อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเมืองชนชั้นนำอาเซียน-การเมืองครอบครัว

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หากดูอย่างผิวเผิน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ สปป.ลาว ล้วนมีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเหมือนกันคือต่อสู้เอาชนะลัทธิล่าอาณานิคมด้วยการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ก่อตั้งรัฐสังคมนิยม

โปลิตบูโร (politburo) เป็นชนชั้นนำทางการเมือง (political elite) มีระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลาง มีองค์กรยุวชนและแรงงานเป็นองค์กรมวลชน

แต่ในความเป็นจริง เราจะพบบุคลิกภาพผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งเกี่ยวข้องกับคนในพรรคและนอกพรรค

ไยไม่ต้องกล่าวถึงการเมืองของครอบครัว (family politics) นับเป็นโครงสร้างหลักของระบอบการเมืองของทั้งสามประเทศนี้ด้วย

 

ระบอบฮุน เซน
ชนชั้นนำนอกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
และการเมืองระบบครอบครัวใน สปป.ลาว

หากกล่าวอย่างกว้าง การเมืองร่วมสมัยของทั้ง 3 ประเทศคือ กัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ สปป.ลาว มีระบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) กล่าวคือ มีพรรคการเมืองเดียวครอบงำเป็นหลัก

มีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้ทั้งการปราบปรามและข่มขู่โดยกลไกของรัฐต่อฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน

แต่อำนาจนิยมของทั้ง 3 ประเทศก็มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน

 

ระบอบฮุน เซน และแรงต่อต้าน (1)

ระบอบฮุน เซน เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งภายในระหว่างผู้นำกัมพูชาที่ตะวันตกหนุนหลังกับฝ่ายประเทศคอมมิวนิสต์หนุนหลัง

ระบอบฮุน เซน ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฮุน เซน อดีตเขมรแดงและนายทหารที่ฝักใฝ่เวียดนามค่อยๆ (1986 เป็นผู้คุมกำลังรบ) สถาปนาอำนาจ หลังกัมพูชาจัดการเลือกตั้งและดำเนินการสร้างสันติภาพตั้งแต่ปี 1993

ระบอบฮุน เซน ที่มีฮุน เซน เป็นศูนย์กลาง มีลูกชายคุมกองทัพ คุมรัฐสภา ลูกสาวคุมเศรษฐกิจและองค์กรมวลชน กลายเป็นระบอบที่มีความมั่นคงคือชนะการเลือกตั้งต่อเนื่อง มีความมั่งคั่ง เพราะลูกสาวคุมเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีการแต่งงานระหว่างครอบครัวฮุน เซน และครอบครัวนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม แรงต่อต้านระบอบฮุน เซน ก็มีอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ผู้นำทางการเมืองฝ่ายค้านที่ประชาชนไม่คาดหวังมากนัก

ประการที่สอง แรงกดดันจากภายนอก เช่น แรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลต่อการตัดโควต้าการส่งออกสิ่งทอซึ่งเป็นรายได้หลักของกัมพูชา แรงต้านทานอันหลังนี้ส่งผลต่อแรงงานซึ่งเป็นผู้นำการผลิตหลักทางเศรษฐกิจ เป็นฐานเสียงและมีบทบาทต่อการท้าทายระบอบฮุน เซน มากที่สุด

จนกระทั่งระบอบฮุน เซน ต้องประนีประนอมและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์

เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสิทธิการลาคลอดหญิงสำหรับกรรมกรซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ

 

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
: ระบบเศรษฐกิจตลาดและชนชั้นนำนอกพรรคคอมมิวนิสต์ (2)

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นชนชั้นหลักทั้งในอดีตและปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นที่มาทั้งอุดมการณ์ ความชอบธรรม มีการนำรวมหมู่ (collective leadership) เป็นระบบบริหารของพรรค

แต่ในเวลาเดียวกัน การปฏิรูปที่เรียกว่า โด่ยเม่ย (Doi Moi) นับตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมาทำให้ระบบเศรษฐกิจตลาด (market economy) นำพาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาสู่เวียดนามเป็นอย่างมาก

รัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise) ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามทำหน้าที่หลักในทางเศรษฐกิจการเมือง กล่าวคือ เป็นทั้งกลไกสำคัญของรัฐในการควบคุมและบริหารจัดการเศรษฐกิจและเป็นแหล่งสะสมทุนให้กับชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่เพื่อสร้างอาณาจักรทางธุรกิจ วิสาหกิจเอกชนจำนวนมากคืออดีตรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารเดิมเข้าซื้อกิจการ (take over) แต่ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐ รวมทั้งอาศัยอำนาจและบารมีของเจ้าหน้าที่พรรคและรัฐในการทำธุรกิจอีกด้วย

ในช่วงทศวรรษ 1990 หลังการปฏิรูปใหม่ๆ รัฐวิสาหกิจของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโฮจิมินห์ซิตี้มีการดำเนินการทางธุรกิจ 3 แนวทาง คือ

ประการแรก รัฐวิสาหกิจเดิมจะขยายธุรกิจไปทำกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก

ประการที่สอง หน่วยงานต่างๆ ทั้งของพรรคและของรัฐพากันตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาทำธุรกิจต่างๆ มากมาย

ประการที่สาม หน่วยงานของรัฐตั้งวิสาหกิจร่วมขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะแบบหลังเกิดขึ้นหลังปี 1990 เช่น บริษัท Saigon Jewelry และ Phu Nhuan Jewelry เป็นต้น โดย Saigon Jewelry เดิมเป็นบริษัทในสังกัดแผนการค้าของโฮจิมินห์ ผู้อำนวยการบริษัทคือ อดีตรองประธานคณะกรรมการประชาชนเขต 10 เมื่อทำธุรกิจเติบโตได้ระยะหนึ่ง บริษัทก็เริ่มแตกไลน์ไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร และค้าปลีก

