อภิญญา ตะวันออก : แด่รักคืนวังของสามพี่น้องนโรดม

อภิญญา ตะวันออก

“โอ ตรุงจักรพงศ์เพคะ ท่านหญิงน้อยเจนนาดูจะ “กัวออยสรอรัญ” มากๆ เลยนะเพคะ”

“งั้นสิ”

ไม่งั้นฉายา “ลิตเติล-ลิซ่าแบล็กพิงก์” (blackpink) แห่งกัมพูชาคงไม่ตกเป็นของนโรดม เจนนา (Jenna Norodom) ราชนิกุลวัย 7 ขวบที่ชาวเน็ตเขมรคลั่งไคล้พากันเรียกเธอว่าเจ้าหญิงน้อย/พระเนียงตู้ดจากลีลาอันน่าทึ่งทางการแสดงร้องเต้นของเธอ

นอกจากนี้ เธอยังมีศักดิ์เป็นถึงนัดดาหลานตาของสมเด็จพระมเหศวรานโรดม จักรพงศ์ (74) หรือกรมขุนนโรดม จักรพงศ์ (เดิม) โอรสในพระบาทพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ กับพระองค์เจ้าหญิงสีโสวัตถิ์ พงสานมุนี หนึ่งในพระเชษฐาต่างมารดา ในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน

สำหรับสมเด็จมเหศวรานโรดม จักรพงศ์นี้ ได้ชื่อว่าเป็นตรุง-พระองค์เจ้านโรดมที่มีวีรกรรมสุดเฮี้ยวไม่น้อยสมัยหนุ่มๆ ตามที่ทราบ ทรงชอบวิชาการด้านทหารและการบิน ทรงมีชายา/หม่อมเนียะมเนียง 7 คน และโอรส-ธิดาอีกสิบสาม

ในจำนวนนี้มีเจ้าหญิงนโรดม บุปผารี ซึ่งเป็นมารดาของนโรดม เจนนา นั่นเอง

ดูเหมือนนโรดม เจนนา จะใช้นามสกุลตามมารดา โดยไม่เปิดประวัติส่วนตัวทางบิดา บ้างก็ว่า เธอเป็นลูกครึ่ง (โกนกัด) อย่างไรก็ตาม พระเนียงตู้ดเจนนากลับมีใบหน้าที่ละม้ายคล้ายกับลิซ่า สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวงแบล็กพิงก์นักร้องคนโปรดจนกลายเป็นลิตเติลลิซ่า-ฉายาของเธอ

จากความโด่งดังของลิซ่าประจวบกับพรสวรรค์ของเจนนา ได้กลายเป็นกระแสความทรงจำครั้งใหม่ต่อสายสกุลนโรดมรุ่นใหญ่-ท่านตาท่านปู่ของหนูเจนนา

 

นัยที สมาชิกจากราชสกุลนโรดมมักถูกจดจำอยู่ในแวดวงบันเทิงและศิลปะเจียนิจ

เจนนา นโรดม ก็เช่นกัน ว่ากันตามตรงตามกฎของราชสกุลทางมารดา เจนนาไม่น่าจะมีศักดิ์เป็นท่านหญิง คุณหญิง (หม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์แต่อย่างใด)

แต่เนื่องจากพรสวรรค์ของเธอที่ทำให้ผู้คนต่างจดจำ ไม่แต่เท่านั้น ความสามารถของเจนนายังนำซึ่งชื่อเสียงในฐานะหลานตาของสมเด็จพระมเหศวรานโรดม จักรพงศ์

เธอยังพูดได้ถึง 5 ภาษา (อังกฤษ ฝรั่งเศส ไทย จีนและเขมร) และมีทักษะร้องเพลงที่ดีเด่นเกือบทุกแนว ทั้งสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง โอเปร่าที่กำลังศึกษา

แต่ที่เธอโปรดกว่านั้นคือแนวแร็พที่เธอมักวาดลวดลายดวลเพลงกับนักร้องรุ่นใหญ่ บวกสไตล์การแดนซ์แบบเคป๊อปและฮิปฮอป รวมทั้งแนวเพลงแขฺมร์เดิมที่นิยมร้องกัน สมัยพระบาทนโรดม สีหนุ ซึ่งเธอมีศักดิ์เป็นปนัดดา

