เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ปฐมบทการก้าวย่างสู่อาชีพ

งานบันทึกความจำ หลายครั้งเป็นงานที่ต้องค้นคว้าเอกสารอ้างอิง บางครั้งอาศัยความจำล้วนๆ จากความรู้สึกนึกคิด เรียงลำดับตามที่คิดคำนึงขึ้นได้ เช่นงานเขียนต่อจากนี้ ผมขอใช้ความจำเป็นประการสำคัญ เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้สึกของการได้เข้ามาประกอบอาชีพหนึ่ง ซึ่งมิได้คิดว่าจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ผมเกิดในช่วงกลางของความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ระหว่างกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น คือต้นปีพุทธศักราช 2486 (ค.ศ.1943)

พุทธศักราช 2488 วันที่ 16 สิงหาคม หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ประเทศญี่ปุ่น 2 ลูก ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งจะบุกเข้าประเทศไทยเพื่อยาตราทัพผ่านไปยังเมืองพม่าและอินเดียต้องขอยกธงขาวประกาศยอมแพ้สงคราม

ยุคนั้นเป็นยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งคณะเสรีไทยขึ้นปฏิเสธการเป็นพวกเดียวกับญี่ปุ่น

 

สงครามสร้างความเปลึ่ยนแปลงให้เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางการเมือง ฐานะทางสังคม ขณะเดียวกัน เมื่อศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดอาชีพหนึ่งที่มีผู้หลงใหลและเข้ามาทำอาชีพนี้ไม่น้อย

ทั้งที่เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงเท่าใดนัก และยังเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไม่ค่อยจะได้

หากแต่ความยั่วยวนเย้ายวนที่เกิดจากการเรียนการอ่าน ก่อให้เกิดปัญญาแตกฉานทางความคิด ทางการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ซึ่งในประเทศไทยเกิดมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 ว่ากันสั้นๆ ง่ายๆ คือการเข้ามาในประเทศสยามของหมอบลัดเลย์

ทำให้ประเทศนี้เริ่มรู้จักกับหนังสือพิมพ์

ประกอบกับในยุคสมัยนั้น แม้การศึกษาจะไม่เจริญเท่าที่ควร แต่มีปัญญาชนขณะนั้น เริ่มสนใจการเมือง เริ่มสนใจสังคม แม้จะเป็นสังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายการเมืองการปกครอง คือรัฐธรรมนูญขึ้นมาบ้างแล้ว

ผ่านถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่ลูกเจ้านายไปเล่าเรียนในประเทศตะวันตกรวมกับข้าราชการ ทำให้รู้ระบบการปกครองในรูปแบบตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กระทั่งในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 การเขียนหนังสือเริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคมเมืองหลวง ในสังคมราชการ ยิ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือเอง ยิ่งทำให้มีผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของบ้านเมืองมากขึ้น

รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 หากแต่การติดต่อสื่อสารยังไม่รวดเร็ว กว่าประเทศไทยจะมีโอกาสรับรู้ถึงสงครามโลกครั้งนั้น และกว่าจะมีโอกาสเข้าร่วมเป็นฝ่าย “ชนะ” สงครามใกล้เลิกและเลิกในที่สุด กระนั้น รัชกาลที่ 6 มีความพยายามในเรื่องการเมืองมากพอสมควร ถึงขนาดจัดตั้งดุสิตธานีขึ้น

เมื่อย่างเข้าสู่ยุคสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเปลี่ยนแปลงใหญ่จึงเกิดขึ้นจากทั้งบรรดาโอรสที่ไปเรียนต่างประเทศ และข้าราชการที่ได้รับทุนไปเรียน ได้เรียนรู้ถึงระบอบการปกครองอันทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รวมทั้งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพผ่านสื่อมวลชน จากนักเขียน จากนักหนังสือพิมพ์ ทำให้กระแสเรียกร้องขยายตัวออกไปจากเมืองหลวง

 

ทั้งจากที่ว่าไว้ สงครามก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ภาวะเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทยตกต่ำ ขณะอาชีพการเขียนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารยังคงอยู่ ดังมีการนำเสนอเรื่องประเภทนี้หลายครั้ง เช่น ในหนังสือที่ “แถมสิน รัตนพันธุ์” เคยเขียนบันทึกไว้ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ชื่อ “ของแถม แถมสิน รัตนพันธุ์” นำมาจัดพิมพ์ในชื่อ “ทระนง คนหนังสือพิมพ์” และพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในวันเกิดครบรอบ 87 ปี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 แต่จัดงานวันที่ 25 ธันวาคม ถึงนักเขียนนักหนังสิอพิมพ์หลายคนที่เคยต่อสู้ถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาแล้ว

การเมืองในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง สื่อมวลชนซึ่งมีแต่เพียงหนังสือพิมพ์ มักจะนำเสนอข่าวไม่ค่อยได้มากนัก ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง การนำเสนอข้อมูลข่าวสารอาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งอีกไม่นานจากนั้น ข่าวใหญ่ของประเทศไทยคือข่าวการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8

ต้นรัชกาลที่ 9 มีการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศไทยจึงเข้าอยู่ในยุคปฏิวัติและเผด็จการอีกครั้งยาวนานหลายปี

ระหว่าง พ.ศ.2490 ถึงการเลือกตั้งหลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเลือกตั้ง มีความคิดที่จะให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย จึงออกเดินทางไปดูงานด้านประชาธิปไตยในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ พยายามนำระบบการ “พูดแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ” มาใช้ในประเทศไทย

คือในประเทศอังกฤษจัดให้มีการพูดแสดงความคิดเห็นในสวนสาธารณะ “ไฮด์” หรือ “ไฮด์ปาร์ก” จึงเปิดพื้นที่สนามหลวงให้เป็นที่พูดแสดงความคิดเห็น เป็นการหาเสียงและการแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองและบุคคลทั่วไป

เรียกวิธีการหาเสียงเช่นนี้ว่า “ไฮด์ปาร์ก”

 

ผมและเพื่อนหลายคนเริ่มเติบโตในยุคนั้น บางคนเคยไปฟังการปราศรัยหาเสียงตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 นุ่งกางเกงขาสั้น แต่ผมเนื่องจากมีนิวาสสถานอยู่ฝั่งธนบุรี จึงไม่ได้ข้ามฟากไปฝั่งขะโน้น ทั้งยังไม่ค่อยรู้เรื่องหรือสนใจการเมืองกับเขาอย่างใดทั้งสิ้น

กระนั้น ผมได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชื่อ “เส้นทาง… คนหนังสือพิมพ์” เล่ม 2 กับ ตะวัน หวังเจริญวงศ์ ไว้ว่า

“…ชอบฟังวิทยุแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คอยติดตามเพราะต้องเรียนหนังสือ ใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นนายกฯ ใครเป็นรัฐมนตรี น่าจะเป็นการปลูกฝังเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัว…

“สมัยเด็กมีญาติเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ พ่อก็เคยเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ โตขึ้น แม่มีแผงขายหนังสือและหนังสือพิมพ์ มีน้าชาย คือ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นนักเขียน ทำให้อยู่กับหนังสือ ได้อ่านเรื่องที่อยากอ่าน และซึมซับวิถีชีวิตบนเส้นทางนี้มาเรื่อย”

ซึมซับวิถีชีวิตบนเส้นทางของการอ่านหนังสือ ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือพิมพ์ แม้ที่เรียกว่า “ถุงกล้วยแขก” เช่นเดียวกับการเขียน โตขึ้นมาเรียนในชั้นมัธยม เขียนเรียงความที่ครูประจำชั้นชมว่า “เขียนดี”