. LEROY

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

J.T. LEROY

‘โกหกคำโต’

กำกับการแสดง Justin Kelly

นำแสดง Kristen Stewart Laura Dern Jim Sturgess Diane Kruger

 

ราวสิบกว่าปีมาแล้ว (ค.ศ.2005) เกิดข่าวที่ทำให้ตกตะลึงกันไปในวงการบันเทิงในอเมริกา เป็นเรื่องฉาวโฉ่แฉโพยการต้มตุ๋นครั้งใหญ่ในวงการวรรณกรรม และตกเป็นข่าวทั่วโลกด้วย

หลายปีก่อนหน้า เจ้าของนามปากกา “เจ.ที. เลอรอย” ผู้อ้างตนเป็นคนสองเพศและเป็นเด็กรุ่นหนุ่มที่แต่งตัวเป็นเด็กสาว ปรากฏตัวในสายตาสาธารณชนและให้สัมภาษณ์เนืองๆ ภายใต้นาม “เจเรไมอาห์ เทอร์มิเนเตอร์ เลอรอย” สร้างกระแสความเห็นอกเห็นใจให้แก่วงการ LGBTQ เป็นอย่างมาก

กลุ่มที่ใช้อักษรย่อเรียกตัวเองว่า “แอล.จี.บี.ที.คิว.” เริ่มรณรงค์เรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิของเพศที่สามในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่แล้ว

ชื่อเรียกของกลุ่มนี้เริ่มจากอักษรย่อสามตัวแรก แอล. (เลสเบี้ยน) จี. (เกย์) บี. (ไบเซ็กช่วล) แล้วค่อยเพิ่มตัว ที. (ทรานสเจนเดอร์) ตามมาด้วย คิว. (เควียร์ หรือ เควสชันนิ่ง) เพื่อให้ครอบคลุมการจัดประเภทของเพศสภาพและรสนิยมให้ครบถ้วน

หวังอย่างยิ่งว่าในอนาคตคงไม่มีการเพิ่มตัวอักษรย่ออะไรต่อท้ายเข้ามาให้เรียกยากไปกว่านี้แล้ว เพราะขนาดคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องเอาใจประชาชนทุกหมู่เหล่า เขาสคริปต์ให้อ่านคำนี้ ทรัมป์ยังอ่านผิดอ่านถูก ลิ้นพันกัน สลับตัวอักษรให้บี.มาก่อนจี. แล้วพูดผิดพูดใหม่สลับกันให้วุ่น ขนาดตอนนั้นไม่มีตัวคิว.ต่อท้ายด้วยซ้ำไป

เอาละ ก่อนจะไปไหนไกลกว่านี้ กลับมาพูดถึง “เจ.ที.เลอรอย” ดีกว่า

 

เมื่อเรื่องแดงขึ้นว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนนิยายหลายเรื่องที่อ้างว่าเขียนจากชีวิตอันชวนรันทด เป็นชายที่มีจิตใจเป็นหญิง และต้องผ่านชะตากรรมอันเลวร้ายในวัยเด็ก จึงกลายเป็นข่าวครึกโครมช็อกวงการแอล.จี.บี.ที. และบรรดานักอ่านบรรดาแฟนๆ ที่เห็นอกเห็นใจ อันมีคนเด่นคนดังอย่างวีโนนา ไรเดอร์ เป็นอาทิ

พูดง่ายๆ คือ บุคคลผู้ที่เรียกตัวเองว่า “เจ.ที. เลอรอย” นั้นไม่เคยมีตัวตนอยู่และนิยายที่อ้างว่าอิงจากเรื่องจริงนั้นเป็นเรื่องสมมติหรือใช้จินตนาการแต่งขึ้นทั้งนั้น

พูดง่ายๆ อีกทีคือว่า หนังสือที่เขียนโดย เจ.ที. เลอรอย นั้น เป็นเรื่องโกหกพกลม

ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว การเขียนเรื่องโกหกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแปลก หรือน่าประณาม หรือน่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไร

เพราะนิยายทั้งหลายก็จัดอยู่ในประเภทเรื่องโกหก หรือเรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ แม้บางเรื่องจะอิงจากเหตุการณ์จริงหรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังเล่าเรื่องด้วยรูปแบบของนวนิยาย ก็ถือเป็นงานเขียนแบบ “นิยาย” (fiction) ซึ่งแตกต่างจาก “สารคดี” (non-fiction)

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกนั่นแหละ ที่นามปากกาของนักเขียนอาจลวงให้รู้สึกว่าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวจริงของผู้เขียน

ดังเช่นที่มีนักเขียนหญิงที่ใช้นามปากกาที่มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นผู้ชาย ทำให้คนอ่านเข้าใจว่าผู้เขียนเป็นผู้ชาย

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “จอร์จ ซังด์” เป็นนามปากกาของอามองตีน ลูซิล ดูแปง และ “จอร์จ เอเลียต” เป็นนามปากกาของแมรี่ แอนน์ เอแวนส์

จอร์จทั้งสองสร้างผลงานวรรณกรรมลือชื่อของตนในยุคสมัยที่ผู้หญิงยังไม่มีบทบาทออกหน้ามาโลดแล่นอยู่ในสายตาสาธารณชน โดยเฉพาะในวงการอาชีพ

แต่เรื่องของ “เจ.ที.เลอรอย” นี้เป็นการสร้างเรื่อง “ตอแหล” เพื่อตบตาคนโดยหวังผลทางการสร้างกระแสให้ตกเป็นข่าวป้อนสังคมที่กระหายอยากเสพเรื่องในชีวิตจริงที่หวือหวาข้ามเส้นแบ่งทางศีลธรรมอย่างน่าตกใจ

 

นิยายสามเรื่องที่เขียนภายใต้นามปากกานี้ อ้างว่าเขียนจากประสบการณ์ในชีวิตจริง กึ่งๆ จะเป็นอัตชีวประวัติที่เร้าใจของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่แต่งกายเป็นหญิง มีชีวิตวัยเด็กที่ยากจน อาศัยอยู่กับแม่ชื่อซาราห์ที่เป็นโสเภณี โตขึ้นมากับยาเสพติด และการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจและล่วงละเมิดทางเพศ จากชนบทของเวสต์เวอร์จิเนีย ไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย

นิยายเรื่องแรก คือ Sarah (1999) ตามมาด้วย The Heart Is Deceitful Above All Things (1999) และ Harold’s End (2005)

หนังนำเสนอชีวิตของสาววัยรุ่นชื่อ ซาวานนาห์ นู้ป (คริสเตน สจ๊วต) ที่ย้ายมาอยู่กับจอฟฟ์ (จิม สเตอร์เจสส์) ผู้เป็นพี่ชาย จอฟฟ์มีแฟนชื่อ ลอรา อัลเบิร์ต (ลอรา เดิร์น) และในทันทีที่ได้รู้จักกับน้องสาวของแฟน ลอราก็เกิดไอเดียปิ๊งขึ้นในสมอง

ลอราเขียนนิยายขนาดสั้นที่บังเอิญกระทบใจของคนอ่านเข้าอย่างจัง เธอทำให้ใครๆ เข้าใจว่านามปากกาที่ใช้คือตัวตนจริงๆ ของบุคคลในนิยายที่แต่งขึ้น ขนาดที่ว่ามีแฟนติดตามถามไถ่ อยากรู้จักตัวจริงทั้งทางโทรศัพท์และทางอีเมลต่อเนื่องมาเรื่อย

แต่ปัญหาก็คือ ถ้าเธอเปิดเผยตัวว่าเธอเป็นคนเขียนนิยาย คนอ่านก็จะรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมด ไม่ได้วางอยู่บนฐานของความจริงใดๆ เลย เป็นเรื่องสมมติ ซึ่งเธอกุขึ้นทั้งเพ

 

ชีวิตของวัยรุ่นชายที่มีใจโน้มเอียงในทางเพศสภาพของหญิง และแต่งตัวเป็นหญิงนั้นไม่มีอะไรเหมือนกั[ตัวตนของสาวใหญ่ที่เป็นผู้หญิงมาแต่เกิด

