กรองกระแส / บทบาท การเมือง ของ ประยุทธ์ และ คสช. กับ รัฐประหาร

กรองกระแส

 

บทบาท การเมือง

ของ ประยุทธ์ และ คสช.

กับ รัฐประหาร

 

เหตุใดประโยคบางประโยคในข้อความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปรากฏใน “สารนายกรัฐมนตรี” ที่ว่า

“ทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในฐานะรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม

จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก”

จึงนำไปสู่บทสรุปร่วมอีกว่า 1 นอกจากเป็นคำขู่ต่อกลุ่มที่สร้างความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐแล้ว 1 ประโยคที่ว่า “การแก้ไขปัญหาเดิมๆ” นั้นย่อมเป็นวิธีการเหมือนกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ การรัฐประหาร

คำตอบ 1 เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยก่อรัฐประหารมาแล้ว และคำตอบ 1 วิธีการรัฐประหารได้กลายเป็นวิธีที่ทหารเคยชินมาแล้วในกาลอดีตในการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งในทางการเมือง

ขอให้ศึกษาจาก 2 กรณี

 

รัฐประหาร 2501

รัฐประหาร 2514

 

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2500 มีการจัดตั้งรัฐบาลโดย พล.ท.ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นคณะรัฐประหารได้จัดตั้งพรรคชาติสังคมขึ้น

โดยการรวบรวม ส.ส.จากพรรคสหภูมิอันเคยเป็นพรรคในเครือข่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประสานเข้ากับอดีต ส.ส.จากพรรคเสรีมนังคศิลา เพื่อเป็นฐานทางการเมืองให้กับรัฐบาล พล.ท.ถนอม กิตติขจร ในสภาผู้แทนราษฎร

แต่แล้วก็เกิดปัญหาจาก ส.ส.พรรคชาติสังคมขึ้นในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ร่วมมือกับ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ก่อรัฐประหารขึ้นในเดือนตุลาคม 2501

เช่นเดียวกับภายหลังมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้จัดตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นโดยรวบรวมอดีต ส.ส.จากพรรคเสรีมนังคศิลาจากพรรคชาติสังคมขึ้นมาเพื่อเป็นฐานทางการเมืองกระทั่งได้เป็นรัฐบาลในปี 2512

แต่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ประสบปัญหาอันเนื่องจากความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคสหประชาไทย กระทั่งตัดสินใจทำรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514 อันเป็นการตัดสินใจของจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สภาพของปัญหาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประสบเมื่อปี 2501 ก็เช่นเดียวกับสภาพของปัญหาที่จอมพลถนอม กิตติขจร ประสบเมื่อปี 2514

เพียงแต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบตั้งแต่ยังไม่ได้บริหารประเทศเท่านั้น

 

สภาพ ทวิลักษณะ

รัฐธรรมนูญ 2560

 

ไม่ว่าบทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ไม่ว่าบทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” ยืนยันความเป็นจริงอย่างเด่นชัดจากการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

นั่นก็คือ 251 เสียงจากสภาผู้แทนราษฎร นั่นก็คือ 249 เสียงจากวุฒิสภา

จำนวน 500 เสียงขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนเป็นผลผลิตอันเนื่องแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ไม่ว่าจะจากการตั้ง 250 ส.ว. ไม่ว่าจะจากการใช้อภินิหารของกฎหมายผ่านการคิดคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่ออันก่อให้เกิด 11 ส.ส. จาก 11 พรรคการเมืองที่เมื่อไปผนวกรวมกับ 116 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐและผนวกรวมกับ 250 ส.ว.ทำให้ได้ 376 เสียงที่สืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่คือด้านอันเป็นคุณของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งจากการก่อรูปขึ้นของพรรคพลังประชารัฐที่ประสาน “พลังดูด” เข้ามามากมายหลายกลุ่ม เมื่อประสานกับอภินิหารของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีพรรคขนาดใหญ่เหมือนในอดีต ทำให้จำนวนพรรคภายในรัฐบาลผสมประกอบขึ้นมากถึง 19 พรรค

ปัญหาอันเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐและระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 18 พรรค จึงเป็นผลและความต่อเนื่องอันมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

รัฐธรรมนูญอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สืบทอดอำนาจ

กระนั้น บทบัญญัติและกระบวนการใช้อภินิหารในทางกฎหมายก็อาจจะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีเสถียรภาพและความมั่นคงกระทั่งอายุไม่เติบใหญ่ยืนยาวอีกด้วย

 

รัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญ มีชีวิต

 

มีความมั่นใจอย่างสูงระหว่างร่าง การทำประชามติ การประกาศและบังคับใช้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

แต่พลันที่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็มีชีวิตของตนเอง

ชีวิตของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งอาจสนองต่อเจตจำนงของ คสช. แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจไม่เป็นไปตามเจตจำนงของ คสช.

น้ำช่วยให้เรือลอยน้ำได้ แต่น้ำก็สามารถจมเรือลงได้