สมหมาย ปาริจฉัตต์ : PISA 2015 หรือแค่คลื่นกระทบฝั่ง (2) บิ๊กตู่ ให้ออกแรงเพิ่ม3ด้าน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผลสะเทือนจากการประกาศผลการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ Program for International Students Assessment (PISA) ล่าสุดประเทศไทยได้อันดับที่ 55 จาก 72 ประเทศ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งให้กระทรวงศึกษาธิการออกแรงเพิ่มเพื่อให้คะแนนเฉลี่ย 3 ด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน สูงกว่า 500 ให้ได้ก่อน 5 ปีตามที่แผนพัฒนาฯ ตั้งไว้

นักคิด นักการศึกษา สถาบันวิชาการหลายแห่งออกมาวิเคราะห์ เสนอทางออกกันหลากหลาย หนึ่งในนั้นที่ผมทิ้งท้ายไว้สัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อเสนอเป็นระบบ มีงานวิจัยรองรับ สอดคล้องกับผล Pisa คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

สกว. ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัย “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” ของ รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ “โครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปัญญา” ของ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“ผล Pisa เป็นดัชนีสะท้อนคุณภาพการศึกษาโดยรวมได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากประเทศเวียดนามแล้ว เด็กไทยยังได้คะแนน้อยกว่าอินโดนีเซีย”

“การจะแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน หากประเทศจะก้าวเข้าสู่ความเป็น Thailand 4.0 ต้องมีความสามารถในการแข่งขันทุกๆ ด้าน โดยมีการศึกษาเป็นฐานรากที่สำคัญ งานวิจัยทั้งสองโครงการนี้เป็นทางออกให้กับปัญหานี้ได้” ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. ย้ำ

 

เนื้อในผลวิจัยน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ชิ้นแรกทีมวิจัยได้ออกแบบแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ตามโครงสร้างของข้อสอบ PISA และแบบทดสอบโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ หรือ TIMSS นอกจากด้านการคิดวิเคราะห์แล้วยังจัดทำแบบทดสอบวัดความมีจิตสาธารณะ โดยทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.4 และ ปวช.1 ทั้งสิ้น 6,235 คนใน 5 ภูมิภาค 10 จังหวัด

ผลวิจัยพบว่า เด็กไทยเกรดสูงขึ้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์กลับต่ำลง ได้คะแนนการคิดวิเคราะห์เกินร้อยละ 60 ในทุกวิชาเพียงร้อยละ 2 เด็กที่มีผลการเรียนดี (วัดด้วยคะแนนสะสมในโรงเรียน) จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์น้อยกว่าและมีจิตสาธารณะน้อยกว่าเด็กที่มีผลการเรียนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยด้านการศึกษาของบิดามารดาไม่มีผลต่อทักษะการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะ ขณะที่รายได้ครอบครัวสูงกว่า 40,000 บาทขึ้นไปความสามารถในการคิดวิเคราะห์ดีกว่า

ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ การดูโทรทัศน์มาก ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ต่ำ การใช้อินเตอร์เน็ตยังไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อการเรียนรู้

ผลทางสถิติพบว่า เด็กที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์จะมีแนวโน้มที่มีจิตสาธารณะที่ดีด้วย เด็กไทยมีจิตสำนึกรู้ถึงความรับผิดชอบของตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อโรงเรียนชุมชนสังคมน้อย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่านักเรียนที่มีการเรียนพิเศษเสริมทักษะด้านการเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ ชี้ให้เห็นว่าระบบการเรียนในโรงเรียนปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน

“เด็กที่สังคมให้คุณค่าว่าเก่ง มีผลการเรียนดี เป็นเด็กที่มีจิตสาธารณะน้อย ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนให้ลดการแข่งขันและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันโดยดำเนินการตามหลักการ “เด็กเก่งดีได้” โดยส่งเสริมการมีจิตสาธารณะควบคู่ไปกับการเสริมทักษะด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬาในโรงเรียน

การพัฒนาศักยภาพการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนควรคำนึงถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำและข้อจำกัดของการเรียนรู้ของท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณลักษณะทั้ง 2 อย่าง อย่างเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค

