ต่างประเทศ : ญี่ปุ่นกับการหวนล่าวาฬเชิงพาณิชย์

1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ชาวประมงญี่ปุ่นตั้งตารอคอยกันมานาน

เพราะเป็นวันที่ชาวประมงญี่ปุ่นจะสามารถกลับมาทำการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้อีกครั้งในรอบ 32 ปี

ผลจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นรัฐสมาชิกในคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือไอดับเบิลยูซี (International Whaling Commission) ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ก่นประณามจากหลายฝ่าย

ซึ่งการถอนตัวของญี่ปุ่นมีขึ้นหลังจากไอดับเบิลยูซีได้โหวตคว่ำข้อเสนอที่ให้ฟื้นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์กลับมาในการล่าวาฬในสายพันธุ์ที่ยังมีประชากรวาฬอยู่มากมายในทะเลอย่างวาฬมิงก์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อการนำมาบริโภคและการค้าเนื้อวาฬ

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลถึงความประสงค์ที่จะฟื้นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์กลับมาว่า เป็นเพราะการบริโภคเนื้อวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของชาวญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

โดยเนื้อวาฬนั้นถือเป็นแหล่งของสารอาหารที่ให้โปรตีนสูง

 

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการล่าวาฬในบางพื้นที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

โดยพื้นที่ที่มีการล่าวาฬอย่างเฟื่องฟูในช่วงอดีตที่ผ่านมาของญี่ปุ่นคือในพื้นที่เมืองไทจิ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งตั้งอยู่ในจังหวัดวากายามะ ทางตะวันตกของประเทศ ที่ยังขึ้นชื่อในเรื่องของการล่าโลมาอีกด้วย

แต่การล่าวาฬในพื้นที่ดังกล่าวได้ลดลงไปหลังจากฝูงเรือล่าวาฬของชาวประมงถูกฤทธิ์พายุพัดทำลายเสียหายหนักในช่วงปี ค.ศ.1878

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยืนยันว่าการกินเนื้อวาฬนั้นเป็นวัฒนธรรมการกิน เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่สำคัญของชาวญี่ปุ่นก็ตาม

แต่การบริโภคเนื้อวาฬของญี่ปุ่นก็ไม่ได้แพร่หลายนัก

หากแต่จำกัดวงอยู่ในบางพื้นที่บางภูมิภาคเท่านั้น

กระทั่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกและประชาชนต้องเผชิญกับภาวะยากแค้น รัฐบาลก็ได้มีการกระตุ้นให้ประชาชนหันมากินเนื้อวาฬประทังชีวิตในช่วงเวลาอันยากลำบากนั้น ส่งผลให้การบริโภคเนื้อวาฬในประเทศญี่ปุ่นถึงจุดพีคที่สุดคือในช่วงต้นทศวรรษ 1960

ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลง หลังจากชาวญี่ปุ่นหาเนื้อสัตว์อื่นมาบริโภคทดแทนได้มากขึ้น

 

การยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกของไอดับเบิลยูซีในปี ค.ศ.1951 ซึ่งตั้งขึ้นตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการควบคุมการล่าวาฬที่มีการจัดทำขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ที่ยั่งยืน

ทว่ากระแสความเคลื่อนไหวด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีการตระหนักกันมากขึ้นทั่วโลก

ส่งผลให้การทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือนี้หันมามุ่งเน้นการทำงานเพื่อการอนุรักษ์มากขึ้น ส่งผลให้รัฐสมาชิกของไอดับเบิลยูซีลงนามร่วมกันให้ระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ.1986

เป็นผลให้นับแต่นั้น การล่าวาฬที่มีอยู่จะต้องเป็นไปเพื่อการวิจัยค้นคว้าเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ไม่ใช่การล่าเพื่อการค้าพาณิชย์

ญี่ปุ่นเองก็ได้เริ่มทำการล่าวาฬเพื่อการค้นคว้าวิจัยมาแต่บัดนั้น โดยยังกำหนดพื้นที่ล่าวาฬในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกเหนือ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการล่าวาฬเชิงวิทยาศาสตร์นั้นได้ให้ข้อมูลอันสำคัญทางด้านประชากรวาฬ

ทว่ากลุ่มประเทศที่ต่อต้านการล่าวาฬกล่าวหาญี่ปุ่นว่าทำการล่าวาฬที่มีการค้าแอบแฝงอยู่ เหตุเพราะมีเนื้อวาฬที่ถูกล่า ถูกนำไปวางขายในท้องตลาดญี่ปุ่น

ซึ่งในเวลาต่อมาญี่ปุ่นได้ถูกออสเตรเลียยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ว่าการล่าวาฬของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์

ก่อนที่ในปี ค.ศ.2014 ไอซีเจมีคำพิพากษาตามคำฟ้องนั้นและมีคำสั่งให้ญี่ปุ่นยุติการกระทำดังกล่าวในทันที

สร้างความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจให้กับญี่ปุ่นอย่างมาก และทำให้ญี่ปุ่นขู่ที่จะถอนตัวออกจากไอดับเบิลยูซี

จนนำมาสู่การถอนตัวออกจากไอดับเบิลยูซีจริงๆ ในที่สุด

ส่งผลให้ญี่ปุ่นจะได้กลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม การกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ของญี่ปุ่น รัฐบาลนายอาเบะได้กำหนดให้ล่าวาฬได้เฉพาะในทะเลใกล้ญี่ปุ่นและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเองเท่านั้น

จะไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปล่าในน่านน้ำสากล โดยสำนักงานประมงของญี่ปุ่นยังจะกำหนดโควต้าสำหรับการล่าวาฬในแต่ละฤดูกาลไว้ด้วย เป็นไปได้ว่าเพื่อลดทอนกระแสประณามต่อต้านจากประชาคมโลกต่อการหันกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น

ข้อห่วงกังวลที่ต้องจับตาดูกันต่อไปคือผลที่มีตามมาจากการกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าของญี่ปุ่นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชากรวาฬในมหาสมุทรโลกอย่างไร

ในขณะที่การบริโภคเนื้อวาฬในญี่ปุ่นเองในห้วงเวลานี้ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายเหมือนแต่ก่อน อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของกองทุนเพื่อสวัสดิการสัตว์ระหว่างประเทศ (ไอเอฟเอดับเบิลยู) ที่ระบุว่าในช่วงทศวรรษ 1960 การบริโภคเนื้อวาฬของคนญี่ปุ่นในแต่ละปีมีมากกว่า 200,000 ตัน แต่ในปี ค.ศ.2016 การบริโภคเนื้อวาฬลดลงไปเหลือเพียง 3,000 ตันเท่านั้น!

ซึ่งหากข้อมูลนี้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องกลับมาล่าเพื่อการค้า เพราะก็ไม่ได้เป็นที่นิยม แม้จะบอกว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการกินของคนในชาติเอาไว้!