ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562 |
---|---|
เผยแพร่ |
กรองกระแส
เลือกตั้งท้องถิ่น
หินลองทอง อนาคตใหม่
รัฐราชการรวมศูนย์
มีความแน่ชัดแล้วว่าคำประกาศของพรรคอนาคตใหม่ที่จะรุกเข้าไปในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้นมีเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ 20 จังหวัด
ใน 20 จังหวัดนั้นจะเป็นแห่งใดบ้าง ยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการ
หากแต่เมื่อติดตามการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็พอคาดหมายได้ว่าน่าจะเป็นขอนแก่น อุดรธานี เลย นครราชสีมา น่าจะเป็นจันทบุรี น่าจะเป็นลำพูน
นั่นก็จับได้จากการไปร่วมระดมมันสมองและมีการนำเสนอวิสัยทัศน์อันจะถือเป็น “นโยบาย” ในการขับเคลื่อนต่อไป
เพราะ “นโยบาย” จะเป็นจุดเด่นและเป็น “จุดขาย” ของพรรคอนาคตใหม่
แม้ว่าจะกำหนดเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์เอาไว้เพียง 20 จังหวัด แต่จะมีผลสะเทือนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,853 แห่งทั่วประเทศอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร 30 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมือง 176 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล 2,544 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล 2,533 แห่ง
เพราะ 20 จังหวัดนั้นเป็นเสมือนกับหัวหมู่ทะลวงฟันเข้าไปยัง “ท้องถิ่น”
บทเรียน 350 เขต
เมื่อ 24 มีนาคม
ถามว่าบทเรียนจากการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 350 เขตทั่วประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา จะเป็นอุปกรณ์อะไรได้บ้างในการเข้าไปยังสมรภูมิการเลือกตั้งท้องถิ่น
คำตอบ 1 คือ หลักการมั่นแน่วของพรรคอนาคตใหม่
นั่นก็คือ เป็นพรรคที่ไม่มีนายทุนคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ หากแต่เป็นของประชาชน นั่นก็คือ พรรคจะไม่ใช้ระบบหัวคะแนนแบบเก่า แต่จะเคลื่อนไหวผ่านหัวคะแนนแบบใหม่ นั่นคือ FUTERISTA อันยึดโยงกันด้วยอุดมการณ์
นั่นก็คือ พรรคอนาคตใหม่จะไม่ซื้อสิทธิ แต่จะนำเอา “นโยบาย” มาเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือก
คำตอบ 1 คือ หลักการอันเป็นอุดมการณ์สำคัญของพรรค คือ หลักการกระจายอำนาจเพื่อพังทลายแนวทาง “รัฐราชการรวมศูนย์”
นั่นก็คือ ให้อำนาจเป็นของ “ท้องถิ่น” ไม่ใช่อำนาจอยู่ใน “ส่วนกลาง” หรือ กทม.
บนพื้นฐานเช่นนี้พรรคอนาคตใหม่จำเป็นต้องแสดงให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ว่ามีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและสร้างความเจริญให้กับจังหวัดอย่างไร
นั่นก็คือ ร่วมสร้าง “ความฝัน” อันเป็น “ความหวัง” ของประชาชน
เริ่มต้นจากท้องถิ่น
สร้างประชาธิปไตย
ตราบใดที่อำนาจยังไม่กระจายออกมาจากรัฐราชการรวมศูนย์ ตราบนั้น อำนาจก็ยังไม่เป็นของประชาชน ตราบนั้น ประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นจริงในสังคม
เพราะความหมายโดยพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ ประชาชนเป็นใหญ่
คำประกาศของพรรคอนาคตใหม่จึงดำเนินไปเช่นเดียวกับที่เคยประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง นั่นก็คือ เริ่มต้นจากกฎกติกาอันกำหนดขึ้นจาก คสช.ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ เท่ากับเป็นการประกาศการต่อสู้ด้วยกฎกติกาของอีกฝ่ายหนึ่ง
เท่ากับเป็นการแสดงความไม่ยอมจำนนแม้จะรู้อยู่ว่าอีกฝ่ายเอารัดเอาเปรียบในทางการเมืองมากเพียงใด
คำประกาศเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นก็เริ่มจากกฎกติกาและโครงสร้างทางการเมืองที่อำนาจรัฐส่วนกลางครองความได้เปรียบในทุกด้าน เป็นความได้เปรียบทั้งรูปแบบการปกครอง เป็นความได้เปรียบทั้งการแอบอิงอยู่กับกลุ่มอำนาจที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” ในแต่ละชุมชน
พรรคอนาคตใหม่จึงไม่เพียงแต่จะต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐของรัฐราชการรวมศูนย์เท่านั้น หากแต่ยังต้องต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลที่ยึดครองและเสวยประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ และไม่ต้องการสูญเสียอำนาจที่เคยครอบครองมาอย่างยาวนาน
ความหมายจึงหมายความว่า พรรคอนาคตใหม่จะต้องต่อสู้แม้กระทั่งกับพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองบางพรรคอย่างมีนัยสำคัญ
แสวงจุดร่วม แสดงจุดต่าง
แยกมิตร จำแนกศัตรู
ระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติ กับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แม้ว่าการเลือกตั้งระดับชาติจะมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นการเข้าสู่กระบวนการของอำนาจนิติบัญญัติและจะส่งผลสะเทือนต่อการบริหาร แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นพื้นฐานอย่างทรงความหมาย
หากการเมืองระดับท้องถิ่นยังถูกครอบงำโดยโครงสร้างที่บิดเบี้ยวก็จะก่อให้เกิดภาวะบิดเบี้ยวจนอาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่วิปริต
คำประกาศเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคอนาคตใหม่จึงมีลักษณะในทางยุทธศาสตร์
จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรในแนวร่วม จำเป็นต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง แต่ก็ดำรงยุทธศาสตร์ในทางความคิดและในทางการเมืองอย่างมั่นแน่ว เพื่อมิให้ตลอด 2 รายทางก่อความไขว้เขวและทำให้หลักการใหญ่ต้องเสื่อมสูญ หมดความหมาย
ตรงนี้คือจุดสำคัญในระหว่างทางเลือกที่จะเดินไปข้างหน้าของพรรคอนาคตใหม่