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเวียดนามไม่ได้มีความหมายเท่ากับว่าเปลี่ยนวิสาหกิจของรัฐให้เป็นเอกชนแต่อย่างใด ความหมายที่แท้จริงไม่ใช่การ privatization หากแต่เป็น equitization และประการสำคัญ ไม่ควรมองว่าเป็นการถอยร่นของรัฐหรือพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมเศรษฐกิจ แต่ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงการควบคุม

 

ชนชั้นนำใหม่และการสะสมทุนนอกรัฐ

จากการสำรวจของนิตสารฟอร์บส์ในปี 2018 พบว่า บรรดามหาเศรษฐีชาวเวียดนามที่สะสมความมั่งคั่งขึ้นมาในช่วงหลังการปฏิรูปโด่ยเม่ย เช่น คนที่ร่ำรวยที่สุดในเวียดนาม 5 คนแรก เช่น ฟาม ญัต เวือง แห่งวินกรุ๊ป เหงียน ธิ เฟือง เทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินต้นทุนต่ำ เวียตเจ็ต ทั้งนี้ วินกรุ๊ปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามไม่กี่ปี โดยไม่ต้องมีมรดกของคอมมิวนิสต์อยู่เลย

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาทำธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายเส้นสายกับทางการเลย เนื่องจากการทำธุรกิจในเวียดนามจำเป็นต้องอาศัยใบอนุญาตและสัมปทานจากรัฐทั้งสิ้น

มีข้อน่าสังเกตว่า แบบแผนการสะสมทุนของมหาเศรษฐีใหม่ของเวียดนาม มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ

1. แม้การสะสมทุนของกลุ่มคนเหล่านี้จะมาจากกิจการส่วนตัวเล็กๆ แต่พื้นฐานของพวกเขาไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก แต่เป็นคนมีการศึกษา ไปเรียนต่างประเทศโดยได้รับทุนรัฐบาลและเข้าใจช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจเวียดนาม

2. เศรษฐีใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งมักร่ำรวยจากธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญนั้นอยู่ในการควบคุมของรัฐ การทำโครงการขนาดใหญ่ ใช้ที่ดินจำนวนมากจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐในการจัดการด้วย

3. ธุรกิจจำนวนไม่น้อยของมหาเศรษฐีเหล่านี้เข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม

4. ธุรกิจของมหาเศรษฐีเวียดนามส่วนหนึ่งมีหุ้นส่วนจากต่างประเทศเข้าร่วมทุนด้วย

 

สปป.ลาว พรรคคอมมิวนิสต์
การเมืองระบบครอบครัว (family politics) (3)

พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นทั้งอุดมการณ์ ความชอบธรรม และกลไกที่รองรับระบบสังคมนิยม

นับตั้งแต่การปฏิวัติลาวในปี 1975 สปป.ลาวมีการปฏิรูปการเมืองที่เรียกว่า “จินตนาการใหม่” ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในช่วงปลายทศวรรษ 1980

สปป.ลาวมีชนชั้นนำที่มีต้นกำเนิดและพัฒนาการจากพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ สปป.ลาวกลับเป็นต้นแบบของ “การเมืองของครอบครัว” (family politics)

 

คำไต สีพันดอน

เป็นผู้นำได้แต่ไม่เกิน 2 สมัย (10 ปี) มีความนิยมทั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความใกล้ชิดกับตระกูลดาวเรืองซึ่งทำร้านปลอดภาษี

ตระกูลนี้ไม่ถูกกันกับครอบครัวไกรสร พมวิหาน แต่ใกล้ชิดกับบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศคนปัจจุบัน และดำเนินธุรกิจได้แก่ ธนาคาร ตู้เกม ตลาดสิงคโปร์ รับเหมาก่อสร้าง (สร้างเขื่อน ถนน) กิจการเหมืองแร่ และกาสิโน

ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2006-2016) บรรดาลูกหลานของผู้นำพรรคเข้าไปทำธุรกิจสำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ปั๊มน้ำมัน และร้านค้าปลอดภาษี

อาจกล่าวได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นศูนย์กลางทางอุดมการณ์และการเมือง แต่เมื่อเศรษฐกิจตลาด (market economy) พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ชนชั้นนำของพรรคมีส่วนพัฒนาระบบทุนนิยมและการพัฒนาประเทศที่เปิดกว้างและปะทะประสานกับระบบทุนนิยมโลก จนก่อให้เกิดระบบสังคมนิยมในรูปแบบใหม่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีการสะสมความมั่งคั่ง (wealth) อีกด้วย

ลุ่มแม่น้ำโขงกลายเป็นเศรษฐกิจใหม่ (emerging economy) ที่ไม่ได้มีแค่วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เราอาจเรียกว่า การก้าวสู่ ฟอรัมแห่งผลประโยชน์ 4.0 ก็ได้

——————————————————————————————————————
(1) เป็นงานศึกษาของ ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม วินิสา อุชชิน และ ดร.ดิเรก หงษ์ทอง ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ชุดโครงการวิจัย ชนชั้นนำและแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : องค์ประกอบ โครงสร้างและพลวัตช่วงการเปลี่ยนผ่าน
(2) เป็นงานศึกษาของ ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(3) เป็นการศึกษาของอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยอาวุโส ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย