เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/สื่อ-ไม่สื่อ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

สื่อ-ไม่สื่อ

 

จากเรื่องราวของคุณช่อ-พรรณิการ์ วานิช กับกรณีโพสต์ภาพในอดีตในวันรับปริญญา ที่ตนและพวกทำกิริยาที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสมบางประการ และสุดท้ายคุณช่อก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความเสียใจและไม่สบายใจ โดยเฉพาะเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบกับคนอื่นและครอบครัว

กรณีนี้หลายคนใช้คำว่า “อดีตไล่ล่าเรา”

คำคำนี้ดูจะเป็นจริง และส่งผลต่อชีวิตคนเรามากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ เพราะเดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดียที่เปิดโอกาสให้คนแสดงออกได้อย่างอิสระเสรีมากกว่าแต่ก่อน และเป็นการเปิดให้สาธารณชนได้รับรู้

เมื่อรับรู้แล้ว เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นส่วนตั๊ว…ส่วนตัว ก็จะไม่ใช่อีกต่อไป

หลายคนได้ประโยชน์และมีความสุข ที่เรื่องส่วนตัวได้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ ที่ผู้คนได้รับรู้ในวงกว้าง และสามารถสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้หากได้รับความนิยมชื่นชมมากพอ

ขณะเดียวกัน เรื่องส่วนตัวเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาทำร้าย จนถึงขั้นทำลายเราได้ โดยเราคาดไม่ถึง

เดี๋ยวนี้เวลาเราไปสมัครงานที่ไหน นอกจากประวัติอันงามเก๋ที่คุณบรรจงเขียนในใบสมัครแล้ว ทางฝ่าย Hr.ของบริษัทยังตามไปส่องโลกโซเชียลของคุณด้วย เพื่อดูว่าคุณโพสต์อะไรบ้าง ซึ่งมันสามารถสะท้อนตัวตนของคุณได้มากกว่าเรซูเม่หลายเท่า โดยเฉพาะด้านทัศนคติและการใช้ชีวิต

ในต่างประเทศ มีนักศึกษาที่สอบผ่านเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard ได้แล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธการรับ เพราะในเฟซบุ๊กของเธอเคยลงเรื่องการเหยียดสีผิว

ในประเทศเราเอง คนที่เป็นจุดเด่นในสังคม ก็เคยถูกย้อนไปเอา “สิ่งที่เคยพูด” “สิ่งที่เคยทำ” “สิ่งที่เคยมีความเห็น” ในอดีตย้อนกลับมาเปรียบเทียบในปัจจุบันอยู่บ่อยๆ และก็เกิดอาการหน้าแหกไปตามกัน…

จนถึงขั้นต้องครวญ “อดีตจ๋าอย่าทำฉัน”

 

แน่นอน ที่อาจจะมองว่าเวลาเปลี่ยนคนเราก็ต้องเปลี่ยน ความคิดวันนี้ก็อาจจะต่างจากเมื่อวาน

แต่หากคุณเป็นคนที่ประชาชนโฟกัส เป็นคนมีตำแหน่งหน้าที่ที่ควรจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนอื่น เป็นคนมีสถานะที่ควรจะรู้จักคิดเป็น พฤติกรรมและความคิดที่ผ่านๆ มาซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบันก็ส่งผลต่อ “ความรู้สึก” ของผู้คนได้ไม่น้อย

โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่นิยมดราม่า และพร้อมจะทับถมผู้อื่น ก็ยิ่งน่ากลัวมากขึ้น

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 8 ปี ท่านได้รับฉายา “เตมีย์ใบ้” เพราะท่านพูดน้อย นักข่าวพยายามจะถามเอาความต่างๆ ท่านก็ยิ้มๆ และไม่ตอบ พอนักข่าวซักมากๆ เข้าท่านก็จะตอบว่า “กลับบ้านเถอะลูก”

เป็นยุคที่นักข่าวขาดแคลนประเด็นมาต่อความทางการเมืองและบ้านเมืองมากที่สุดเลยก็ว่าได้

แต่นั่นทำให้เรื่องราวไม่ถูกขยายไปมากจนเกินเลย

เมื่อไม่พูด ก็ไม่มีใครรู้ว่าท่านคิดเห็นอย่างไร แต่ท่านบอกโดยการลงมือทำ ซึ่งดีกว่าการพูด

เมื่อไม่พูด ก็ไม่มีคำพูดที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ภายหลัง

ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาหลายคน บางคนก็ช่างพูดพูดพูด ยิ่งเป็นคำพูดที่ไม่จริงแล้วสุดท้ายก็ต้องมาเหนื่อยแก้ตัว หรือไม่ก็โยนขี้ให้คนอื่น คนอย่างนี้น่าเคารพศรัทธาไหม

คำพูด หรือการแสดงออกของคนระดับปกครองประเทศ มันเหมือนเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทยได้เช่นกัน