ดังคำพูดที่ว่า คนโกหกหยุดตัวเองไม่ได้ เมื่อโกหกครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

เธอจึงคิดจะกุเรื่องขึ้นมากลบเรื่องสมมติที่แต่งขึ้น โดยขอให้ซาวานนาห์ ซึ่งเป็นหญิงโดยกำเนิด ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะด้วยรูปลักษณ์ของ “เจ.ที.เลอรอย”

แม้ซาวานนาห์จะกลัวโดนจับได้ เนื่องจากเธอไม่ใช่ผู้ชาย แต่ลอราผู้ลื่นไหลก็ขอให้เธอสวมวิกปิดบังหน้าตาเสียครึ่งค่อน และอ้างว่ามีนิสัยขี้อาย จนไม่อยากเจอะเจอใคร

ลอรากลายเป็นผู้จัดการส่วนตัวของ “เจ.ที.เลอรอย” เธอปรากฏตัวทุกหนทุกแห่งประกบกับนักเขียนขวัญใจมวลชนโดยตลอด คอยตอบคำถามแทน และเตรียมคำพูดสำหรับการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ให้

ชีวิตของเจ.ที.เลอรอย กำลังจะได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมีผู้กำกับฯ สาวชาวฝรั่งเศส เอวา (ไดแอนน์ ครูเกอร์) ซึ่งติดต่อทางโทรศัพท์อยู่กับลอราที่ปลอมตัวเป็นเจ.ที. มาตลอด

แต่แล้ว คนดังที่ตกอยู่ในสายตาของใครๆ ก็มีพิรุธให้จับโกหกจนได้ โดยเฉพาะนักข่าวที่มีสายตาราวกับเหยี่ยว ถามซอกแซก ขุดคุ้ย จนความลับแตกออกมาจนได้

นี่คือที่มาของหนัง ซึ่งสร้างจากบันทึกความทรงจำของซาวานนาห์ นู้ป บุคคลผู้เป็นจุดศูนย์กลางของการแหกตาประชาชีครั้งใหญ่นี้

คริสเตน สจ๊วต เล่นบทของซาวานนาห์ สาวน้อยผู้ตกอยู่ภายใต้คำจำกัดความ แอล.จี.ที.บี.คิว. ในตัวอักษรใดตัวอักษรหนึ่ง

ผู้เขียนไม่เคยชอบคริสเตน สจ๊วต ในฐานะนักแสดง เธอเป็นนักแสดงที่แข็งทื่อ ไร้อารมณ์ ไม่เคยตีบทแตกมาแต่ไหนแต่ไร และบทบาทที่เธอเล่นอาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าหน้าตาสวยๆ แต่หนังเรื่องนี้ เธอเหมาะกับบทบาทดีค่ะ สับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และต้องการหลบลี้หนีหน้าไปจากคนทั้งโลก

บทที่มีสีสันตกอยู่กับลอรา เดิร์น ซึ่งเป็นนักแสดงมีฝีมือมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ยิ่งเธอย้อมผมสีแดง และทำตัวจุ้นไปทุกที่ทุกเวลา ยิ่งเหมาะกับบทบาทของนักโกหกระดับโลกแบบนี้มาก

ในโลกที่ข่าวสารข้อมูลแพร่สะพัดไปได้เร็วกว่าไฟไหม้ป่าสมัยนี้ อะไรจริงอะไรเท็จเป็นสิ่งซึ่งต้องพิสูจน์ และข่าวเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นและโหมให้เป็นกระแสได้

เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในหนังเรื่องนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์เตือนให้เราเสพข่าวสารข้อมูลในโลกปัจจุบันด้วยความระมัดระวัง โดยไม่หลงเชื่อไปกับภาพที่เห็น สิ่งที่ได้อ่านได้ยิน ตามที่เขากระพือป้อนและสร้างกระแสให้คนที่ติดโซเชียลเสพ…