ในแง่งาม เจนนาในวัย 7 ขวบนี่เองที่ทำให้สายสกุลนโรดมกลับมามีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชมในหมู่ชาวเขมรและชาวทั่วโลกอีกครั้ง รวมทั้งเรื่องราวเล็กๆ ที่เปรียบเสมือนรอยต่อของบรรดา “ตรุงๆ” นโรดมรุ่นก่อน

ตั้งแต่ตรุงซึ่งเป็นท่านตาแท้ๆ ของตน-สมเด็จพระมเหศวรา ท่านตาใหญ่-สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จพระอัยกาน้อย-พระบาทบรมนาถนโรดม สีหมุนี

โดยเหตุนั้น ณ วันฉลองพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวสีหมุนีที่ผ่านมา นโรดม เจนนา จึงมีโอกาสขับเพลงแขฺมร์เดิมและรำอวยพรถวายพระองค์ สร้างความคึกคักต่อผู้เข้าเฝ้าและเหล่าบริพารที่ออกมาร่ายรำต่อหน้าพระพักตร์กันอย่างสนุกสนาน

ช่างเป็นนอกธรรมเนียมปฏิบัติในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของชนชั้นกษัตริย์แห่งลัทธิเทวาธิราชาอันเก่าแก่ แต่ก็นำพาให้เรารำลึกถึงฉากในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ตรึงความรู้สึกของฉันต่อการแสดงของพระบาทบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขณะมีพระชนม์ 14 พรรษา คือเรื่อง “เจ้าชายน้อย” (เปรียะปรอเจียกุมาร/The Little Prince)

ใครจะไปเชื่อล่ะว่า ก็เจ้าชายน้อยองค์ในภาพยนตร์วันนั้น จะทรงหวนกลับมารับบทพระมหากษัตริย์ในชีวิตจริงของวันนี้ และที่น่าทึ่งไปอีกคือทั้ง 2 ประการได้ถูกกำกับไว้โดยพระราชบิดาของพระองค์เอง

เมื่อหวนกลับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง ฉันรู้สึกตื้นตันต่อการแสดงของพระองค์ในฐานะยุวกษัตริย์ผู้เป็นขวัญใจของประชาชน อีกจริยวัตรดังกล่าวก็ไม่ต่างกับปัจจุบันในฐานะกษัตริย์ ที่เปี่ยมด้วยบุคลิกอ่อนหวาน เหนียมอาย และ “กัวออยสรอรัญ” ต่อประชาชนยิ่งนัก

โดยเฉพาะกิริยาโน้มพระวรกายลงไปไหว้และสัมผัสประชาราษฎร์ผู้ยากไร้ขณะเสด็จออกเยี่ยมเยียนด้วยท่าทีที่นุ่มนวลอ่อนหวาน ในแบบเดียวกันกับที่แสดงต่อฝ่ายอำมาตย์และนักการเมือง

พลัน บันทึกพระสุรเสียงของพระองค์ใน “เปรียะปรอเจียกุมาร” ก็กลับเข้าพร้อมกับฉากแสดงความรักต่อประชาราษฎร์อย่างเมตตาอุฬารริก และความสุขจากการได้ใกล้ชิดประชาชนเขมร

นัยทีความสุขแบบนั้น กำลังได้รับการผ่อนปรนในปีที่ 15 ปีของการครองราชย์ ตั้งแต่การเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนและพระราชกิจวัตรทางสังคมที่มากกว่าอดีต

เช่นเดียวกับฉากแห่งความน่าภิรมย์ในภาพยนตร์ตอนหนึ่งที่ผูกขึ้นให้พระปรอเจียกุมารได้ชื่นชมการแสดงพื้นบ้านเพลงไชยาจากนักแสดงตลก ซึ่งนับว่าล้ำไปมาก สำหรับชาวเพศที่ 3 ของกัมพูชาเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน

และด้วยประสบการณ์ที่เปิดกว้างในการทำความเข้าใจต่อเพศสภาพ วรรณะ และความเป็นมนุษย์เหล่านี้

ทำให้เงื่อนไขดีร้ายประการใดก็ไม่สามารถจำกัดพระองค์ไปจากความเป็น “เปรียะปรอเจียเสด็จ” (พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นที่รัก)

 

เช่นกัน 25 ปีแล้วสินะที่เราก็ยังจดจำหัวข่าวภาพเจ้าหญิงนโรดม วิมาลา กับคู่หมั้นบารังกอดกันร่ำไห้ด้วยสีหน้าตื่นตระหนก (พนมเปญโพสต์ 1994)

มันคือช่วงเวลาที่บิดาของเธอ กรมขุนนโรดม จักรพงศ์ ทรงถูกจับ ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงจากการก่อรัฐประหารในกรุงพนมเปญ แต่ไม่สำเร็จ!