พล.อ.เปรมท่านพูดน้อย แต่ในบทสุดท้ายของชีวิตนักปกครอง ท่านบอกสั้นๆ ว่า “ผมพอแล้ว” และท่านก็พอจริงๆ คำพูดนี้ถูกพูดถึงในเวลาต่อมาว่าเป็นคำพูดประวัติศาสตร์คำหนึ่ง

“พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เป็นสุภาษิตไทยที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี

 

กลับมาที่โลกปัจจุบันของเรา ที่คนเราส่วนใหญ่นิยมการสื่อเรื่องราวของตนออกมามากมายตลอดเวลา เรื่องราวเหล่านั้นได้รับการวิจัยแล้วว่าเป็นขยะซะเยอะ

หมายถึงการไม่มีประโยชน์อันใดกับส่วนรวมเลย ไม่มีสาระความรู้ใดๆ เป็นอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องส่วนตัวล้วนๆ

ในเว็บไซต์ เจาะใจออนไลน์ มีข้อเขียนของ คุณสุรพร เกิดสว่าง ที่เขียนเกี่ยวกับการโพสต์เรื่องราวลงในโซเชียลมีเดียไว้น่าสนใจว่า

“เมื่อเรา present ภาพลักษณ์อันสื่อความเป็นตัวตนของเราออกไปในโลกโซเชียลแล้ว เรามักพยายามจะรักษาภาพลักษณ์นั้นไว้ให้เป็นเรื่องราวที่ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น หากเราโพสต์ไปว่า ตอนนี้กำลังมีความรักใหม่ที่หวานชื่น การโพสต์นั้นก็อาจจะสร้างความกดดันให้เราพยายามโพสต์ต่อเนื่องเพื่อรักษา story line ไว้ให้สอดคล้องกับการเปิดฉากเรื่อง รวมไปถึงการแสดงตัวเวลาเจอหน้าผู้คน ทั้งที่สถานการณ์จริงอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้”

“เมื่อเราโพสต์เรื่องความหวานชื่นของแฟนใหม่ถี่ๆ เราอาจจะคาดหมายว่า เมื่อเจอหน้าผู้คน ก็จะมีการทักหรือแสดงความยินดีให้เป็นที่สุขใจ แต่ในความเป็นจริง ย่อมมีไม่กี่คนที่หยิบขึ้นมาพูด หรือพูด ก็ไม่พูดอย่างที่เราอยากให้เป็น จึงอาจทำให้ผิดหวังเสีย self เล็กๆ”

“หรือในทางตรงข้าม หากเกิดมีปัญหากับแฟน เวลาไปเจอสังคม ก็อาจจะเกิดอาการเครียดเล็กๆ ว่าจะมีใครมาทักเรื่องแซวแฟนหรือไม่ เพราะตอนนี้ไม่อยากพูดถึงแล้ว”

 

อีกประเด็นหนึ่งที่คนหลายคนมักเป็นคือ จริงๆ เราเป็นคนแบบหนึ่ง แต่เมื่อโพสต์อะไรลงไปเราจะปรุงให้เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่เรา “อยากเป็น” หรือ “คิดว่าดูดี” เพื่อให้รู้สึกว่า “เรามีตัวตน” ซึ่งแน่นอนที่อะไรที่มันไม่จริง มันก็จะไม่ดี และเราก็จะต้องเหนื่อยกับ “ความไม่จริง” นั้นเอง

สุดท้ายมันก็จะทำให้เราไม่มีตัวตนจริงๆ มากขึ้น เรื่องนี้สุรพรได้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า

“วิธีแก้คือกลับไปเป็นตัวตนแท้จริง ใช้โลกโซเชียลด้วยมารยาทและมาตรฐานเดียวกับเวลาที่เราพูดคุยกันแบบเจอหน้าเจอตัวจริง และที่สำคัญ ไม่หมกมุ่นในการสร้างโลกอุดมคติจากโลกโซเชียล”

เชื่อว่าคนเราอยากมีความสุขกันทุกคน หลายคนต้องประสบทุกข์จากสิ่งที่เราทำขึ้นมาเอง

พระท่านว่า…เหตุอยู่ไหน ดับตรงนั้น

เมื่อเราต้องทุกข์ ต้องเหนื่อย จากสิ่งที่เราโพสต์ เราสื่อออกไปตลอดเวลา จะดีกว่าไหม ถ้าเราลดการสื่อลงบ้าง ไม่ต้องสื่อทุกอย่างก็ได้ และที่สำคัญ สื่อในเรื่องที่เป็นจริง ไม่เฟก ไม่ทำร้ายใครแม้กับตัวเอง

เป็นการช่วยกันลดขยะทางโซเชียลลงได้ อาจจะได้บุญทางอ้อมอีกด้วย

สื่อ-ไม่สื่ ดี? คิดกันก่อนนะครับ