ความล้มเหลวของการสอนสังคมศาสตร์แบบท่องจำเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุคศตวรรษที่ 21 เพราะนักเรียนไม่สามารถตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ท่วมท้นและรู้เท่าทันสื่ออย่างแท้จริง ครูมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าพ่อแม่ทำงานร่วมกับครู มีกระบวนการและใช้พื้นที่เรียนรู้ในชนบทเป็นเครื่องมือ เด็กจะคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น”

 

ด้าน รศ.ดร.สุธีระ กล่าวว่า “ที่ไทยได้คะแนนเฉลี่ย PISA น้อย แม้ว่าเด็กที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศจะได้คะแนนเทียบเคียงประเทศสิงคโปร์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กไทยเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่การเรียนแบบการเข้าใจ ขาดระบบคิดแบบเหตุผลและผล หลายคนจึงไม่แปลกใจกับผลการสอบ PISA ที่ออกมารอบนี้เพราะรู้อยู่แล้วว่าน่าจะเป็นอย่างนี้

หากจะถามผมว่าเราควรแก้อะไร ที่นึกออกตอนนี้คือ ทักษะการอ่านจับใจความ เข้าใจเรื่องราว

“ทำไมผมเน้นจุดนี้ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการทำข้อสอบ PISA ถ้านักเรียนไม่เข้าใจโจทย์ก็ทำไม่ได้ การอ่านเพื่อเข้าใจโจทย์เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะการเรียนของเด็กไม่สนใจการอ่าน ไม่สนใจการทำความเข้าใจภาษาที่ซับซ้อน ภาษาวิชาการ

“ผมกล้าพูดเช่นนี้เพราะนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ทำข้อสอบไม่ได้เพราะตีความโจทย์ไม่ออก ในการเรียนวิศวะ เราวัดด้วยข้อสอบที่บอกเรื่องราว ผู้สอบตีความแล้วเอาหลักการ ความรู้ มาแก้ปัญหา ถ้าเริ่มต้นด้วยการตีความโจทย์ไม่ได้ ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ นักศึกษาจำนวนมากจึงตอบแบบ “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ถ้าอ่านจับความไม่ได้ก็ไม่มีทางได้คำตอบ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ไม่มีทางทำข้อสอบได้ ผมเห็นว่าจุดอ่อนของเราอยู่ที่ทักษะการอ่าน ถ้าถามต่อว่าแก้กันยังไง ผมมีคำตอบคือ เด็กต้องเขียนเองให้เป็น”

“การศึกษาเราไม่เน้นเขียน วัดที่ปรนัย พอจะให้สอบอัตนัยทั้งครูและนักเรียนร้องลั่น นักเรียนต้องเขียนมากขึ้น วิธีฝึกการเขียนให้เป็นจนทำข้อสอบได้ คือ “ให้นักเรียนออกข้อสอบเอง” เป็นจังหวะที่เขาจะบูรณาการความรู้มาเขียนเรื่องราว ต้องเขียนมากขึ้น ทั้งขยายความและย่อความ จับประเด็นเพื่อแก้ปัญหาการอ่าน การเรียนการสอนวิชาโครงงานควรเป็นโครงงานฐานวิจัยที่บูรณาการความรู้ที่เรียนมาเข้าด้วยกันให้ได้ เริ่มด้วยกิจกรรมจิตปัญญา และการใช้ความคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล”

“น่าเอาข้อสอบมาให้ครูทำ หากทำไม่ได้แสดงว่าความสามารถในการออกแบบการเรียน การสร้างบทเรียนเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด วิเคราะห์ มีคุณภาพน้อย นอกจากนี้ คุณครูควรลดบรรยากาศการใช้อำนาจ สร้างบรรยากาศที่ไม่กดทับศักยภาพของนักเรียน ถ้าจะให้เด็กคิดเป็นต้อง “ถาม” ให้เด็กคิดมากกว่าการบอก ที่เรียกว่า ถามคือสอน” ครูสุธีระ ทิ้งท้าย

ครับ จากผลงานวิจัยทั้งสองโครงการ สกว. สรุปและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาความสามารถนักเรียนไทยทั้ง 3 ด้าน หลายข้อ รายละเอียด เป็นอย่างไร ตอนหน้าค่อยว่ากัน