เล่ากันว่า แผนรัฐประหารครั้งนั้น เกิดขึ้นจริงจากเม็ดเงินต่างแดนที่หนุนจักรพงศ์ ทว่า นอกจากไม่สำเร็จแล้ว เงินมหาศาลราว 200 ล้านบาทก้อนนั้นที่อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย!

ไม่เท่านั้น มันยังเป็นพล็อตหนังชั้นเยี่ยม ที่ต่อมานักเขียนบทมือฉมังทางการเมืองอย่างฮุน เซน นำพล็อตไปจำลองหลายต่อหลายครั้ง เพื่อกำจัดขั้วศัตรูทุกฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องนโรดม ทีละคนสองคน จนล้มกันระเนทั้งพรรค

เริ่มจาก พระโอรสองค์ที่ 2 กรมขุนนโรดม จักรพงศ์ ที่กับดักรัฐประหารครั้งนั้น ทำให้ตรุง ทรงถึงกับยอมทำสัญญาลับๆ กับฮุน เซน เพื่อแลกกับการไม่กลับมาเล่นการเมือง

วันเวลาที่ผ่านไปในเรื่องนี้ได้ถูกพิสูจน์ต่อมา เมื่อพระบาทนโรดม สีหนุ พระราชทานพระอิสริยยศแด่กรมขุนนโรดม จักรพงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระมเหศวราในปี พ.ศ.2547 ขณะที่กรมพระรณฤทธิ์ซึ่งมีศักดิ์เป็นเชษฐากลับไม่ได้รับการอวยยศ

ทั้งหมดนี้มิได้มีที่มาจากการที่ทรงมีฐานันดรศักดิ์พิเศษจากพระมารดาชั้นพระองค์เจ้า หากแต่จากการอนุมัติจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ผ่านทางรัฐมนตรีประจำสำนักพระมหากษัตริย์ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ตรุงมีลำดับชั้นยศสูงกว่าพระประยูรญาติองค์อื่นๆ ทั้งสายนโรดมและสีโสวัตถิ์ จนเกิดข่าวลือว่า ตรุงอาจได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ในอนาคต แทนสมเด็จพระบิดา

แต่เพียงปีถัดมา สมเด็จพระมเหศวรานโรดม จักรพงศ์ ก็ถูกกล่าวหาจากหม่อมจารุวรรณ ดวงจันทร์ อดีตเนียะมเนียงที่อ้างว่าหย่าร้าง และอ้างว่าตรุงได้กักขังตัวหม่อมไว้ในตำหนักพนมเปญ ระหว่างปี 2542-2548

แม้ภายหลังหม่อมและพระองค์เจ้านโรดม จารุรักษ์ โอรสของตรุง ก็ออกมาปฏิเสธเรื่องทั้งหมด

 

ดังนี้ ในยามที่ไม้ใกล้ฝั่ง ก็ทำให้วิบากนโรดมที่ผ่านมาเริ่มเข้าสู่รูปรอยแห่งความสงบ และความสัมพันธ์อันราบรื่นที่กลับมา โดยมี “เปรียะปรอเจียเสด็จ-พระบาทบรมนาถนโรดมสีหมุนี” เป็นแกนกลาง

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพเนียะมเนียงอูท พอลลา ชายาของกรมพระรณฤทธิ์ที่ประสบอุบัติเหตุการเลือกตั้งปีกลาย เราจึงได้เห็นตัวแทนในพระองค์ สมเด็จพระมเหศวรานโรดม จักรพงศ์ เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์และพระเชษฐาซึ่งยังนอนเจ็บอยู่ในโรงพยาบาล

สิบเดือนผ่านไป ภาพตรุงจักรพงศ์เคียงข้างตรุงรณฤทธิ์ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสีหมุนีประทับวรกายเคียงข้างพระเชษฐาต่างมารดาทั้งสอง ด้วยสีพระพักตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ราวกับทำหน้าที่แทนพระราชบิดาซึ่งขณะมีพระชนม์นั้น

ทรงอาภัพวาสนาที่จะได้เห็นความรักใคร่อาทรในหมู่โอรสนโรดม